posttoday

"ศักดิ์สยาม" กางแผนเชื่อมรถไฟจีน-ลาว เร่งเดินหน้าศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้าชายแดน

17 มกราคม 2565

“ศักดิ์สยาม” ตอบกระทู้ สว. ในการพัฒนารองรับเปิดให้บริการรถไฟจีน-ลาว กางแผนยันคมนาคมเตรียมพร้อมต่อเนื่อง เดินหน้าศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้าระหว่างประเทศ พร้อมลุยสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งใหม่เชื่อมโยงไร้รอยต่อ

เมื่อวันที่ 17 ม.ค. 65 นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ชี้แจงกระทู้ถามของนายสุรเดช จิรัฐิติเจริญ สมาชิกวุฒิสภา เรื่อง แผนการพัฒนาเพื่อรองรับการเปิดให้บริการรถไฟจีน-ลาว ว่า ข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์ ปัจจุบันประเทศจีนเป็นตลาดนำเข้า-ส่งออกที่สำคัญของไทย เป็นลำดับที่ 2 รองจากประเทศสหรัฐอเมริกา การค้าระหว่างไทย-จีน ส่วนใหญ่นำเข้า-ส่งออกผ่านทางทะเล ผ่านท่าเรือแหลมฉบังกว่า 90% ส่วนอีก 10% เป็นการขนส่งทางถนนผ่านประเทศลาว ทั้งนี้ มูลค่าการค้าระหว่างไทย-จีน มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นจากปี 2562 จำนวน 2.48 ล้านล้านบาท เป็นกว่า 3 ล้านล้านบาทในปี 2564 และมีแนวโน้มขาดดุลการค้า เป็น 8.54 แสนล้านบาท

ขณะที่ จากสถิติของกรมศุลกากร ระหว่างปี พ.ศ. 2555 - 2563 ณ เดือนกุมภาพันธ์ 2564 มูลค่าการค้าไทย - จีน ณ ด่านชายแดนของไทย มีมูลค่าการค้านำเข้า-ส่งออก เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2555-2563 (9 ปีที่ผ่านมา) มูลค่าการส่งออกคงตัวและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นมา โดยมีมูลค่าเพิ่มขึ้นถึงสามเท่า ในส่วนของมูลค่าการนำเข้าก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างมากเช่นกัน

ส่วนปริมาณการขนส่งสินค้าทางรางรถไฟ ผ่านแดนหนองคาย-เวียงจันทน์ เมื่อรถไฟจีน-ลาว เปิดให้บริการแล้ว หากพิจารณาความสามารถสูงสุดในการขนส่งสินค้าของรถไฟในเส้นทางดังกล่าวผ่านมายังด่านศุลกากรหนองคายของประเทศไทย ซึ่งสามารถรองรับการขนส่งสินค้าได้สูงสุด 728 ตู้ต่อวัน คาดว่าจะมีตู้สินค้าเข้ามายังประเทศไทยผ่านด่านศุลกากรหนองคาย เพิ่มขึ้นประมาณ 50% ของปริมาณที่จะสามารถขนส่งได้ทั้งหมด โดยคาดว่าเพิ่มขึ้น 364 ตู้ต่อวัน

ทั้งนี้ หากมีการเปิดให้บริการรถไฟระหว่างจีน-ลาว อาจทำให้ผู้ประกอบการมีทางเลือกในการขนส่งสินค้ามากขึ้น โดยผู้ประกอบการสามารถขนส่งสินค้าทางรถไฟไปจนถึงจีน ได้โดยตรง ไม่จำเป็นต้องมีการขนถ่ายสินค้าทางรถนำมาลงเรือที่ท่าเรือพาณิชย์เชียงแสน และเมื่อไปถึงท่าเรือปลายทางก็จะต้องขนถ่ายสินค้าขึ้นรถเพื่อนำสินค้าไปส่งยังผู้รับสินค้าอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งอาจทำให้ผู้ประกอบการได้รับความสะดวกหรือต้นทุนในการขนส่งสินค้าลดลงได้

นายศักดิ์สยาม กล่าวต่อว่า ส่วนข้อตกลงระหว่างประเทศปัจจุบัน บริเวณชายแดนไทย-ลาว ได้กำหนดให้มีศูนย์เปลี่ยนสินค้าระหว่างประเทศทางรางนั้น โดยจากบันทึกความร่วมมือระหว่างไท-ลาว-จีน ว่าด้วยการเชื่อมต่อเส้นทางรถไฟระหว่างหนองคาย-เวียงจันทน์ เมื่อวันที่ 25 เม.ย. 2562 ฝ่ายไทยและฝ่ายลาวตกลงที่จะให้มีพิธีการศุลกากร และสิ่งอำนวยความสะดวก ทั้งในบริเวณชายแดนของฝั่งไทยและฝั่งลาว ทั้งสองฝ่ายจะร่วมกันพิจารณาความเป็นไปได้ในการลดขั้นตอนพิธีการศุลกากรบริเวณชายแดน และตกลงกันว่าการเชื่อมต่อเส้นทางรถไฟระหว่างหนองคาย-เวียงจันทน์

