posttoday

'เพื่อไทย'ผิดหวังรัฐบาลปัดกฎหมายปชช.หลายฉบับ ฝ่ายค้านไม่เข้าประชุม

09 ธันวาคม 2564

"จุลพันธ์"รับผิดหวังฝ่ายรัฐบาลปัดตกร่างกฎหมายประชาชนหลายฉบับ แฉเตรียมหักเงินเดือนส.ส.ไม่มาลงมติ

วันที่ 9 ธ.ค.นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย แถลงถึงการปฏิเสธร่างกฎหมายของประชาชนทุกฉบับโดยรัฐบาล ตั้งแต่ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฯ แก้ไขเพิ่มเติม ฉบับประชาชน ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) สหกรณ์ ก็ถูกปฏิเสธซ้ำแล้วซ้ำเล่า สร้างความผิดหวังให้กับพรรคฝ่ายค้าน เพราะการที่ประชาชนจะรวบรวมรายชื่อเป็นหมื่นเป็นแสน เพื่อเสนอร่างกฎหมายไม่ใช่เรื่องง่าย แต่กลับถูกปฏิเสธอย่างไร้เยื้อใย ล่าสุดวานนี้ (8 ธ.ค.64) ที่ประชุมสภาฯได้พิจารณาร่างพ.ร.บ.ยกเลิกประกาศและคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย ซึ่งไม่เป็นไปตามหลักนิติรัฐ นิติธรรม การคุ้มครองสิทธิของประชาชนหลายประการ จึงยื่นสภาให้ยกเลิกหรือแก้ไข โดยที่ประชุมใช้เวลาพิจารณานานพอสมควร การอภิปรายส่วนใหญ่พรรคร่วมฝ่ายค้านเป็นผู้อภิปรายเกือบทั้งหมด แม้จะจะรู้อยู่แล้วว่าจะถูกปฏิเสธ ซึ่งเป็นเรื่องน่าผิดหวัง เพราะเป็นกฎหมายของประชาชน แต่ถูกปฏิเสธโดยฝ่ายการเมืองที่มาจากประชาชน

นายจุลพันธ์ ยังกล่าวถึงกรณีสมาชิกบางคนนำผลการลงมติของสภามาเปิดเผยว่า ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะการลงมติเป็นเรื่องเปิดเผยอยู่แล้วไม่มีอะไรเป็นความลับ แต่วันนี้พรรคร่วมค้านขอความร่วมมือไปยังรัฐบาล กลับไม่เคยได้รับการตอบสนอง เราขอเลื่อนญัตติหลายเรื่อง เช่น ญัตติเรื่องการใช้กฎหมายล้นเกิน และการคืนสิทธิประกันตัวผู้ชุมนุมทางการเมือง ก็ไม่ได้รับการตอบสนอง รัฐบาลไม่ให้เลื่อนญัตตินี้ขึ้นมาพิจารณา ดังนั้น เมื่อไม่สามารถขอความร่วมมือได้ สิ่งที่พรรคฝ่ายค้านทำได้คือใช้กลไกสภา การที่เราอยู่ในห้องประชุมแต่ไม่แสดงตนถือเป็นกลไกหนึ่ง แต่สมาชิกพรรครัฐบาลแถลงข่าวว่าฝ่ายค้านไม่อยู่นั้นไม่เป็นความจริง พวกเราอยู่แต่ไม่แสดงองค์ประชุมให้พวกท่าน ท่านไปซื้อตัวกันมา แต่พอจะแสดงตนเป็นองค์ประชุม กลับต้องมาขอร้องฝ่ายค้านให้เป็นองค์ประชุมด้วย

“การปิดสภาวานนี้ (8 ธ.ค.64) เป็นเรื่ององค์ประชุมล่ม เราเสนอให้มีการลงมติแต่สุดท้ายองค์ประชุมไม่ครบ เพราะฝั่งรัฐบาลกลับหมดแล้ว ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลไม่ค่อยอยู่ในที่ประชุมสภา นี่คือปัญหาที่เกิดขึ้นในหลายปีที่ผ่านมาแต่ตอนนี้เราก็ต้องแสดงความยินดีกับรัฐบาล เพราะเห็นว่ามีมาตรการที่ให้คนอยู่ในที่ประชุมสภา คือ การหักเงินเดือนหากไม่อยู่ลงมติ และไม่อยู่เป็นองค์ประชุม”นายจุลพันธ์ กล่าว