posttoday

"ชินวรณ์"ชี้ร่างแก้ไขรธน.เป็นสภาเดี่ยว แล้วจะให้สว.ลงมติให้ได้อย่างไร

16 พฤศจิกายน 2564

"ชินวรณ์"ถามแก้รัฐธรรมนูญ-ยกเลิกสว. แล้วสว.จะลงคะแนนให้ได้อย่างไร? ชี้แก้รัฐประหารต้องแก้ที่พฤติกรรมนักการเมือง

วันที่ 16 พ.ย.ในการประชุมร่วมรัฐสภา มีนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา ในฐานะรองประธานรัฐสภา ทำหน้าที่ประธานการประชุม วาระการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ …) พุทธศักราช … ยกเลิกมาตรา 65 แก้ไขเพิ่มเติมหมวด 7 มาตรา 159 วรรคแรก เพิ่มมาตรา 193/1 มาตรา 193/2 แก้ไขเพิ่มเติมหมวด 11 หมวด 12 มาตรา 256 หมวด 16 ยกเลิกมาตรา 269 มาตรา 270 มาตรา 271 มาตรา 272 และมาตรา 279 โดย นายพริษฐ์ วัชรสินธุ กับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จำนวน 135,257 คนเป็นผู้เสนอ

นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) อภิปรายว่า ได้ศึกษาข้อเสนอร่างภาคประชาชนเป็นลำดับ หากเราต่างเป็นนักประชาธิปไตยต้องเคารพความคิดของแต่ละฝ่าย และจะไม่กล่าวหาว่าฝ่ายไหนทำให้ระบบประชาธิปไตยเสียหาย ทั้งนี้ เมื่อดูรายละเอียดภาคประชาชน มีบางประเด็นที่ต้องยอมรับความจริงว่าต้องซักถามเพิ่มเติม ซึ่งในทางปฏิบัติต้องหาจุดที่เป็นดุลยภาพที่ทุกฝ่ายจะยอมรับได้อย่างไร

นายชินวรณ์กล่าวว่า ถามว่าท่านเสนอขอยกเลิก ส.ว. ให้มีสภาเดี่ยว แต่คนที่จะลงมติให้ท่านคือเพื่อน ส.ว.ของตนที่กำลังนั่งอยู่ในที่ประชุมแห่งนี้ ดังนั้น พื้นที่ตรงกลางจะอยู่ตรงไหน เมื่อไม่มีพื้นที่ตรงกลางแล้วพวกท่านจะเดินข้ามไปได้อย่างไร

นายชินวรณ์กล่าวว่า ในส่วนของผู้ตรวจการฯดูเหมือนดี ยึดโยงประชาชน แต่ถ้าเป็นระบบสภาเดี่ยว หากพรรคการเมืองพรรคนั้นมีเสียงข้างมากเด็ดขาด และใช้อำนาจไม่ชอบธรรมจะเป็นอย่างไร ที่สำคัญถือเป็นการตั้งผู้ตรวจการด้วยอำนาจซ้อนอำนาจอธิปไตยหรือไม่ มีหลักประกันอะไรว่าจะสร้างความยุติธรรม ไม่สร้างความแตกแยกเพิ่มขึ้นมา ส่วนที่จะยกเลิก หรือล้มอำนาจอธิปัตย์จากการรัฐประหารนั้น อยากถามว่าในยุคพรรคประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาล ทั้งนายชวน หลีกภัย และนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกฯ ทำไมไม่ถูกรัฐประหาร ดังนั้น ขึ้นกับพฤติกรรมนักการเมือง ซึ่งเราต้องช่วยกันให้นักการเมืองต้องไม่ไปแบ่งแยกคนในสังคม ต้องเคารพระบบนิติธรรมอย่างเข้มข้นเป็นพิเศษ และต้องไม่ทุจริตคอร์รัปชั่น อย่างไรก็ตาม เนื่องจากเป็นวาระรับหลักการ ขอให้ผู้เสนอร่างตอบสิ่งที่ตนถามให้ชัด เพื่อนำไปประกอบการตัดสินใจลงมติในวันที่ 17 พฤศจิกายน