posttoday

ไทยไม่ทนทวงคืน"ท่อส่งก๊าซ"เป็นสมบัติชาติ

28 กันยายน 2564

เวทีทวงคืนสมบัติชาติ ยืนยัน ท่อส่งก๊าซเป็นของรัฐ จี้!ทวงคืนมาใช้ระบบแบ่งปันผลผลิตจัดการพลังงานไทย ไม่เอาสัมปทานจำแลง ที่เอื้อประโยชน์ทุนพลังงาน ผลักภาระให้ประชาชน

เมื่อวันที่28ก.ย.2564 คณะไทยไม่ทน และคณะกรรมการญาติพฤษภา 35 จัดเวทีทวงคืนสมบัติชาติ ภารกิจเพื่อแผนดิน เรื่องที่ 3 การกล่าวหารัฐบาลทุจริตคอร์รัปชั่น กรณีท่อแก๊สและพลังงานไทย ที่ ห้องประชุมอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา สี่แยกคอกวัว

โดยนายธีรชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรมว.คลัง กล่าวว่า การขนส่งก๊าสจากกลางทะหรือขึ้นทางบกนั้น ระบบท่อจะมีค่าใช้จ่ายน้อยกว่าการบรรทุกทางเรือที่ต้องส่งต่อด้วยรถบรรทุก ประเทศไทยได้มีกฎหมายพิเศษ ให้มีอำนาจในการวางท่อก๊าซทั่วประเทศรวมถึงพื้นที่ทะเลไทย ตามมาตรา 30 พ.ร.บ.จัดตั้งการปิโตรเลียม ในเรื่องกำหนดแนวเขตท่อ รัฐบาลในอดีตกำหนดให้การดำเนินการก่อนการแปรรูปปิโตรเลียมของไทยนั้น ให้แยกท่อส่งก๊าซออกมา เพื่อให้บริษัทเอกชนต่างๆสามารถใช้ทรัพยากรนี้ต่อได้เท่าๆกับบริษัทที่จะเกิดขึ้นหลังจากการแปรรูป

ทั้งนี้การปิโตรเลียมที่สำคัญของรัฐไทย ลงทุนระบบท่อ 74,600 ล้านบาท การก่อสร้างใช้อำนาจมหาชนโดยรัฐ โดยอ้างพ.ร.บ.จัดตั้งการปิโตรเลียมดังกล่าว เเล้วออกประกาศวางแนวท่อ โดยเฉพาะในฉบับแรก เป็นประกาศร่วมกับกระทรวงกลาโหมกับกระทรวงอุตสาหกรรม ลงนามโดยพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ คู่กับ นายประสิทธิ์ ณรงค์เดช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยขนาดนั้น จึงชัดเจนว่าท่อในทะเลเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน

นายธีรชัย กล่าวอีกว่า แต่หลังการแปรรูปกลับให้บริษัทมาหาชนที่จัดตั้งขึ้น เอาประโยชน์หรือถือสิทธิ์ในท่อส่งพลังงานไปด้วย และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคไปฟ้องศาลปกครอง เมื่อปี 2549 ขอให้ยกเลิกการแปรรูป แม้ศาลปกครองไม่ให้ยกเลิกการแปรรูป แต่ศาลให้แบ่งแยกสาธารณสมบัติของแผ่นดิน โอนคืนกระทรวงการคลัง และคณะรัฐมนตรีให้ปฏิบัติตามคำพิพากษา แต่ปัจจุบันยังไม่ได้ดำเนินการให้ครบถ้วน

ขณะที่ มล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี นักวิชาการอิสระด้านพลังงาน ยืนยันว่า การบริหารจัดการด้านพลังงานเพื่อให้ประชาชนได้ประโยชน์สูงสุด ต้องใช้ระบบแบ่งปันผลประโยชน์ระหว่างรัฐกับเอกชน ไม่ใช่ระบบสัมปทานที่ไทยใช้ ซึ่งระบบสัมปทานเป็นระบบที่มหาอำนาจตะวันตก กำหนดมาให้ประเทศอาณานิคมใช้ เมื่อได้รับเอกราชแล้วก็ยกเลิกกันไปหมดแล้ว

