posttoday

โพลล์ชี้ความเชื่อมั่น"มาร์ค"แพ้"แม้ว"

24 ธันวาคม 2553

โพลล์พระปกเกล้า เผยผลสำรวจนโยบายรัฐปี53ประชาชน พอใจ"เบี้ยผู้สูงอายุ-เรียนฟรี-ขึ้นเงินอสม." ส่วนผลสำรวจความเชื่อมั่นนายกฯ"อภิสทธิ์"แพ้"ทักษิณ"

โพลล์พระปกเกล้า เผยผลสำรวจนโยบายรัฐปี53ประชาชน พอใจ"เบี้ยผู้สูงอายุ-เรียนฟรี-ขึ้นเงินอสม." ส่วนผลสำรวจความเชื่อมั่นนายกฯ"อภิสทธิ์"แพ้"ทักษิณ"


สถาบันพระปกเกล้าร่วมกับสำนักงานสถิติแห่งชาติ เผยผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับการพึ่งพอใจการบริการสาธารณะและการทำงานของหน่วยงานต่างๆในปี 53 โดย ดร. ถวิลวดี บุรีกุล ผอ.สำนักวิจัยและพัฒนา สถาบันพระปกเกล้าเป็นผู้รายงานโดยระบุว่า การทำงานได้เก็บรวบรวมข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 -12 ส.ค. 53 และใช้กลุ่มตัวอย่าง 33,800 คน โดยกระจายไปทุกจังหวัดทั่วประเทศ โดยจากการสำรวจพบว่า ประชาชนร้อยละ 83.6 เคยทราบข่าวทางการเมือง และมีเพียง ร้อยละ 16 .4 ที่ไม่เคยทราบข่าวสารทางการเมือง โดยรับทราบจากสื่อโทรทัศน์มากที่สุดร้อยละ 97.6 ทั้งนี้มีผู้ที่ติดตามการทำงานของรัฐบาลเป็นประจำ ร้อยละ 17.5 และติดตามบางครั้งร้อยละ 63.3 และไม่ได้ติดตามร้อยละ 19.2

ทั้งนี้นโยบายของรัฐบาลที่ได้รับความพอใจมากที่สุดคือ การสร้างหลักประกันรายได้ให้กับผู้สูงอายุในการจัดสรรเบื้อยังชีพ ถึงร้อยละ 89.7 ตามาด้วยนโยบายเรียนฟรี 15 ปี ได้รับความพอใจร้อยละ 87.2 และการส่งเสริมบทบาทอาสาสมัครสาธารสุข(อสม.) ร้อยละ 85.3 โครงการรักษาเสถียรภาพสินค้าเกษตรหรือโครงการประกันราคาพืชผลทางการเกษตรพอใจร้อยละ 73.8 โครงการไทยเข้มแข็งพอใจร้อยละ 71.8 โครงการนโยบายสร้างรายได้และศักยภาพทางเศรษฐกิจในระดับฐานราก หรือกองทุนเศรษฐกิจพอเพียงร้อยละ 70.7 นโยบายสร้างความเชื่อมั่นและภาพลักษณ์ที่ดีแก่นานาชาติ ร้อยละ 64.6 การกระตุ้นเศรษฐกิจและฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ ร้อยละ 64.2 การกำกับดูแลสินค้าอุปโภคบริโภคและบริการที่มีความจำเป็นแก่การครองชีพร้อยละ 61 นโยบายเสริมสร้างความสมานฉันท์และสามัคคีของคนในชาติร้อยละ 60.5 ส่วนนโยบายที่ได้รับความพึ่งพอใจน้อยที่สุดคือ นโยบายปฏิรูปการเมือง ได้รับความพอใจร้อยละ 55.2

