posttoday

ม็อบราษฎรอ่วมปี64คดีการเมืองเพิ่ม 7 เท่า"เพนกวิน" หนักสุดโดน 43 คดี

28 ธันวาคม 2564

ศูนย์ทนายสิทธิมนุษยชนเปิดสถิติปี 64 คดีจากการชุมนุมและแสดงออกทางการเมืองเพิ่ม7 เท่าตกเป็นผู้ต้องหารวมกว่า 1,500 คน หรือวันละ 4 ราย "เพนกวิน" หนักสุดรับ 43 คดี

เมื่อวันที่ 28 ธ.ค. 2564 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้เผยแพร่บทความเรื่อง "2563 ปีแห่งนิติสงคราม" บนเว็บไซต์ ของศูนย์ทนาย tlhr2014.com/archives/39243 โดย ระบุว่า จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ตั้งแต่วันที่ 18 กรกฎาคม 2563 ซึ่งเริ่มต้นการชุมนุมเยาวชนปลดแอก จนถึงวันที่ 25 ธันวาคม 2564 มีผู้ถูกดำเนินคดีจากการชุมนุมและแสดงออกทางการเมืองไปไม่น้อยกว่า 1,747 ราย คิดเป็นจำนวน 980 คดี

ทั้งนี้จากจำนวนคดีทั้งหมด มีจำนวน 150 คดี ที่สิ้นสุดไปแล้ว โดยมากเป็นคดีที่ตำรวจหรือศาลทำการลงโทษปรับ คดีจึงสิ้นสุดลง ทำให้ยังมีคดีอีกไม่น้อยกว่า 830 คดี ยังอยู่ระหว่างการต่อสู้ในกระบวนการต่างๆ และ หากแยกสัดส่วนคดีตามภูมิภาค พบว่าเป็นคดีในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล จำนวน 785 คดี คดีในภาคกลางจังหวัดอื่นๆ และภาคตะวันออกรวมกัน จำนวน 22 คดี คดีในพื้นที่ภาคเหนือ จำนวน 73 คดี คดีในพื้นที่ภาคอีสาน จำนวน 70 คดี และคดีในพื้นที่ภาคใต้ จำนวน 30 คดี

อย่างไรก็ตามหากนับจำนวนบุคคลที่ถูกดำเนินคดีซ้ำในหลายคดี โดยไม่หักออก และนำจำนวนบุคคลมาเรียงต่อกันแล้ว จะพบว่ามีจำนวนการถูกดำเนินคดีไปแล้วอย่างน้อย 3,325 ครั้ง โดยเฉพาะปี 2564 มีผู้ถูกดำเนินคดีรายใหม่เพิ่มขึ้น 1,513 ราย คิดเป็น 835 คดี

ขณะเดียวกันหากพิจารณาแยกเฉพาะปี 2564 พบว่ามีจำนวนผู้ถูกดำเนินคดีทางการเมืองรายใหม่เพิ่มขึ้นจากช่วงสิ้นปี 2563 จำนวนอย่างน้อย 1,513 ราย เป็นจำนวนคดี 835 คดี หรือคิดเป็นจำนวนคดีที่เพิ่มขึ้นเกือบ 7 เท่า เมื่อเทียบกับช่วงครึ่งหลังของปี 2563

จากสถิติดังกล่าว ทำให้โดยเฉลี่ยแล้ว ในช่วงปี 2564 ที่กำลังจะผ่านไป มีผู้ถูกดำเนินคดีทางการเมืองรายใหม่ๆ เพิ่มขึ้นจำนวนกว่า 4 คนเศษในแต่ละวัน หรือมีคดีความทางการเมืองคดีใหม่ๆ เกิดขึ้นราว 2 คดีเศษในแต่ละวัน เท่ากับว่าทุกๆ วัน มีสถานีตำรวจอย่างน้อย 2-3 แห่ง ที่ต้องรับมือกับการกล่าวหาดำเนินคดีทางการเมืองต่อประชาชน ยังไม่นับคดีเดิมที่อยู่ในขั้นตอนกระบวนการยุติธรรมชั้นต่าง

สำหรับแกนนำนักกิจกรรมทางการเมืองคนสำคัญๆ ถูกกล่าวหา ตั้งแต่วันที่ 18 กรกฎาคม 2563 จนถึง 25 ธันวาคม 2564 แล้วพบว่า “เพนกวิน” นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ ถูกกล่าวหาคดีทางการเมืองไปแล้ว 43 คดี “ไมค์” นายภาณุพงศ์ จาดนอก ถูกกล่าวหาคดีทางการเมืองไปแล้ว 30 คดี นายอานนท์ นำภา ถูกกล่าวหาคดีทางการเมืองไปแล้ว 24 คดี