ทั้งนี้ จะแบ่งการดำเนินการเป็น 2 ระยะ ได้แก่ ระยะที่ 1 จะพิจารณาให้มีการจัดตั้งสถานีท่าและสถานีเปลี่ยนถ่ายสินค้าทั้งในฝั่งไทยและฝั่งลาว เพื่อเชื่อมต่อโครงการรถไฟจีน-ลาว มายังโครงข่ายรถไฟขนาดทาง 1 เมตร ที่มีอยู่ของประเทศไทย และระยะที่ 2 โครงการความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย-จีน ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย จะเชื่อมต่อกับสถานีดังกล่าว เพื่อเชื่อมต่อโครงการรถไฟจีน-ลาว และโครงการความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย-จีนต่อไป

ข้อคำถามที่ระบุว่า เหตุใดขบวนรถไฟจีน-ลาว จึงไม่สามารถข้ามมาฝั่งไทยได้ และถ้าหากต้องการให้สามารถข้ามฝั่งไทย เพื่อทำการขนส่งผู้โดยสาร และขนส่งสินค้าทางรางต้องดำเนินการอย่างไรนั้น นายศักดิ์สยาม กล่าวว่า กระทรวงคมนาคม ได้เตรียมความพร้อมต่อการเชื่อมต่อการขนส่งข้ามแดนผ่านทางรถไฟ ช่วงหนองคาย-เวียงจันทน์ เพื่อใช้เชื่อมโยงเป็นโครงข่ายรถไฟไทย-ลาว-จีน โดยเส้นทางรถไฟไทย-ลาว ช่วงสถานีท่านาแล้ง-สถานีเวียงจันทน์ (บ้านคำสะหวาด) คาดว่าจะเปิดให้บริการใน ม.ค. 2565 ซึ่งผู้โดยสารที่เดินทางจากจีน-ลาว หากลงสถานีเวียงจันทน์ (บ้านไซ) จะมีการเชื่อมโยงการเดินทางระหว่างสถานีเวียงจันทน์ (บ้านไซ) กับสถานีเวียงจันทน์ (บ้านคำสะหวาด) ซึ่งมีระยะห่างระหว่างสองสถานีประมาณ 10 กิโลเมตร (กม.) โดยมีรถรับส่งให้บริการ

ขณะที่ การเตรียมความพร้อมรองรับการเชื่อมต่อการเดินทางข้ามแดนผ่านทางรถไฟ ช่วงหนองคาย-เวียงจันทน์นั้น ได้แบ่งแนวทางการจัดขบวนรถไฟรองรับการเดินทางช่วงหนองคาย-ท่านาแล้ง เพื่อเชื่อมต่อไปยังลาว ที่สถานีเวียงจันทน์ (บ้านคำสะหวาด) ด้านการเตรียมความพร้อมรองรับการเชื่อมต่อการขนส่งสินค้าข้ามแดนผ่านทางรถไฟช่วงหนองคาย-เวียงจันทน์ มีแนวทางการบูรณาการเชื่อมต่อรถไฟไทย-ลาว-จีน เพื่อเชื่อมต่ออย่างไร้รอยต่อ ซึ่งในการขนส่งสินค้าข้ามแดนผ่านทางรถไฟช่วงหนองคาย-เวียงจันทน์ โดยการบริหารจัดการการใช้ทางรถไฟและการใช้สะพานให้มีความเหมาะสม เพิ่มความถี่การเดินรถไฟจากเดิม ขาไป 4 เที่ยว ขากลับ 4 เที่ยว และขนส่งสินค้าขบวนละ 12 แคร่ เพิ่มเป็น ขาไป 7 เที่ยว ขากลับ 7 เที่ยว และขนส่งสินค้าขบวนละ 25 แคร่ เพื่อเพิ่มทางเลือกในการขนส่งสินค้าของผู้ประกอบการไปยังท่าเรือแหลมฉบัง โดยจะเพิ่มความถี่ในช่วงเช้าเป็นหลักไม่ให้ส่งผลกระทบต่อการสัญจรบนสะพาน

