posttoday

"พรพรหม" แนะ ผู้สมัครลต.ซ่อมหลักสี่ ชูเปิด"พื้นที่ราชการ" เป็น"สวนสาธารณะ"

11 มกราคม 2565

"พรพรหม" แนะ ผู้สมัครเลือกตั้งซ่อมหลักสี่ ชูนโยบายเปิด"พื้นที่ราชการ 780 ไร่ ที่ถูกปิดกั้น เป็น"สวนสาธารณะ" เพิ่มพื้นที่สีเขียว ยกระดับคุณภาพชีวิตคนเมือง หลังค่าเฉลี่ยต่ำกว่ามาตรฐานWHO พร้อมชงให้ กทม. ดูแลลดค่าใช้จ่ายเจ้าของหน่วยงาน

วันที่11 ม.ค. 65 นายพรพหม วิกิตเศรษฐ์ ทีมงานด้านสิ่งแวดล้อมของนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ว่าที่ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.ในนามอิสระ และอดีตผู้ร่วมก่อตั้งองค์กร New Dem หรือ กลุ่มคนรุ่นใหม่พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวว่า อยากให้ผู้สมัครเลือกตั้งซ่อมหลักสี่-จตุจักร ใช้เวทีนี้เป็นโอกาสเสนอนโยบายระดับเมือง - เปิดกว้างให้ “พื้นที่ราชการ” เป็น “สวนสาธารณะ”

ช่วงนี้ประเด็นร้อนทางการเมือง ก็คงจะหนีไม่พ้นเรื่องเลือกตั้งซ่อมในเขตต่างๆ หนึ่งในนั้นคือกทม.เขต 9 (เขตหลักสี่ และเขตจตุจักร (ยกเว้นแขวงจตุจักร และแขวงจอมพล)) เป็นเวทีสำคัญที่ผู้สมัครแต่ละท่านจะต้องรับรู้และเข้าใจถึงปัญหาต่างๆของชาวหลักสี่-จตุจักร แสดงวิสัยทัศน์เกี่ยวกับแนวทางการแก้ปัญหาและแผนการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องน้ำท่วม รถติด หรือปัญหาที่เกี่ยวโยงกับคลองเปรมประชากร แต่มีหนึ่งประเด็นที่ผมอยากจะชักชวนผู้สมัครมาช่วยผลักดันซึ่งเกี่ยวข้องกับหลักสี่โดยตรง คือการเปิดกว้างให้ “พื้นที่ราชการ” เป็น “สวนสาธารณะ”

ทำไมต้องเรื่องนี้ ?

สวนสาธารณะคือหัวใจสำคัญของสังคมเมือง เป็นพื้นที่ส่วนรวมที่ให้คนมานัดพบทำกิจกรรมร่วมกัน เป็นที่ตั้งของต้นไม้นานาชนิดที่ช่วยกรองอากาศ ดูดซับฝุ่นพิษ PM 2.5 และยังเป็นแหล่งสำคัญในการช่วยชะลอน้ำท่วมจากพายุฝน และก็เป็นที่รู้กันว่าปัจจุบันกรุงเทพฯมีพื้นที่สาธารณะไม่เพียงพอ เพราะกรุงเทพฯมีสัดส่วนสวนสาธารณะต่อประชากรที่ต่ำกว่า 4 ตร.ม. ต่อ คน ซึ่งน้อยกว่ามาตรฐานพื้นที่สีเขียวที่องค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดไว้ที่ 9 ตร.ม. ต่อ คน

ด้วยเหตุนี้ทำให้การส่งเสริมพื้นที่สาธารณะมีความสำคัญมาก โดยมีหลายแนวทางที่ทำได้ เช่น มาตรการเชิงรุกในการหาและปรับเปลี่ยนพื้นที่รกร้างให้เป็นประโยชน์, การร่วมมือกับภาคเอกชน เช่น การออกมาตรการยกเว้นหรือลดหย่อนภาษี หรือการที่ภาครัฐเสนอเข้ามารับผิดชอบพื้นที่สาธารณะที่เอกชนเป็นเจ้าของ หรือ POPS (Privately-Owned Public Space) ไม่ว่าจะเป็นการทำความสะอาดหรือการรักษาความปลอดภัย