“รุ้ง”น.ส. ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล ถูกกล่าวหาคดีทางการเมืองไปแล้ว 24 คดี “ไผ่”นายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา ถูกกล่าวหาคดีทางการเมืองไปแล้ว 19 คดี และ น.ส.เบนจา อะปัญ ถูกกล่าวหาคดีทางการเมืองไปแล้ว 19 คดี

ขณะที่นักกิจกรรมอีกหลายราย ทั้งในกรุงเทพฯ และภูมิภาค ก็ถูกกล่าวหาดำเนินคดีจากการชุมนุมและแสดงออกทางการเมืองเป็นจำนวนมากเช่นกัน คดีความเหล่านี้ สร้างภาระทั้งในแง่เวลา การเดินทาง ค่าใช้จ่าย และต้นทุนต่างๆ จึงยังเป็นปัญหาสำคัญของการเคลื่อนไหวทางการเมืองในปีต่อๆ ไป รวมทั้งการใช้ทรัพยากรของรัฐจำนวนมากไปกับการดำเนินกระบวนการเหล่านี้ ก็เป็นประเด็นปัญหาสำคัญเช่นกัน

ทั้งนี้ขอให้จับตาปี 2565 การต่อสู้คดีที่ทยอยขึ้นสู่ชั้นศาล แม้ในปี 2564 จะมีแนวทางการพิจารณาสำคัญที่เกิดขึ้นในกระบวนการยุติธรรมอยู่บ้าง เช่น การพิจารณาสั่งไม่ฟ้องของพนักงานอัยการ ในคดีฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ อันเนื่องมาจากเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมือง (จำนวนเท่าที่ทราบ 5 คดี) เนื่องจากเห็นว่าการชุมนุมไม่ได้เข้าข่ายทำให้เกิดการระบาดของโควิด-19 และไม่ได้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย หรือการที่ศาลยกฟ้องคดีฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ร้ายแรง กรณีของ “มายด์” ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล และยกฟ้องเฉพาะข้อหามาตรา 112 ในคดีคอมเมนต์วิพากษ์วิจารณ์เศรษฐกิจพอเพียงของนักศึกษาในจังหวัดจันทบุรี แต่แนวทางการดังกล่าว ก็ยังเป็นเพียงส่วนน้อยเท่านั้น เมื่อเทียบกับสถานการณ์ทางคดีทั้งหมด

แนวโน้มหลักท่ามกลางการดำเนินคดีจากการชุมนุมและแสดงออกทางการเมือง คือพนักงานอัยการยังทยอยสั่งฟ้องคดีแทบทั้งหมด โดยไม่ได้มีการกลั่นกรองเพียงพอจากคดีความที่ถูกตั้งต้นในชั้นตำรวจ ซึ่งดำเนินการภายใต้อำนาจของรัฐบาลโดยตรง

จากจำนวนคดีทางการเมืองเฉียดพันคดี มีจำนวนอย่างน้อย 233 คดีที่ถูกสั่งฟ้องถึงชั้นศาลแล้ว โดยเฉพาะคดีตามมาตรา 112 ที่ทยอยถูกฟ้องขึ้นสู่ชั้นศาลอย่างต่อเนื่องในช่วงครึ่งหลังของปี 2564 ทำให้คดีเหล่านี้จะทยอยมีกำหนดนัดหมายสืบพยาน และมีคำพิพากษาต่อไปในช่วงปีที่กำลังจะมาถึง ยังไม่นับคดีที่จะทยอยถูกสั่งฟ้องเพิ่มขึ้น หรือคดีใหม่ๆ ที่อาจเกิดขึ้นในสถานการณ์ทางการเมืองในอนาคต

ในปีถัดๆ ไป การพิจารณาในชั้นศาลจึงน่าจะกลายเป็น “พื้นที่” สำคัญในการต่อสู้ เมื่อนักกิจกรรมและประชาชนจำนวนมากต้องทยอยเดินหน้าต่อสู้คดีความ ไปพร้อมกับต่อสู้ผลักดันข้อเรียกร้องทางการเมือง

รวมทั้งสังคมไทยเองในปีถัดๆ ไป จำเป็นจะต้องพิจารณาผลักดันการปฏิรูประบบกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบ ทั้งสถาบันตุลาการ ตำรวจ อัยการ และราชทัณฑ์ ที่ถูกมองเห็นปัญหาจำนวนมาก จากสถานการณ์การใช้อำนาจรัฐในลักษณะ “นิติสงคราม” เช่นนี้