posttoday

พท. ชี้ เก็บคริปโตฯ ตัดตอนโอกาสทางธุรกิจยุคใหม่ แนะ “ปล่อยให้โตแล้วค่อยตัดแต่ง”

13 มกราคม 2565

“ดร.เผ่าภูมิ” รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย ชี้ เก็บคริปโตฯเร็วไปเหมือนตัดตอนโอกาสทางธุรกิจยุคใหม่ แนะ ต้อง “ปล่อยให้โตแล้วค่อยตัดแต่ง” ไม่ใช่ “ตัดตอน” ตั้งแต่ยังเป็นต้นกล้า

เมื่อวันที่ 13 ม.ค. 65 ดร.เผ่าภูมิ โรจนสกุล รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย และผู้อำนวยการศูนย์นโยบายพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีภาษีคริปโตเคอร์เรนซี (คริปโตฯ) ว่า ปัจจุบันการต่อสู้ทางความคิดระหว่างนโยบายการเงินแบบเดิม กับคริปโตเคอร์เรนซี (คริปโตฯ) นั้นยังไม่สะเด็ดน้ำ ธนาคารกลางจำเป็นต้องเรียนรู้อีกมากถึงความเป็นไปได้ของการผสานนโยบายการเงินแบบเดิม ควบคู่กับคริปโตฯ หรือแม้แต่การปล่อยให้คริปโตฯ เป็นส่วนหนึ่งของระบบการเงิน และคริปโตฯก็ยังต้องพิสูจน์ตัวเองอีกมาก ในการทำหน้าที่เป็นเงินตราดิจิดัล เป็นสื่อกลางแลกเปลี่ยน หรือแม้แต่มีการพูดกันไปไกลถึงการแทนที่ระบบธนาคารกลางเลย ซึ่งปัจจุบันยังเป็นเครื่องหมายคำถามที่ตัวใหญ่มาก ที่คริปโตฯ ต้องพยายามตอบ

วันนี้ยังไม่มีใครรู้ถึงทิศทางการพัฒนา วันนี้เรารู้แค่ว่าระบบการชำระเงินเดิมมีข้อจำกัด ธนาคารกลางเองก็ไม่สมบูรณ์แบบ แต่ก็ยังเร็วไปมากที่จะสรุปว่าคริปโตฯ เป็นคำตอบ และเร็วไปมากที่ภาครัฐจะตัดสินใจเชิงนโยบายบนความไม่รู้ ว่าจะเปิดรับ ต่อต้าน ปิดกั้น หรือสนับสนุนอย่างไร

ผมจึงไม่เห็นด้วยกับการเร่งรีบกระโจนเข้าเก็บภาษีคริปโตฯ ของกรมสรรพากร ซึ่งถือเป็นมาตรการที่มีผลในเชิง “ต่อต้าน” การพัฒนาการของระบบการเงินรูปแบบใหม่นี้ ทั้งๆ ที่ในภาพใหญ่ในเชิงนโยบายยังไม่ได้ข้อสรุป สรรพากรข้ามไปคุยเรื่องเก็บภาษีอย่างไรแล้ว ทั้งที่ในภาพใหญ่เรายังไม่สะเด็ดน้ำเลยว่าควรจะเก็บหรือไม่ และเก็บเมื่อไหร่

ภาษีมีผลให้อุตสาหกรรมนั้นๆหดตัว รั้งพัฒนาการและการเติบโต คริปโตฯ กำลังอยู่ในช่วงเริ่มต้น การเริ่มเก็บภาษีกับธุรกิจรูปแบบใหม่อย่างนี้ จำเป็นต้องรอให้อุตสาหกรรมนั้นเซ็ทตัวได้ในระดับหนึ่งก่อน การเริ่มเก็บภาษีเร็วไปเหมือนเป็นการตัดตอนโอกาสทางธุรกิจ โอกาสการระดมทุนและการสร้างธุรกิจในโลกยุคใหม่ ในอนาคตตลาดคริปโตฯ ไทยอาจจะใหญ่กว่านี้เป็นพันเป็นหมึ่นเท่า ถึงตอนนั้นการเก็บภาษีจึงคุ้มค่าที่จะทำ และหากคริปโตฯ ไม่โตในไทยเนื่องจากโดนภาษี ทุนสามารถย้ายไปโตที่อื่นได้ภายในเสี้ยววินาที นี่คือการเสียโอกาส อีกทั้งถ้าคริปโตฯ บนดินถูกตัดตอน คริปโตฯ ใต้ดินก็จะเกิดขึ้น ซึ่งนั่นยิ่งสร้างความซับซ้อนขึ้นไปอีก

จึงอยากให้ภาครัฐแยกคิดระหว่าง “การกำกับดูแล” คริปโตฯ กับ “การกีดกัน” คริปโตฯ ซึ่งมันเป็นคนละเรื่องกัน ผมเห็นว่าการกำกับดูแลควรทำในระดับที่เหมาะสม แต่ไม่เห็นด้วยกับการกีดกันเพราะปัจจุบันคริปโตฯ ไม่ใช่ภัยคุกคาม คริปโตฯ ควรสามารถโตขึ้นได้ โดยคริปโตฯ ก็มีหน้าที่พิสูจน์ตัวเองไปเรื่อยๆ โดยที่ระหว่างนี้ก็ไม่ได้สร้างความเสียหายต่อระบบการเงินแต่อย่างใด หลักคิดของรัฐต่อคริปโตจึงควรเป็น “ปล่อยให้โตแล้วค่อยตัดแต่ง” โดยการกำกับที่เหมาะสม แต่ไม่ใช่ “ตัดตอน” ตอนยังเป็นต้นกล้า

ภาครัฐและ ธปท. ควรทุ่มเทเวลากับการพัฒนาระบบการเงินให้สอดคล้องกับภูมิทัศน์ทางการเงินของโลกยุคใหม่ ควรเร่งทำสกุลเงินดิจิทัลของธนาคารกลาง (Retail CBDC) ซึ่งเป็นตรงกลางระหว่าง Fiat Money และคริปโตฯ เพื่อลบข้อจำกัดของระบบการชำระเงินเดิม ธปท.ควรทำหน้าที่ของตนโดยการทำ CBDC ให้แข็งแรง เป็นที่ยอมรับ เพิ่มประสิทธิภาพของระบบการเงินภาครัฐ สร้างโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินให้สอดคล้องกับพัฒนาการของภูมิทัศน์ทางการเงินที่เปลี่ยนไป