posttoday

"ศบศ." เดินหน้า “พลิกโฉมประเทศ” ไฟเขียว 4 มาตรการกระตุ้นลงทุน

03 ธันวาคม 2564

นายกฯ ประชุม ศบศ. เดินหน้า “พลิกโฉมประเทศ” เห็นชอบ 4 มาตรการ กระตุ้นเศรษฐกิจ-การลงทุน ดึงดูดชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูง-คลาวด์เซอร์วิส-เทคโนโลยีและสตาร์ทอัพ-การถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในไทย มุ่งสู่ยุคอุตสาหกรรมใหม่

เมื่อวันที่ 3 ธ.ค.64 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบของการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบศ.) ครั้งที่ 5/2564 พิจารณาเห็นชอบ 4 ประเด็น ได้แก่ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนโดยการดึงดูดชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูงเข้าสู่ประเทศไทย มาตรการส่งเสริมการลงทุนในกิจการคลาวด์เซอร์วิส มาตรการส่งเสริมการลงทุนสำหรับธุรกิจด้านเทคโนโลยีและสตาร์ทอัพ และมาตรการส่งเสริมการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทย

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญหลังเสร็จสิ้นการหารือ ดังนี้ นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงเป้าหมายในการพลิกโฉมประเทศไทย คือ การทำให้รายได้ประเทศเพิ่มขึ้น ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือร่วมกันระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน โดยที่ประชุมได้รายงานว่า การเติบโตเศรษฐกิจไทยในปี 2564 นี้ GDP สามารถกลับมาเติบโตเป็นบวกที่ร้อยละ 1.2 เนื่องจากไตรมาส 3 มีการติดลบน้อยกว่าที่ประมาณการณ์ เป็นผลมาจากความสามารถในการส่งออกและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลในโครงการต่าง ๆ ทั้งมาตรการคนละครึ่ง มาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศ และความสามารถในการควบคุมการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ของรัฐบาล ซึ่งนายกรัฐมนตรีกล่าวถึงการป้องกันการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 กลายพันธุ์ “โอไมครอน” ว่า ได้ดำเนินการทันที โดยสั่งห้ามการเดินทางจากประเทศเสี่ยงทันที และขณะนี้สามารถติดตามกลุ่มเสี่ยงที่เดินทางเข้ามาก่อนหน้านี้ได้ครบหมดแล้ว เพื่อนำมาตรวจ RT-PCR ซ้ำ ซึ่งเป็นการดำเนินการเชิงรุกในการป้องกันและควบคุม ทั้งนี้ คณะแพทย์ยังยืนยันว่า การฉีดวัคซีนครบ 2 โดส สามารถป้องกันอาการเจ็บป่วยรุนแรงจากไวรัสโควิด-19 สายเดลต้าและโอไมครอน ได้ จึงอยากขอให้ประชาชนกลุ่มเป้าหมาย เข้ารับการฉีดวัคซีนทุกคนด้วย

นายกรัฐมนตรียังให้แนวคิดและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนว่า การส่งเสริมการลงทุนปัจจุบันนี้ ต้องมีมาตรการดึงดูดเพิ่มเติมมากกว่าสิทธิประโยชน์การลงทุนหรือมาตรการภาษี ยังต้องช่วยกันคิดพิจารณาให้เหมาะสม ขณะเดียวกันรัฐบาลพร้อมสนับสนุนการลงทุนกิจการคลาวด์เซอร์วิส และ Data Center เพื่อขับเคลื่อนดิจิทัลประเทศไทย โดยสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งกระทรวงพลังงาน กระทรวงมหาดไทย เตรียมความพร้อมสาธารณูปโภคพื้นฐานโดยเฉพาะด้านพลังงาน เนื่องจากอุตสาหกรรมแห่งอนาคตจำเป็นต้องมีระบบไฟฟ้าเสถียรภาพ รวมทั้งการใช้พลังงานหมุนเวียน ขณะเดียวกันก็เร่งจัดระบบนิเวศที่เหมาะสม ทั้งการปรับปรุงกฎระเบียบที่ล้าสมัย แนวทางภาษีที่เหมาะสม เพื่อส่งเสริมธุรกิจด้านเทคโนโลยีและสตาร์ทอัพ โดยเฉพาะผู้ประกอบการคนรุ่นใหม่ของไทย โดยนายกรัฐมนตรียังย้ำในที่ประชุมว่า รัฐบาลชุดนี้ ให้ความสำคัญกับเยาวชนซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่ โดยมองว่า การลงทุนในเยาวชน คือ การลงทุนเพื่ออนาคตประเทศ

นายกรัฐมนตรียังย้ำในที่ประชุม กำชับให้ทำโดยเร็ว หลังจากที่มีการหารือวันนี้ ให้ทุกหน่วยงานกำหนดไทม์ไลน์ในการดำเนินการภายในระยะเวลา 1 - 3 เดือน ให้มีความก้าวหน้าอย่างเป็นรูปธรรม เพราะการหารือในวันนี้ เป็นการเดินหน้าตามยุทธศาสตร์ประเทศ แก้ปัญหาอุปสรรค ปรับปรุงกฎระเบียบที่ล้าสมัย ส่งเสริมอุตสาหกรรมใหม่ BCG ดิจิทัล พัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เพื่อมุ่งลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความมั่นคง ภายใต้การจัดสรรงบประมาณและรายได้ให้เหมาะสม ทั้งนี้ การพลิกโฉมประเทศไทยต้องทำทันที ทำให้เร็ว เพราะวันนี้ทุกคนคือครอบครัวเดียวกัน