posttoday

ม็อบ3นิ้วร้อง‘ยูเอ็น’เปิดประชุมฉุกเฉินปมสิทธิมนุษยชนในไทย วอนกดดันรัฐบาลยกเลิกม.112

26 พฤศจิกายน 2564

‘กลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์’ฟ้องยูเอ็นวอนเปิดประชุมฉุกเฉินปมสิทธิมนุษยชนในไทยเพื่อกดดันรัฐไทยยกเลิกม.112-ปล่อยตัวแกนนำ

วันที่ 26 พ.ย. กลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมโพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า

เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ได้ส่งจดหมายถึงคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ(UN Human Rights Council) ณ กรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เพื่อเรียกร้องให้เปิดประชุมฉุกเฉิน ประเด็นเสรีภาพการแสดงออกในประเทศไทย

.

คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติรับหนังสือดังกล่าวก่อนที่คุณเคลมองต์ วูเล (Clément VOULE) ผู้รายงานพิเศษเรื่องเสรีภาพในการชุมนุมและรวมกลุ่มโดยสันติ ขององค์การสหประชาชาติ (UN Special Rapporteur on the Rights to Freedom of Peaceful Assembly and of Association) ได้แสดงความคิดเห็นบนทวิตเตอร์ว่า "ผิดหวัง" ต่อคำวินิจัยของศาลรัฐธรรมนูญไทยที่มองว่าการชุมนุมเรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์มี "เจตนาซ่อนเร้นล้มล้างการปกครอง"

.

เนื้อหาในตัวจดหมายได้กล่าวถึงสถานการณ์ละเมิดสิทธิมนุษยชน การดำเนินคดี การคุมขังเยาวชนและนักกิจกรรมทางการเมืองในประเทศไทย รวมไปถึงประเด็นคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน ที่วินิจฉัยให้คำปราศรัยข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ 10 ข้อของนักกิจกรรม เป็นการล้มล้างการปกครอง

.

แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมเรียกร้องให้คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ เปิดประชุมฉุกเฉิน และให้มีมติเรียกร้องให้รัฐบาลไทย:

- รับรองการคุ้มครองสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองโดยดูแลให้กรอบรัฐธรรมนูญเป็นไปตามพันธกรณีระหว่างประเทศ

- ยกเลิกมาตรา 112 แห่งประมวลกฎหมายอาญา หรือที่เรียกว่ากฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ

- ปล่อยตัวผู้ถูกตั้งข้อหา และ/หรือ ผู้จำคุกภายใต้พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์, มาตรา 112 และ 116 แห่งประมวลกฎหมายอาญาโดยทันที ลบล้างความผิดอย่างไม่มีเงื่อนไข เพิกถอนคำพิพากษา และยกฟ้องผู้ใดก็ตามที่ถูกดำเนินคดีในการกระทำดังกล่าว

- ดำเนินการเพื่อสร้างความมั่นใจว่านักปกป้องสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยได้รับการปฏิบัติตามปฏิญญาสมัชชาใหญ่ว่าด้วยการสืบสวนเพื่อปกป้องสิทธิมนุษยชน และรับรองความยุติธรรมต่อกรณีการรายงานการข่มขู่ การคุกคาม และการโจมตีนักปกป้องสิทธิมนุษยชนทุกกรณี

- ดำเนินมาตรการที่จำเป็นเพื่อรับประกันสิทธิของผู้ต้องหา รวมทั้งมีขั้นตอนที่ชอบด้วยกฎหมาย รับรองความปลอดภัย ให้ประกันตัวตามหลักนิติธรรม

.

เราเชื่อว่าการสนับสนุนการเรียกร้องให้ดำเนินการของหัวหน้าหน่วยงานต่างๆ ของสหประชาชาติรวมถึงการจัดให้มีการประชุมพิเศษ มีความจำเป็นต่อการรักษาหลักการก่อตั้งของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน.

ม็อบ3นิ้วร้อง‘ยูเอ็น’เปิดประชุมฉุกเฉินปมสิทธิมนุษยชนในไทย วอนกดดันรัฐบาลยกเลิกม.112

ม็อบ3นิ้วร้อง‘ยูเอ็น’เปิดประชุมฉุกเฉินปมสิทธิมนุษยชนในไทย วอนกดดันรัฐบาลยกเลิกม.112