posttoday

ครม.ฮั้วนายทุน พปชร.ยึดดาวเทียมไทยคม

24 กันยายน 2564

กลุ่มไทยไม่ทนอัดครม.ฮั้วนายทุน พปชร.ยึดดาวเทียมไทยคมของรัฐ ชี้ หลักสูตร นธป. คือระบอบอุปถัมภ์ระหว่างธุรกิจและการเมือง จี้องค์กรอิสระยกเลิกโครงการหลักสูตรพิเศษ

เมื่อวันที่24 ก.ย. 2564 ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา สี่แยกคอกวัว กลุ่มไทยไม่ทน สามัคคีประชาชนเพื่อประเทศไทย จัดเสวนา เรื่อง ทวงคืนสมบัติแผ่นดิน รัฐควรบริหารดาวเทียมไทยคมต่อไปอย่างไร? อภิปรายโดย นายอดุลย์ เขียวบริบูรณ์ ประธานคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา'35 ผู้ก่อตั้งกลุ่มไทยไม่ทน , นายธีรชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และที่ปรึกษาเศรษฐกิจไทยไม่ทน และนายเมธา มาสขาว เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) ดำเนินรายการโดย นายณัทภัช อัคฮาด คณะทำงาน ไทยไม่ทน

นายอดุลย์ กล่าวว่า เวทีวันนี้เพราะคิดว่าประชาชนทุกคน เป็นเจ้าของประเทศต้องมีส่วนร่วมในการทวงคืนสมบัติชาติ และสมบัติของแผ่นดิน ต้องเอาทรัพย์สินกลับคืนมาที่ถูกฮุบไปโดยนักการเมืองและนายทุนก่อน หัวใจที่สำคัญในเรื่องของดาวเทียมคือมีความไม่ชอบมาพากลและความไม่โปร่งใสแอบแฝงหรือไม่ การที่ท่านไม่ได้เตรียมความพร้อมที่จะรับมอบดาวเทียมให้คืนมา ทำไม 7 ปีภายใต้รัฐบาลประยุทธ์ถึงไม่ได้เตรียมความพร้อม เกิดจากการที่ท่านจงใจไม่เตรียมความพร้อม ในการรับผิดชอบนำดาวเทียมกลับคืนมาหรือท่านประมาท เหตุใดรัฐบาลประยุทธ์จึงไม่จัดการกับคนที่รับผิดชอบในเรื่องนี้ และก่อนที่รัฐบาลจะรับมอบดาวเทียม 4 และ 6 ยังติดภารกิจเก็บเงินรัฐบาลอยู่ เนื่องจากดาวเทียมไทยคมวงที่ 4 ภายในประเทศแต่เป็นดาวเทียมดวงใหญ่แบบสุทธิ และมีรายได้มากมายมหาศาลแต่ไม่ได้คืนให้กับรัฐบาล ซึ่งรัฐบาลไม่สามารถทำหน้าทีเรียกร้องสิทธิ์กลับคืนมา

นายอดุลย์ กล่าวว่า ท่านปฏิเสธบอกว่าถ้าไม่มีอำนาจอนุมัติในอวกาศ เพราะฉะนั้นจึงเป็นสิ่งไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะฉะนั้นการที่ทำอย่างต่อเนื่องและ มีการเปลี่ยนแปลง 2 ข้อคือการเพิ่มทุนซึ่งเป็นสิ่งผิดปกติ กับข้อเรียกร้องที่ควรจะต้อง นำกลับมาเป็นสมบัติชาตินี้ ต้องนำกลับมาให้ถูกต้อง การทำธุรกิจของบริษัท และการเอาผลประโยชน์สูงสุดต้องถูกต้องตามกฎหมาย ไม่ใช่ว่านำสมบัติชาติไปใช้ประโยชน์แล้วไม่ทวงคืน