ส่วนเรื่องการผลักดันการเปิดกว้างสำหรับ “พื้นที่ราชการ” กลายมาเป็น “สวนสาธารณะ” ที่ประชาชนจะเข้ามาใช้ประโชน์ได้ เป็นเรื่องที่น่าสนใจ เนื่องจากสถานราชการต่างๆมีพื้นที่มากมาย โดยเฉพาะพื้นที่สีเขียว ซึ่งปัจจุบันยังมีข้อจำกัดด้านการเปิดให้ประชาชนเข้าไปใช้ บางที่ดีหน่อยเปิดให้ใช้ได้แต่มีเวลาปิด-เปิดตามการกำหนดของหน่วยงานนั้นๆ ส่วนบางที่ประชาชนไม่สามารถเข้าไปใช้ได้เลย เนื่องจากอยู่ภายในรั้วของหน่วยงาน ใช้ได้เฉพาะผู้ที่เกี่ยวข้อง จะเป็นประโยชน์มาก ถ้ามีการผลักดันให้หน่วยงานเหล่านั้นเปิดกว้างให้ประชาชนเข้าไปใช้ได้ หลักคิดง่ายๆของการที่ “พื้นที่ราชการ” มาจากเงินของประชาชน แปลว่าพื้นที่นี้ควรที่จะต้องเปิดกว้างให้ประชาชนเข้ามาใช้ได้เช่นกัน

แล้วทำไมต้องหลักสี่ ?

เวลาพูดถึงหลักสี่ หนึ่งในสิ่งแรกๆที่นึกถึงคือการเป็นเขตที่ตั้งของศูนย์ราชการและหน่วยงานภาครัฐต่างๆ โดยเฉพาะในแขวงทุ่งสองห้อง ซึ่งพบว่าพื้นที่สีเขียวเยอะจริง แต่ส่วนใหญ่ก็ยังไม่ได้เปิดกว้าง ด้วยความสงสัย ผมเลยลองเข้าไปดูข้อมูลสวนสาธารณะของกรุงเทพฯ จัดเก็บโดยสำนักสิ่งแวดล้อม กทม. พบว่า...

- เขตหลักสี่ มีสวนสาธารณะทั้งหมด 207 แห่ง อยู่อันดับที่ 8 (จาก 50) ของเขตที่มีจำนวนสวนสาธารณะมากที่สุด

- มีขนาดพื้นที่สวนสาธารณะ 1,829,759.24 ตร.ม (อันดับที่ 5)

- มีสัดส่วนพื้นที่สวนสาธารณะต่อจำนวนประชากร 17.48 ตร.ม. ต่อ คน (ประชากร - 104,701) (อันดับที่ 5) ซึ่งมากกว่ามาตรฐาน WHO ที่กำหนดไว้ที่ 9 ตร.ม. ต่อ คน เกือบเท่าตัว

- แถมไม่ได้มีสวนระดับเมือง (City Park) ที่มีขนาดพื้นที่มากกว่า 500 ไร่ (เช่นสวนลุมพินี สวนหลวง ร.๙) ที่มาช่วยดึงตัวเลขของเขตขึ้น

จากข้อมูลเบื้องต้นเหล่านี้ พบว่าเขตหลักสี่มีความโดดเด่นเรื่องพื้นที่สีเขียวและเป็นที่น่าชื่นชม แต่เมื่อได้เจาะลึกถึงรายละเอียดก็พบว่าข้อมูลของสวนสาธารณะฉบับเดียวกันนี้ ได้ระบุรายชื่อของสวนสาธารณะที่มี พื้นที่มากกว่า 25 ไร่ในแต่ละเขต (ระดับสวนชุมชน สวนระดับย่าน และสวนระดับเมือง) ซึ่งในเขตหลักสี่มี 11 แห่ง รวมทั้งหมด 918 ไร่ ได้แก่ ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ, ไปรษณีย์ไทย, กองพลาธิการ กองพลที่ 1 รักษาพระองค์, กสท, TOT, กองพันทหารราบที่ 2 กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์, สวนหย่อมการประปานครหลวง ทุ่งสองห้อง, กองบัญชาการทหารสูงสุด, ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 (อาคาร A), สวนหย่อมมหาวทิยาลัยธุรกิจบัณฑิต แขวงทุ่งสองห้อง และ กองพันทหารปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยาน

จะมีเพียงศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ ที่มี 58 ไร่ + 40 ไร่ และ สวนหย่อมมหาวทิยาลัยธุรกิจบัณฑิต ทุ่งสองห้อง 40 ไร่ ที่เปิดกว้างต่อสาธารณะ (รวม 138 ไร่) ซึ่งเท่ากับว่า 780 ไร่ ในพื้นที่หลักสี่ ที่ระบุมา เป็น “พื้นที่ราชการ” ประชาชนทั่วไปไม่สามารถใช้บริการสาธารณะได้ เนื่องจากเป็นพื้นที่ของหน่วยงานต่างๆที่เข้าได้เฉพาะบุคคลที่เกี่ยวข้อง และไม่ควรที่จะถูกระบุว่าเป็น “สวนสาธารณะ”

จากข้อมูลตรงนี้ ถ้าเราคำนวนข้อมูลสวนสาธารณะของหลักสี่ใหม่ที่แยก “พื้นที่ราชการ” ออกไป

- จากเดิมที่มีขนาดพื้นที่สวนสาธารณะ 1,829,759.24 ตร.ม จะกลายเป็น 581,759.24 ตร.ม (ลดลงจากอันดับที่ 5 เป็นที่ 25)

- จากเดิมที่มีสัดส่วนพื้นที่สวนสาธารณะต่อจำนวนประชากร 17.48 ตร.ม. ต่อ คน จะกลายเป็น 5.56 ตร.ม. ต่อ คน (ลดลงจากอันดับที่ 5 เป็นที่ 19)

ตัวเลขเหล่านี้พิสูจน์ว่าแค่ถ้ามีการเปิดกว้างของ “พื้นที่ราชการ” จะทำให้ชาวหลักสี่ได้ประโยชน์จากการเข้าไปใช้พื้นที่สีเขียว จะทำให้มีสัดส่วนพื้นที่สวนสาธารณะต่อจำนวนประชากรที่เกินมาตรฐานที่ WHO กำหนดไว้ บ่งบอกถึงคุณภาพชีวิตที่ควรจะได้รับ ซึ่งทั้งหมดนี้ ดำเนินการโดยไม่ต้องไปลงทุนอะไรเพิ่มมากมาย ไม่ต้องไปตระเวนหาพื้นที่ใหม่เพื่อเปลี่ยนเป็นสวน

“Inclusiveness” หรือ การการพัฒนาที่ครอบครอบคลุม คือคอนเซ็ปที่มาแรง โดยเน้นถึงความต้องการให้ทุกการตัดสินใจต้องคำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดต่อคนทุกกลุ่ม เน้นถึงหลักคิดของการทำให้ทุกคนเข้าถึงบริการทางสังคมและโอกาสทางเศรษฐกิจได้ แนวทางที่ผมพูดถึงในโพสต์นี้คือหนึ่งตัวอย่างที่ชัดเจนของ “Inclusiveness”

ผมขอชักชวนให้ผู้สมัครเลือกตั้งซ่อมหลักสี่-จตุจักรทั้งหลายลองพิจารณาประเด็นนี้ และนำไปเสนอต่อสาธารณะกับสื่อมวลชนครับ

อ้างอิง: แหล่งข้อมูลสวนสาธารณะของกรุงเทพฯ: http://one.bangkok.go.th/info/m.info/bkkstat/Stat_2562.pdf (หน้า 236-244)