สำหรับการสำรวจความเห็นเกี่ยวกับการเชื่อมั่นต่อการทำงานของบุคคล สถาบันและหน่วยงานต่างๆ โดยตัวบุคคลและหน่วยงานที่ได้รับความเชื่อมั่นสูงสุดคือ แพทย์ในโรงพยาบาลของรัฐร้อยละ 80.9 แพทย์โรงพยาบาลของเอกชนร้อยละ 78.9 และทหารร้อยละ 67.8 ส่วน 3 อันดับที่ได้รับความเชื่อมั่นน้อยที่สุดคือ สภาองค์กรชุมชนร้อยละ 28.2 สภาพัฒนาการเมืองร้อยละ 28 และเอ็นจีโอร้อยละ 25.1 ขณะที่นายกฯได้รับความเชื่อร้อยละ 61.6 ครม.ร้อยละ 47.4 ส.ส.ร้อยละ 43.9 สถาบันพรรคการเมืองร้อยละ 36.9

ส่วนความเชื่อมั่นต่อการทำงานขององค์กรอิสระ ศาลยุติธรรมได้รับความเชื่อมั่นมากที่สุดร้อยละ 71.3 ศาลปกครองร้อยละ 67.3 และตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ร้อยละ 65.1 ขณะที่สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจได้รับความเชื่อมั่นน้อยที่สุด 38.8

สำหรับจังหวัดที่ประชาชนรับรู้นโยบายของรัฐกับการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยจ.แม่ฮ่องสอนเป็นเพียงจังหวัดเดียวที่รับรู้นโยบายดังกล่าวน้อยที่สุด เนื่องจากเป็นจังหวัดที่มีพื้นที่ห่างไกล ส่วนจังหวัดที่มีความพึ่งพอใจมากที่สุด ประกอบด้วย จ.ตราด และจ.อุทัยธานี ส่วนจังหวัดอื่นๆยังไม่ค่อยพอใจกับนโยบายดังกล่าวของรัฐ

ส่วนจังหวัดที่ประชาชนให้ความเชื่อมั่นในตัวนายกฯพบว่า ผลสำรวจทั่วประเทศจะพบว่า เชื้อมั่น แต่ในพื้นท่าภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคกลาง นายกฯก็จะชะล่าใจไม่ได้ เพราะประชาชนเชื่อมั่นไม่ถึงร้อยละ 12 ส่วนที่เชื่อมั่นมากที่เพียงพื้นที่ภาคใต้ ที่เกินกว่าร้อยละ 25 โดยจังหวัดที่มีความเชื่อมั่นมากที่สุด ประกอบด้วย จ.ตรัง จ.ตาก และจ.กระบี่

ดร.ถวิลวดี กล่าวว่า การทำวิจัยดังกล่าวเป็นความตั้งใจของสถาบันที่ต้องการวัดอุณหภูมิความพอใจของประชาชนที่มีต้อการทำงานของภาครัฐและหน่วยงานต่างๆ จะเห็นได้ว่ามีการทำสำรวจมาตั้งแต่ปี 46 -53 ซึ่งเราไม่ได้ทำเพราะใครสั่งให้ทำ ซึ่งผลที่ออกมาสะท้อนว่า หากรัฐบาลให้ความสำคัญกับนโยบายด้านสังคม เช่น เยาวชน คนชราและการศึกษา ก็น่าจะได้รับความนิยมมากขึ้น ขณะที่องค์กรตรวจสอบคงจะต้องมีการปรับปรุง เพราะความเชื่อมั่นลดระดับลงเรื่อยๆ โดยเฉพาะสถาบันยุติธรรม

เมื่อถามว่า มองว่า ปัจจัยอะไรที่ทำให้รัฐบาลพ.ต.ท.ทักษิณได้รับความนิยมมากว่ารัฐบาลนายอภิสิทธิ์ ดร.ถวิลวดี กล่าวว่า เพราะรัฐบาลพ.ต.ท.ทักษิณนำหลักการตลาดมาบริหารประเทศ โดยเขารู้ว่า ถาปากท้องยังหิวก็อย่าถามถึงหลักประชาธิปไตย จึงทำให้เราเห็นภาพประชาชนให้ความสนใจกับการเลือกตั้งในตอนนั้นมาก ส่งผลให้รัฐบาลพ.ต.ท.ทักษิณในช่วงแรกได้รับความนิยมอย่างสูง