อย่างไรก็ตาม แม้ประเทศไทยมีการออกกฎหมายเกี่ยวกับพลังงานในลักษณะแบ่งปันผลผลิตในระยะหลัง แต่เป็นระบบ "แบ่งปันผลผลิตกำมะลอ" ไม่ได้เป็นแบบสากล แต่เป็นเหมือนระบบสัมปทานคือ ให้เอกชนเอาน้ำมันดิบไปทั้งหมดเมื่อขายได้กำไรแล้ว ก็ค่อยมาแบ่งผลประโยชน์กับรัฐตามสัดส่วน ทำให้คนไทยได้ใช้พลังงานทั้งก๊าซและน้ำมันแพง เพราะเอกชนแสวงหากำไรเทียบราคากับตลาดโลกหรือจากประเทศซาอุดิอาระเบีย การดำเนินการอยู่นี้ จึงไม่ใช่แนวทางที่ทำให้ประชาชนได้ประโยชน์สูงสุด

ในส่วนการแบ่งปันผลประโยชน์ในเรื่องพลังงานของตามหลักสากลหรืออย่างประเทศมาเลเซียคือเมื่อขุดเจาะน้ำมันดิบขึ้นมาจะเป็นของรัฐ 100% แล้วรัดค่อยแบ่งให้เอกชนตามสัดส่วน และจะขายพลังงานร่วมกันแล้วแบ่งกำไรหรือแยกกันขายก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งแต่รัฐต้องเป็นผู้จัดการ ซึ่งจะควบคุมราคาพลังงานเพื่อประโยชน์ของคนในประเทศ ไม่ให้สูงเกินไปเหมือนบริษัทเอกชนที่มุ่งแสวงหากำไร ปั่นราคาในตลาดหุ้น จากผลประโยชน์ของชาติ

มล.กรกสิวัฒน์ กล่าวว่า เบื้องต้นไทยต้องยกเลิกระบบสัมปทานพลังงานหรือระบบแบ่งปันแบบกำมะลอนี้ ควรใช้ระบบแบ่งปันผลผลิตแทน เพราะถ้าไม่จัดการทรัพยากรของแผ่นดินให้ถูกต้อง สิ่งที่เกิดขึ้นจะมีกฎหมายแปลกแตกออกมา อย่างการให้ต่างชาติซื้อที่ดินและอสังหาริมทรัพย์อย่างเต็มที่ จึงต้องกลับมาดูกฎหมายพลังงานใหม่ อย่าให้เป็นภาระของประชาชนและให้รายได้เข้าแผ่นดินอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย รายได้รัฐสูงขึ้นประชาชนใช้ราคาพลังงานที่ต่ำ

มล.กรกสิวัฒน์ ระบุด้วยว่า ไทยคือสวรรค์ของนักขุดเจาะน้ำมัน พร้อมยกข้อมูลแหล่งน้ำมันดิบในไทยประกอบการอธิบาย ทั้ง แหล่งน้ำมันดิบ วิเชียรบุรี จังหวัดเพชรบูรณ์ / แหล่งน้ำมันดิบ ในจังหวัดพิษณุโลก ซึ่งชาวบ้านหน้าแหล่งผลิต ได้ใช้น้ำมันในราคาแพงกว่าคนในกรุงเทพมหานคร / แหล่งน้ำมันสิริกิติ์ ลานกระบือเหนือ จังหวัดกำแพงเพชร 2 ผลิตหลายพันล้านลิตรต่อปีมูลค่า "3หมื่นล้านบาทต่อปี" / แหล่งฯ ภูฮ่อม จังหวัดอุดรธานี มูลค่ากว่า 6,300 ล้านบาทต่อปี แต่แหล่งน้ำมันที่มีเยอะและมีมากก็คือในทะเล ทั้งแหล่งบัวหลวงจังหวัดชุมพร 480 ล้านลิตรต่อปีมูลค่า 7,500 บาท และแหล่งสงขลามูลค่า 9,000 ล้านบาทต่อปี แต่น้ำมันจากทะเลส่งขายต่างชาติ คนไทยได้ใช้น้ำมันบนพื้นดินและราคายังสูงอยู่

อย่างไรก็ตามมองว่า แหล่งเอราวัณ แหล่งบงกช มูลค่าแหล่งละ 1 แสนล้านบาทต่อปี รวม 2 แสนล้านบาทต่อปี ตอนนี้สัญญาใหม่ยังไม่เริ่ม สามารถดำเนินการให้ดีได้ เชื่อว่าหากรัฐลงทุนเพิ่มเล็กน้อยก็เป็นของไทยได้ แต่กฎหมายของรัฐไทยไม่เอื้ออำนวย จึงยืนยันว่า รัฐต้องนำทุกอย่างกลับมาเป็นของรัฐ แล้วค่อยออกกฎหมายรับรองการดำเนินการแบบแบ่งปันผลผลิต เพื่อคุมราคาพลังงานและให้รัฐได้รายได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย

ด้าน นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส อดีตผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ระบุว่าว่า จากที่ทำหน้าที่ สตง.มายืนยันต่อประชาชนได้เลยว่า ไทยได้ลงทุนโดยใช้อำนาจมหาชน มีกฎหมายในการจัดหา จัดซื้อที่ดินกระทั่งใช้สิทธิพิเศษวางแนวท่อแก๊สลงในที่สาธารณะ ล้วนมาจากอำนาจรัฐ ซึ่งต้องถือว่าเป็นสมบัติของชาติ และที่ศาลปกครองให้คืนส่วนหนึ่งของแผ่นดินมูลค่า 4.8 หมื่นกว่าล้านนั้น ทาง สตง.ได้ตรวจสอบความจริง พบว่ายังส่งคืนไม่ครบถ้วน ขาดอีก ' 3หมื่นกว่าล้าน' ที่ยังไม่ได้คืนกลับมายังกระทรวงการคลัง

ทั้งนี้ แม้ในยุค คสช.ที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จ ก็ยังไม่ดำเนินการกระทั่งปัจจุบัน และนอกจากมูลค่าที่เป็นต้นทุนเดิมยังต้องรวมค่าสิทธิประโยชน์ระบบท่อส่งและอื่นๆซึ่งควรจะตกแก่รัฐทุกปี แต่ตกไปอยู่กับกลุ่มทุนพลังงาน

อย่างไรก็ตาม เสนอว่า กระทรวงพลังงานต้องนำท่อก๊าซมาบริหารจัดการไม่ใช่ให้กลุ่มทุนหรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งที่ลงทุนด้านการพลังงานร่วมกับบริษัทมหาชนได้ประโยชน์เท่านั้น รวมทั้งสิทธิประโยชน์ที่จะเกิดขึ้น ให้เกิดความเป็นธรรมในแง่ที่บริษัทต่างๆมีโอกาสได้ใช้ทรัพยากรของรัฐ นอกจากนี้พลังงานยังเกี่ยวข้องกับอย่างอื่นอย่างการเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า หากน้ำมันและก๊าซมีราคาแพงเพราะปล่อยให้แสวงหากำไรราคาไฟฟ้า ประชาชนก็จะรับภาระราคาค่าไฟฟ้าที่แพง

" ถ้าจะทิ้งปัญหาไว้อย่างนี้ความไม่เป็นธรรมก็ยังคงมีอยู่ เท่ากับว่าเราไม่ทำเป็นในสิ่งที่เป็นธรรมาภิบาลให้เกิดขึ้นในบ้านเมืองนี้ ปล่อยให้มีการเอารัดเอาเปรียบและเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาความทุกข์ยาก ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่มีคำถามในใจว่า ทำไมทั้งแก๊สและน้ำมันไม่ใช้ราคาของไทย ทำไมต้องไปเทียบต่างประเทศ ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นปัญหาต้องได้รับการแก้ไข ตนเสนอมาหลายครั้งจนอายแทนผู้มีอำนาจที่ปล่อยปละละเลยไม่ดำเนินการ เชื่อว่าวันข้างหน้าจะมีผู้นำเรื่องนี้ไปฟ้องร้อง " นายพิศิษฐ์ กล่าว

นายพิศิษฐ์ ยังแสดงความกังวลโดยชวนจับตาระยะเปลี่ยนผ่านทางการเมือง ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนผ่านบุคลากรที่จะเกษียณอายุและการจัดตั้งพรรคการเมืองรวมถึงผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงมหาดไทย ที่มีปัญหาเรื่องภายในเกี่ยวกับเรื่องพรรคการเมืองอยู่ด้วย โดย มีงบประมาณอยู่ก้อนหนึ่งราว 4,000 กว่าล้านบาท ที่จะซื้อ วอคกี้ทอคกี้ หรือ โครงการจัดหาวิทยุสื่อสารข่ายบังคับบัญชากระทรวงมหาดไทย ที่มีการกำหนดแผนการดำเนินการการซื้อวิทยุสื่อสาร มีสิ่งที่น่าห่วงคือ เป็นเทคโนโลยีล้าสมัย เเละปัจจุบันใช้สมาร์ทโฟนทำงานมีประสิทธิภาพและอเนกประสงค์ แต่ผู้มีอำนาจกลับย้อนยุคไปในลักษณะเทคโนโลยีล้าหลัง จึงต้องจับตาว่า มีการสมประโยชน์อย่างไรหรือไม่ เพราะงบประมาณทุกอย่างล้วนเป็นเงินของแผ่นดิน