posttoday

"ธนาธร" ยก 5เหตุผลชี้ "นิคมฯจะนะ" ไม่ตอบโจทย์พัฒนาอุตสาหกรรม

08 ธันวาคม 2564

"ธนาธร" ชี้ 5 เหตุผลโครงการก่อสร้างนิคมฯ “จะนะ” ไม่ตอบโจทย์พัฒนาอุตสาหกรรม ฟันธงกลายเป็นนิคมฯร้างไร้นักลงทุน

นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า ได้ให้ความเห็นถึงโครงการก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรม จะนะ โดยระบุว่า ส่วนตัวมีเหตุผล 5 ประการที่สนับสนุนการคัดค้านนิคมอุตสาหกรรมจะนะ ได้แก่

ประการที่ 1 พื้นที่ภาคใต้ โดยเฉพาะ จ.สงขลาไม่ได้ขาดแคลนพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม เนื่องจากในจุดที่จะมีการก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมจะนะ ล้วนแต่มีนิคมอุตสาหกรรมอยู่แล้ว เช่นนิคมอุตสาหกรรมรับเบอร์ซิตี้ ไปทางตะวันตก 60 กิโลเมตรจากจะนะ และนิคมอุตสาหกรรมสะเดา ไปทางตะวันตกเฉียงใต้จากจะนะ 93 กิโลเมตร

ซึ่งทั้งสองนิคมอุตสาหกรรม ล้วนเป็นนิคมอุตสาหกรรมที่ไม่มีใครมาลงทุน สภาพเหมือนถูกทิ้งร้าง อย่างเช่นที่สะเดา มีการใช้พื้นที่ไปเพียง 10% เท่านั้น และเป็นพื้นที่ ๆ มีการพัฒนาเพื่อรองรับนิคมอุตสาหกรรมอยู่แล้ว

ดังนั้น ภาคใต้จึงไม่ได้ขาดแคลนนิคมอุตสาหกรรม หากแต่มีนิคมอุตสาหกรรมรับเบอร์ซิตี้และนิคมอุตสาหกรรมสะเดา ที่ยังใช้พื้นที่ไม่เต็มศักยภาพจนถึงทุกวันนี้อยู่แล้ว

ประการที่ 2 หากเราไปดูแผนผังพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมจะนะ จะเห็นว่าพื้นที่ที่เป็นสีม่วง คือเขตอุตสาหกรรมผลิตไฟฟ้า ซึ่งไม่ได้มีความจำเป็นสำหรับประเทศไทย ณ ตอนนี้ ซึ่งมีกำลังการผลิตไฟฟ้าสำรองล้นเกินไปมากแล้ว ถึง 58.8% ซึ่งเป็นเหตุให้ค่าไฟแพงกว่าที่ควรเป็น จากค่าบำรุงรักษาด้วยที่ต้นทุนมาตกอยู่กับประชาชนด้วย

ประการที่ 3 เราจะสูญเสียทรัพยากรธรรมชาติที่มีความอุดมสมบูรณ์ และทรัพยากรธรรมชาติจะหายไปทันที ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในทุกนิคมอุตสาหกรรมที่ผ่านมา เมื่อมีการสร้างสิ่งก่อสร้างยื่นลงไปในทะเล ชายหาดจะกลายเป็นดินเลน สัตว์น้ำอยู่ไม่ได้ และวิถีชาวประมงของชาวจะนะก็จะหายไปทันที

เพราะฉะนั้น การมีนิคมอุตสาหกรรมในจะนะเป็นเรื่องที่ไม่คุ้มอย่างยิ่ง เราจะได้นิคมอุตสาหกรรมที่ไม่มีใครมาลงทุนเหมือนรับเบอร์ซิตี้และสะเดา แต่เราจะสูญเสียทรัพยากรที่อุดมสมบูรณ์ของจะนะไปตลอดกาล

ประการที่ 4 นิคมอุตสาหกรรมจะนะ เป็นไปเพื่อผลประโยชน์ของกลุ่มทุนและนักการเมืองบางกลุ่มเท่านั้น ดังจะเห็นได้ว่าพื้นที่ที่เคยเป็นผังเมืองสีเขียว ก่อนกลายเป็นสีม่วงได้มีการซื้อขายเปลี่ยนมือไปมา ตั้งแต่ช่วงเดือนมกราคม 2563

ได้แก่พื้นที่ตำบลตลิ่งชัน นาทับ และสะกอม ซึ่งบัดนี้อยู่ในมือของกลุ่มทุนแล้วเป็นจำนวนมาก

ประการที่ 5 การประชาพิจารณ์ที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้ เป็นไปในลักษณะกีดกันฝ่ายเห็นต่างไม่ให้มีส่วนร่วมแสดงความเห็น โดยเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2562 มีการเปิดประชาพิจารณ์ในโครงการนี้ แต่ทว่าผู้จัดประชาพิจารณ์กลับนำกำลังเจ้าหน้าที่กว่าพันนายล้อมสถานที่จัดประชาพิจารณ์ ไม่ให้คนคัดค้านนิคมอุตสาหกรรมจะนะเข้าร่วมแสดงความเห็น

ทำให้ในที่สุด การประชาพิจารณ์ครั้งนั้น กลายเป็นการรับฟังความคิดเห็นของฝ่ายสนับสนุนฝ่ายเดียว ไม่เปิดให้ชาวบ้านในพื้นที่ ที่ไม่เห็นด้วยกับโครงการเข้าร่วมกระบวนการ

นายธนาธร กล่าวอีกว่า ประเทศไทยไม่ได้ขาดแคลนนิคมอุตสาหกรรม แต่ขาดการส่งเสริมให้เกิดอุตสาหกรรม ดังจะเห็นได้ว่าในรอบ 7 ปีที่ผ่านมามีการสร้างนิคมอุตสาหกรรมและเขตเศรษฐกิจไปทั่วประเทศ แต่ปัญหาก็คือทุกที่ต่างไม่มีนักลงทุนเข้ามาทำอุตสาหกรรม นั่นก็เพราะไม่มีความต้องการจากภาคอุตสาหกรรม ดังนั้น สิ่งที่รัฐบาลควรทำมากกว่า คือการสร้างความต้องการจากภาคอุตสาหกรรม

"สิ่งที่เราต้องการตอนนี้ไม่ใช่นิคมอุตสาหกรรม ซึ่งมีมากเกินไปแล้ว แต่คือการสร้างดีมานด์ในอุตสาหกรรม ที่ยังขาดแคลนอย่างมากในประเทศของเราต่างหาก" นายธนาธรกล่าว