แต่ต่อมาเมื่อสื่อมีการนำเสนอและตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลพ.ต.ท.ทักษิณและนำเสนอทำให้คะแนนนิยมของรัฐบาลในขณะนั้นตดลงมา แต่ความชื่นชมของประชาชนตอนโยบายพ.ต.ท.ทักษิณยังมีอยู่ เราจึงได้เห็นรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ที่เข้ามาและนำนโยบายของรัฐบาลพ.ต.ท.ทักษิณมาปฏิบัติ ทำให้ความนิยมของรัฐบาลอภิสิทธิ์ตีตื้นเข้ามา แต่ก็ยังไม่ถึงร้อยละ 90 เหมือนรัฐบาลพ.ต.ท.ทักษิณเคยทำได้ ซึ่งคงต้องใช้เวลาอีกนาน

เมื่อถามว่า เหตุใดความนิยมสื่อโทรทัศน์จึงลดระดับลง ดร.ถวิลวดี กล่าวว่า สื่อโทรทัศน์ความนิยมลดต่ำลงในช่วงหลังการรัฐประหาร ซึ่งน่ามาจากประชาชนรู้สึกว่า สื่อโทรทัศน์สนองความต้องการไม่ได้ทั้งหมดและข้อมูลที่มีการนำเสนอนั้นจริงหรือไม่ และถูกมองว่า ใช้เป็นเครื่องมือของนักการเมือง ทำให้ช่วงหลังความเชื่อมั่นของสื่อหนังสือพิมพ์เพิ่มขึ้น เพราะมีการวิเคราะห์เจาะลึก อย่างไรก็ตามผลการวิจัยจะมีการทั้งหมดจะมีการส่งให้กับรัฐบาลและทุกหน่วยงานที่ถูกทำการสำรวจ เพื่อนำไปปรับปรุงแก้ไขปัญหาในองค์กรต่อไป

อดีต-อนาคต"ความเชื่อมั่นของประชาชน"อภิสิทธิ์"แพ้"ทักษิณ"

ด้านผลการสำรวจความคิดเห็นในหัวข้อ “ มองอดีต แลอนาคต วัดระดับความเชื่อมั่นของประชาชนต่อสถาบันต่างๆ และความพึ่งพอใจกับบริการของรัฐ พ.ศ. 2546 - 2553 ”ดร.ถวิลวดี สรุปว่า การสำรวจความเห็นดังกล่าวเริ่มเก็บข้อมูลตั้งแต่ปี 2546 - 2553 โดยแต่ละปีจะมีช่วงเวลา ที่ใช้เก็บข้อมูลแตกต่างกันไป และใช้กลุ่มตัวอย่างปีละประมาณ 3 หมื่นตัวอย่าง ทั้งนี้จากปี 46 - 53 สามารถระบุแบ่งช่วงของรัฐบาลเป็นปี 46 - 49 เป็นช่วงรัฐบาลของพ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ขณะที่ปี 50 เป็นช่วงของพล.อ. สุรยุทธ์ จุลานนท์ ปี 51 รัฐบาลของนาย สมัคร สุนทรเวช และนาย สมชาย วงศ์สวัสดิ์ ส่วนปี 52-53 เป็นช่วงของรัฐบาลของนาย อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

