posttoday

กกต.ยกคำร้อง"เฉลิมขวัญ"ปมรู้เห็น"หญิงหน่อย"ปราศรัยหลอกลวงจูงใจ

02 พฤศจิกายน 2564

“กกต.” ยกคำร้อง”เฉลิมขวัญ”อดีตผู้สมัครนายกอบจ.กาฬสินธุ์ปมรู้เห็นเป็นใจ"หญิงหน่อย"ปราศรัยหลอกลวงจูงใจชี้เป็นวิธีหาเสียงทั่วไป

วันที่ 2 พ.ย.ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เว็บไซต์สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เผยแพร่คำวินิจฉัยกรณีก่อนประกาศผลการเลือกตั้ง กกต.ได้รับคำร้องว่านางเฉลิมขวัญ หล่อตระกูล อดีตผู้สมัครรับเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดกาฬสินธุ์ ผู้ถูกร้องที่ 1 และคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ผู้ช่วยหาเสียง ผู้ถูกร้องที่ 2 กระทำการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นมาตรา 65 (5) คือ ผู้ถูกร้องที่ 1 ก่อสนับสนุนหรือรู้เห็นเป็นใจให้ผู้ถูกร้องที่ 2 หลอกลวง หรือจูงใจให้เข้าใจผิดในคะแนนนิยมของผู้สมัครใดเพื่อจูงใจให้ผู้มีสิทธิ์ลงคะแนนให้แก่ตนเอง ทั้งนี้ กกต.พิจารณารายงานการไต่สวนตลอดจนพยานหลักฐานอื่นๆที่เกี่ยวข้อง ผู้ร้องกล่าวหาว่าเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2563 เวลา 13.00 น. ที่ตลาดนัดโคกระบือ ตำบลสมเด็จ อำเภอสมเด็จ จังหวัดกาฬสินธุ์ ผู้ถูกร้องที่ 1 รู้เห็นเป็นใจให้ผู้ถูกร้องที่ 2 ปราศรัยหาเสียงเลือกตั้งหลอกลวงหรือจูงใจให้เข้าใจผิดในคะแนนนิยมของผู้สมัครใดเพื่อจูงใจให้ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งลงคะแนนให้แก่ตนเองจำนวน 4 ประเด็นโดยประเด็นที่หนึ่งผู้ถูกร้องที่2 ปราศรัยหาเสียงเลือกตั้งว่า”หน่อยจะซื้อข้าวเปลือกเขา 20บาท 2 กิโล เป็น 1 ข้าวสาร ก็ 40 บาท แต่ข้าวสารไปขายอยู่กรุงเทพโลละ 80 บาท”ประเด็นที่ 2 ปราศรัยว่า “ซื้อข้าวเปลือกเขานี่แหละ 20 บาท 2 กิโลเป็น 1 ข้าวสาร 1 กิโลก็แค่ 40 บาท เขาไปขายในกรุงเทพ 80 บาท ขายในนี้เข้าไปขายในเมืองหน่อยก็ดูเหอะ ถ้าข้าวทุ่งกุลา 70-80 บาท”

ประเด็นที่ 3 ปราศรัยว่า”คนในเมืองซื้อโลละ 80 บาท”และประเด็นที่ 4 ปราศรัยว่า “ดังนั้นเราจะต้องใช้กลไกของอบจ.ที่เราได้ร่วมการทำนโยบายออกมา ว่าต่อไปไม่ต้องผ่านโรงสี พ่อค้าคนกลางให้เขากดราคาเรา คนใจร้ายใจดำไม่ต้องไปผ่านแล้ว อบจ.จะทำหน้าที่ขายข้าวนะคะ” จากการไต่สวนรองปลัดอบจ.กาฬสินธุ์ให้ถ้อยคำว่า เรื่องดังกล่าวอยู่ในหน้าที่และอำนาจของอบจ. ตามพ.ร.บ.องค์การบริหารส่วนจังหวัด 2540 แก้ไขเพิ่มเติมถึง(ฉบับที่ 5) 2562 มาตรา50 ประกอบพ.ร.บ.กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มาตรา 17 (15) ในการจัดระบบบริการสาธารณะเพื่อประโยชน์ของประชาชนในท้องถิ่นของตนเอง ได้แก่ การพาณิชย์ การส่งเสริมการลงทุน และการทำกิจการไม่ว่าจะดำเนินการเอง หรือร่วมกับบุคคลอื่น หรือจากสหการ

ขณะที่ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งจำนวน 4 คนให้ถ้อยคำสอดคล้องกันว่าการปราศรัยลักษณะดังกล่าวเป็นวิธีการหาเสียงเลือกตั้งทั่วไป ข้อความที่ผู้ถูกร้องที่ 2 ปราศรัยหาเสียงเลือกตั้งตามประเด็นที่ 1-3 เป็นการกล่าวเปรียบเทียบราคาข้าวสารในท้องถิ่นกับราคาข้าวสารในกรุงเทพฯ โดยมีการเสนอนโยบายเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาความยากจน และการแก้ไขปัญหาราคาพืชผลทางเกษตรที่ตกต่ำให้แก่ประชาชนในจังหวัดกาฬสินธุ์ ส่วนประเด็นที่ 4 ซึ่งเป็นข้อความที่ต่อเนื่องจากทั้ง 3 ประเด็นดังกล่าว เห็นว่าผู้ถูกร้องที่ 2 ปราศรัยหาเสียงเลือกตั้งด้วยการเปรียบเทียบราคาข้าวสารในท้องถิ่นกับราคาข้าวสารในกรุงเทพและได้ประกาศนโยบายในการแก้ไขปัญหาราคาข้าวสารของท้องถิ่น โดยองค์การบริหารส่วนจังหวัดจะเป็นผู้ขายข้าว ซึ่งเป็นเรื่องที่สามารถกระทำได้ เพราะอยู่ในอำนาจและหน้าที่ตามกฏหมายและระเบียบบัญญัติไว้ข้อเท็จจริงจึงยังรับฟังไม่ได้ว่า ผู้ถูกร้องที่ 1 ก่อ สนับสนุนหรือรู้เห็นเป็นใจให้ผู้ถูกร้องที่ 2 หลอกลวงหรือจูงใจให้เข้าใจผิดในคะแนนนิยมของผู้สมัครใดเพื่อจูงใจให้ผู้มีสิทธิ์ลงคะแนนให้แก่ตนเองจึงมีคำสั่งให้ยกคำร้อง