“รัฐบาลได้เห็นถึงความสำคัญในการเชื่อมต่อดังกล่าว ซึ่งพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีจึงแต่งตั้งคณะกรรมการบูรณาการการเชื่อมโยงทางรถไฟระหว่างไทย-ลาว โดยมีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ เป็นประธานกรรมการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่ในองค์ประกอบ โดยเมื่อวันที่ 13 ม.ค. 2565 ได้มีการประชุมคณะกรรมการดังกล่าว โดยขอให้ทุกฝ่ายร่วมกันบูรณาการการทำงาน ยึดผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนเป็นที่ตั้งนำไปสู่การพัฒนา เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างยั่งยืน และได้สั่งการให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ดำเนินการของบกลาง เพื่อออกแบบสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งใหม่ และเร่งดำเนินการก่อสร้าง ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศต่อไป” นายศักดิ์สยาม กล่าว

นายศักดิ์สยาม กล่าวต่ออีกว่า สำหรับการก่อสร้างศูนย์ย้ายเปลี่ยนถ่ายสินค้าระหว่างประเทศของฝั่งไทยนั้น จากการประชุมติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานตามมติคณะกรรมการพัฒนาระบบการบริหารจัดการและขนส่งสินค้า ครั้งที่ 1/2564 เรื่อง แนวทางการดำเนินงานเพื่อเตรียมความพร้อมรองรับการเปิดให้บริการรถไฟสายจีน- ลาว เมื่อวันที่ 23 ก.ค. 2564 ที่ผ่านมา ที่ประชุมได้มีมติให้ใช้สถานีรถไฟหนองคายเป็นศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้าชั่วคราวในระยะเร่งด่วน และมอบหมายให้ รฟท.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งรัดการพัฒนาสถานีรถไฟหนองคายให้แล้วเสร็จ ตามแผนการดำเนินงาน

โดยในปัจจุบันอยู่ระหว่างว่าจ้างที่ปรึกษาออกแบบรายละเอียดงานโยธา ในโครงการความร่วมมือระหว่างไทย-จีนในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค ช่วงกรุงเทพ-หนองคาย (ระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย) และการออกแบบย่านเปลี่ยนถ่ายสินค้านาทา จ.หนองคาย ได้รวมอยู่ในงานออกแบบดังกล่าว โดยปัจจุบัน รฟท.อยู่ระหว่างของบประมาณ เพื่อดำเนินการศึกษาและวิเคราะห์การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ โครงการศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้าและย่านกองเก็บตู้สินค้าเพื่อรองรับการขนส่งทางราง จังหวัดหนองคาย ซึ่งจะคัดเลือกเอกชนผู้เข้าร่วมลงทุนตามพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 ต่อไป

สำหรับรูปแบบการบริการศูนย์ย้ายเปลี่ยนถ่ายสินค้าระหว่างประเทศฝั่งไทย มีลักษณะการลงทุน การบริการ และการให้บริการนั้น กระทรวงคมนาคม โดยกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ระบุว่า ศูนย์เปลี่ยนถ่ายรูปแบบการขนส่งสินค้าเชียงของ จ.เชียงราย และศูนย์การขนส่งชายแดนจังหวัดนครพนม โดยเปิดโอกาสให้เอกชนเข้าร่วมลงทุนและรับผิดชอบในส่วนของการบริหารจัดการและบำรุงรักษา (O&M) ในรูปแบบ PPP Net Cost ซึ่งให้ภาคเอกชนรับผิดชอบการให้บริการ เช่น บริการพื้นที่สำหรับเปลี่ยนถ่ายการขนส่ง บริการพื้นที่คลังสินค้า บริการด้านศุลกากร บริการยกขนสินค้า

ทั้งนี้ เอกชนรับความเสี่ยงด้านรายได้และจ่ายค่าสัมปทานให้แก่ภาครัฐ โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการคัดเลือกเอกชนเข้าร่วมลงทุน และอยู่ระหว่างการดำเนินการขออนุมัติเพื่อดำเนินการสถานีขนส่งสินค้าภูมิภาค ในรูปแบบ PPP ตามขั้นตอนของพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 ต่อไป ขณะที่ จากผลการศึกษาและวิเคราะห์โครงการสถานีขนส่งสินค้าภูมิภาค ตามมาตรา 25 แห่งพระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ.2556 เพื่อศึกษารูปแบบ PPP ระบุว่า สถานีขนส่งสินค้า จ.หนองคาย มีรูปแบบการร่วมลงทุนในรูปแบบ PPP Gross Cost โดยภาครัฐเป็นเจ้าของรายได้ของโครงการ และจ่ายค่าตอบแทนจากการให้บริการ (AP) ให้กับเอกชน