จากการสำรวจการพึ่งพอใจต่อนโยบายสำคัญเกี่ยวกับการปฏิรูประบบราชการและการเมืองในช่วงรัฐบาล พ.ต.ท. ทักษิณ พบว่า ร้อยละ 91.4 พอใจในการปฏิรูประบบราชการ แต่จะเห็นได้ว่า การปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่นประชาชนพอใจมากที่สุดในปี 2547 ถึงร้อยละ 82.6 แต่กลังจากนั้นก็ลดต่ำลงเรื่อยๆ จนในช่วงปี 49 เหลือเพียงร้อยละ 67.1 ส่วนเรื่องนโยบายทางเศรษฐกิจ ประชาชนมีความพึ่งพอใจค่อนข้างมาก โดยเฉพาะโครงการกองทุนหมู่บ้าน ถึงแม้จะอยู่ในช่วงต่ำสุดของปี 49 ก็ยังพอใจถึงร้อยละ 84.8 ขณะที่นโยบายแก้ปัญหาความยากจน กลับได้รับความพอใจน้อยลงเป็นลำดับ จนในปี 49 กลุ่มตัวอย่างพึ่งพอใจเพียงร้อยละ 57.6 เท่านั้น

สำหรับนโยบายสุขภาพและการศึกษาในช่วงรัฐบาลพ.ต.ท.ทักษิณ นโยบายเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก จนอยู่ในระดับเกือบร้อยละ 90 ของทุกปี ขณะที่นโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค ได้รับความนิยมในปี 47 ถึงร้อยละ 87.7 แต่ในปี 48 หลังกลุ่มพันธมิตรฯเริ่มเคลื่อนไหว ความพึงพอใจในนโยบาย 30 บาท ได้ลดลงเหลือร้อยละ 43.9 แต่ในปี 49 ประชาชนกลับเพิ่มระดับความพอใจมาอยู่ที่ร้อยละ 87.3

ขณะที่นโยบายสำคัญของรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ ประชาชนพอใจในนโยบายหลักประกันรายได้ผู้สูงอายุถึงร้อยละ 89.7 ตามมาด้วยโครงการเรียนฟรี 15 ปี ได้รับความนิยมร้อยละ 87.2 ส่วนนโยบายสร้างความสมานฉันท์และความสามัคคีในชาติ ประชาชนพึ่งพอใจร้อยละ 60.5 และที่พึ่งพอใจน้อยที่สุดคือ การปฏิรูปการเมืองที่ พึ่งพอใจร้อยละ 55.2

สำหรับความเชื่อมั่นต่อตัวนายกรัฐมนตรีจะเห็นได้ว่า รัฐบาลทักษิณ ในช่วงปี 2547 ได้รับความเชื่อมั่นมากที่สุดถึงร้อยละ 92.9 ขณะที่รัฐบาลพล.อ.สุรยุทธ์ นายกฯได้รับความเชื่อมั่นร้อยละ 45.2 และในช่วงปี 51 ช่วงรัฐบาลขอนายสมัครและนายสมชาย มีความเชื่อมั่นในตัวนายกฯต่ำที่สุด คือ ร้อยละ 37.6 ขณะที่รัฐบาลอภิสิทธิ์ได้รับความเชื่อมั่นมากที่สุดในปี 53 ร้อยละ 61.6 ส่วนความเชื่อมั่นต่อสถาบันพรรคการเมือง ตกต่ำที่สุดในปี 50 โดยมีคนเชื่อมั่นเพียง ร้อยละ 26.1 และในปัจจุบันเชื่อมั่นอยู่ในร้อยละ 36.9

ส่วนความเชื่อมั่นต่อสมาชิกรัฐสภา ในช่วงปี 48 จะเห็นว่า ส.ส.ได้รับความเชื่อมั่นมากกว่า ส.ว. แต่ตั้งแต่ปี 50 ความเชื่อมั่นต่อส.ว.เริ่มกลับมามากกว่า ส.ส.โดยปัจจุบันความเชื่อในตัว ส.ว.อยู่ที่ร้อยละ 46.4 และเชื่อมั่นในตัวส.ส.ร้อยละ 43.9

