posttoday

"'นายกฯ"ย้ำ ศบค.ส่วนหน้าไม่ใช่รวบอำนาจ ตั้ง"พล.อ.ณัฐพล" บูรณาการ ไม่ก้าวก่ายใคร

20 ตุลาคม 2564

นายกฯ ยัน ศบค.ส่วนหน้า ไม่ใช่การรวบอำนาจ ทุกอย่างยังดำเนินการเหมือนเดิม ตั้ง “พล.อ.ณัฐพล” ทำหน้าที่บูรณาการการทำงาน ไม่ก้าวก่ายการทำหน้าที่ใคร เผย การเปิดประเทศต้องหารือมาตรการระหว่างประเทศ ไม่ใช่ทุกประเทศเข้าไทยได้หมด

เมื่อวันที่ 20 ตค. 64 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวถึง การตั้งศบค.ส่วนหน้าว่า ตนได้กำชับไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (ศรชล.) และกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ถึงการบริหารจัดการภาคใต้ เพื่อลดการสูญเสีย รวมถึงการเยียวยา ทั้งนี้ได้เน้นย้ำให้เฝ้าระวังเรื่องความปลอดภัย เพราะประเทศไทยมีปัญหาหลายด้าน ตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมาตั้งแต่ตนเองเป็น ผบ.ทบ. และรอง ผอ.รมน.สนับสนุนเรื่องเหล่านี้มาตลอด เพราะเป็นกลไกของทุกรัฐบาล หน่วยงานเหล่านี้จะต้องไปเสริมการปฏิบัติงานของกระทรวงอื่นๆด้วย เช่น ทหารที่ทำหน้าที่ป้องกันการลักลอบตามแนวชายแดน เพื่อป้องกันการระบาดโควิด-19 ด้วยการประสานกับประเทศเพื่อนบ้าน จึงฝากความเห็นใจ และให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ทหารตามแนวชายแดน

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวอีกว่า สำหรับ ศบค.ส่วนหน้า ประชาชนก็ให้ความร่วมมือ ยืนยันว่า ไม่ใช่การรวบอำนาจ ทุกอย่างยังดำเนินการเหมือนเดิม โดย พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ ที่ปรึกษา นายกฯ และผอ.ศบค.ส่วนหน้า ลงไปทำหน้าที่เพียงแค่บูรณาการการทำงาน เพราะมีกฎหมายในการทำงานอยู่แล้ว ความจริงไม่ได้เข้าไปก้าวก่ายการทำหน้าที่ของใคร เพียงแต่เข้าไปดูแลให้เกิดความทั่วถึงในเรื่องการสกัดกั้นการแพร่ระบาดโควิด-19

นายกรัฐมนตรี กล่าวถึง การเปิดประเทศในวันที่ 1 พ.ย.นี้ ว่า ยังมีอีกหลายประเทศที่จะประกาศออกไป เช่นเดียวกับประเทศอื่นๆที่จะเข้ามาไทย ไม่ได้หมายความว่าทุกประเทศจะเข้ามาได้ทั้งหมด ขึ้นอยู่กับการหารือร่วมกันระหว่างประเทศต้นทาง และปลายทางว่า มาตรการที่เรากำหนดไปเขาตกลงด้วยหรือไม่ ถ้าไม่ตกลงด้วยเขาก็ไม่เข้ามาอยู่แล้ว ครั้งแรกอาจจะให้เข้ามาได้ไม่กี่ประเทศ หรืออาจจะหลายประเทศ ทุกอย่าง ต้องขึ้นอยู่กับมาตรการของไทยที่ต้องนำไปเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆที่มีการประกาศเช่นเดียวกัน ย้ำว่า ไทยจำเป็นต้องอยู่กับโควิด-19 ให้ได้ เศรษฐกิจจะได้ดีขึ้น สมาคมผู้ประกอบการท่องเที่ยวต้องปฏิบัติตามมาตรการอย่างเคร่งครัด ถ้าเปิดแล้วเกิดมีปัญหาก็ต้องปิด ซึ่งก็ไม่อยากปิดทั้งหมด เพราะประชาชนเดือดร้อน แม้จะมีการเยียวยาก็ไม่เพียงพอ แต่เพื่อให้ดำรงชีพอยู่ได้