สำหรับความเชื่อมั่นต่อผู้ว่าราชการจังหวัดจะเห็นได้ว่าในช่วงรัฐบาลพ.ต.ท.ทักษิณ จะเห็นว่าประชาชนเชื่อมั่นมากที่สุดร้อยละ 79.5 แต่หลังจากนั้นก็ลดต่ำลงเรื่อยๆ จนต่ำสุดในช่วงปี 51 ร้อยละ 55.8 ก่อนที่จะเพิ่มขึ้นในรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ จนปัจจุบันอยู่ที่ร้อยละ 64.5 ส่วนความเชื่อมั่นในตัวข้าราชการ จะเห็นว่า ความเชื่อมั่นจะขึ้นลงตามตัวนายกฯและปัจจุบันมีค่าความเชื่อมั่นอยู่ที่ร้อยละ 44.9 แต่จะเห็นได้ว่า ความเชื่อมั่นในตัวเจ้าหน้าที่ศุลกากรนั้นระดับค่อนข้างต่ำ โดยมีเพียงปี 49 เท่านั้นที่ได้รับความเชื่อมั่นร้อยละ 52.3 และปัจจุบันอยู่ที่ร้อยละ 45.7

ส่วนความเชื่อมั่นต่อทหารจะเห็นได้ว่า ในปี 47 - 48 ซึ่งเป็นช่วงที่รัฐบาลทักษิณ ทหารได้รับความเชื่อมั่นสูงสุดร้อยละ 84.8 ขณะที่ปี 50 หลังจากที่มีการทำรัฐประหารความเชื่อมั่นอยู่ที่ร้อยละ 61.8 แต่หลังจากนั้นก็มาเพิ่มขึ้นจนปี 52 ได้รับความเชื่อมั่นร้อยละ 76.3 และมาลดลงอีกครั้งในปี 53 โดยได้รับความเชื่อมั่นร้อยละ 67.8 ขณะที่ตำรวจได้รับความเชื่อมั่นมากที่สุดในปี 48 ร้อยละ 69.2 หลังจากนั้นก็ลดลงเรื่อยๆ จนกระทั่งปัจจุบันได้รับความเชื่อมั่นร้อยละ 54.9

สำหรับความเชื่อมั่นต่อเอ็นจีโอ ในอดีตปี 47 ได้รับความเชื่อมั่นสูงสุดถึงร้อยละ 68.4 แต่หลังจากนั้นความเชื่อมั่นก็ลดลงตามลำดับจนเหลือเพียงร้อยละ 25.1 ในปีปัจจุบันเท่านั้น

ขณะที่ความเชื่อมั่นต่อศาล ไม่ว่าจะเป็น ศาลยุติธรรม ศาลรัฐธรรมนูญและศาลปกครอง จะเห็นได้ว่า ความเชื่อมั่นของทั้ง 3 ศาลก็ค่อยๆลดลงเช่นกัน โดยในช่วงปี 47 เป็นช่วงที่ทุกศาลได้รับความเชื่อมั่นสูงสุด โดยศาลยุติธรรมได้ร้อยละ 86.7 ศาลรัฐธรรมนูญ ร้อยละ 84.9 และศาลปกครองได้ร้อยละ 83.1 แต่หลังจากนั้นความน่าเชื่อมั่นก็ลดลงเรื่อยๆ โดยปัจจุบันศาลรัฐธรรมนูญได้รับความเชื่อมั่นน้อยที่สุดใน 3 ศาล คือ ร้อยละ 65.1 ขณะที่ศาลยุติธรรมความเชื่อมั่นอยู่ที่ร้อยละ 71.3 และศาลปกครองอยู่ที่ร้อยละ 67.3

ส่วนความเชื่อมั่นต่อการทำงานของสื่อก็จะเป็นไปในแนวทางเดียวกัน คือ ความเชื่อมั่นลดลงเรื่อยๆ โดยสื่อที่ได้รับความเชื่อมั่นมากที่สุดคือ สื่อโทรทัศน์ ซึ่งปัจจุบันได้รับความเชื่อมั่นอยู่ที่ร้อยละ 66.4 แต่ก็ลดลงมาเรื่อยๆ เพราะก่อนหน้านี้เคยได้รับความเชื่อมั่นถึง 84.9% ในช่วงปี 47 ส่วนสื่อที่ได้รับความเชื่อมั่นน้อยที่สุดคือ วิทยุชุมชน ได้รับความเชื่อมั่นอยู่ที่ร้อยละ 40.3

สำหรับความเชื่อมั่นต่อการทำงานขององค์กรด้านการตรวจสอบ โดย กกต.ได้รับความเชื่อมั่นสูงสุดในปี 48 ร้อยละ 69.9 หลังจากนั้นก็ลดต่ำลงเรื่อยๆ ก่อนที่จะขยับขึ้นมาในปี 51 และปัจจุบันไดรับคงวามเชื่อมั่นอยู่ที่ร้อยละ 56 ขณะที่ป.ป.ช.ได้รับความเชื่อมั่นมากที่สุดในปี 47 ร้อยละ 77.2 ก่อนที่จะลดระดับความน่าเชื่อถือลงเรื่อยๆ และปัจจุบันความน่าเชื่อถืออยู่ที่ร้อยละ 52.1 ขณะที่คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินความเชื่อมั่นสูงสุดอยู่ที่ปี 47 ร้อยละ 77.5 หลังจากนั้นก็ลดความเชื่อมั่นลงและปัจจุบันความเชื่อมั่นอยู่ที่ร้อยละ 46.8

ส่วนความเชื่อมั่นในองค์กรด้านการตรวจสอบและในคำปรึกษา เป็นที่น่าสังเกตว่า มีเพียงผู้ตรวจการแผ่นดินนั้น ที่ปัจจุบันมีความน่าเชื่อถืออยู่ที่ระดับเกินกึ่งหนึ่งคือ ร้อยละ 51.7 ส่วนคณะกรรมการสิทธิ์ฯได้รับความเชื่อถือเพียงร้อยละ 41.8 และสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้รับความเชื่อถือน้อยที่สุดคือ ร้อยละ 38.8 ขณะที่ความพึงพอใจของประชาชนต่อบริการสาธารณูปโภคพื้นฐาน คือ ไฟฟ้า น้ำประปา โทรศัพท์ และถนน ล้วนอยู่ในระดับที่เกินร้อยละ 70 ทั้งสิ้น

ต่อเรื่องการคอรัปชั่นในรัฐบาลจะพบว่า ในทุกปี จะมีประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับการคอรัปชั่นเป็นสัดส่วนที่มากที่สุดคือ ร้อยละ 46 - 52 ส่วนที่เห็นด้วยกับการคอร์รัปชั่นของรัฐบาลมีสัดส่วนที่ไม่มากนัก โดยมีผู้ที่เห็นด้วยมากที่สุดในปี 48 ร้อยละ 3.9 และน้อยที่สุดในปี 53 ร้อยละ 1.8 นอกจากนี้ประชาชนยังเห็นว่า เรื่องการคอรัปชั่นและรับสินบนในการปกครองระดับประเทศมีมากว่าการปกครองในระดับปกครองท้องถิ่น โดยในปัจจุบันเห็นว่า มีการคอร์รัปชั่นระดับประเทศร้อยละ 27.9 และระดับท้องถิ่นร้อยละ 16.6 รวมทั้งเป็นที่น่าสังเกตว่า ในปี 50 ช่วงรัฐบาลพล.อ. สุรยุทธ์ ประชาชนเห็นว่า มีการคอรัปชั่นมากที่สุด โดยเป็นการคอรัปชั่นรับสินบนระดับประเทศร้อยละ 32.1 ระดับท้องถิ่นร้อยละ 22.5 ส่วนการพบเห็นเกี่ยวกับการคอรัปชั่นด้วยตัวเอง จะเห็นได้ว่า จากปี 46 มีการพบเห็นการคอรัปชั่นด้วยตัวเองร้อยละ 10.4 และปัจจุบันเพิ่มเป็นร้อยละ 17.4