“ผมกล่าวหาต่อพลเอกประยุทธ์ในฐานะหัวหน้ารัฐบาล จะต้องควบคุมกระทรวงดีอีเอส ท่านทำหน้าที่ของท่านหรือยัง อยากให้รัฐบาลช่วยชี้แจงให้ชัดเจนต่อประชาชนที่เป็นเจ้าของทรัพย์สมบัติของแผ่นดิน ข้อมูลรายละเอียดตัวบันทึกนั้น ชัดเจนว่าทำให้ป้ายราคา 3 ป้ายที่อยู่กับดาวเทียมไทยคม 4 ถูกตัดทิ้งไป เพราะฉะนั้นเวลานี้ภาพชัดเจนว่า ถ้าทำอย่างนั้นแล้วใครจะได้ประโยชน์นายทุนผู้ใดจะได้ประโยชน์ และกลายเป็นว่าการดำเนินการในเรื่องนี้ สิ่งที่เกิดขึ้นก่อนหน้าที่เป็นความผิด ก็จะหายไปด้วย ทั้งนี้ทราบว่า รมช.ศึกษาธิการและรมช.เกษตรและสหกรณ์ ได้ทักท้วงคัดค้านในเรื่องนี้ หากจะเดินหน้าพิจารณาและลงมติเห็นชอบ ก็จะขอถอนตัวออกจากวาระการพิจารณา จึงต้องยอมถอยออกมา?"นายอดุลย์

ด้าน นายธีระชัย กล่าวว่า สิ่งที่รัฐบาลควรจะทำและกำหนดนโยบายคือให้ NT เลิกคิดที่จะทำตัวเป็นคนประกอบธุรกิจเอง แต่ควรจำกัดบทบาทตัวเองในฐานะผู้ถือทรัพย์สินและสิทธิ์ของรัฐเป็นหลัก ซึ่ง NT ควรจะต้องดำเนินการ 2 ประการคือ เปิดห้องแล้วนำข้อมูลไปใส่ในห้องนั้น ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลในเรื่องของดาวเทียม ในเชิงฮาร์ดแวร์มีอุปกรณ์อะไรบ้าง ในเชิงซอฟต์แวร์มีอุปกรณ์อะไรบ้าง แล้วข้อมูลอื่นๆที่เกี่ยวข้อง รวมไปถึงบัญชีลูกค้าบริการธุรกิจ ที่มีอยู่ใส่เข้าไปในดาต้ารูม จากนั้นเชิญชวนให้เอกชนรายใดที่สนใจ เข้ามาเปิดดูข้อมูลในดาต้าโรม โดยคิดค่าทำเนียมระดับหนึ่ง เพื่อที่จะให้แน่ใจว่าเป็นคนที่มีความสนใจอย่างแท้จริง และเอกชนที่จะเข้ามาเปิดดูนั้นก็ควรที่จะเป็น เอกชนที่เป็นบริษัทของไทยหรือเอกชนต่างชาติ หรือจะเป็นจอยเวนเจอร์คือบริษัทร่วมทุนก็ได้ หลังจากนั้นจึงจะเปิดให้มีการประมูลโปร่งใส

ที่ปรึกษาไทยไม่ทน กล่าวว่า ธุรกิจนี้ควรแบ่งเป็น 2 ส่วนคือส่วนที่มีอยู่แล้วก็ให้เอกชนประมูล ว่าใครจะบริหารจัดการต่อไป โดยเสนอค่าจัดการให้ออกมาเป็นเปอร์เซ็นต์ใครเสนอเปอร์เซ็นต์ต่ำสุด คนนั้นก็ได้ไป อีกส่วนหนึ่งจะเป็นธุรกิจ ซึ่งขณะนี้อาจจะไม่มีแต่จะสามารถพัฒนาขึ้นมาใหม่ ตรงนี้รัฐบาลก็กำหนดเป็นเงื่อนไขได้ว่า ออกมาเป็นลักษณะการได้ผลกำไร แล้วให้คะแนนเอกชนที่มาประมูล รายใดเสนอสัดส่วนให้แก่รัฐในสัดส่วนที่สูงที่สุด ลักษณะอย่างนี้จึงจะเป็นลักษณะของการบริหารจัดการที่ NTสามารถทำได้

“แบบนี้ผลประโยชน์ที่เกิดขึ้น ก็จะเป็นผลประโยชน์สูงสุดต่อประเทศ ส่วนกรณีไทยคมถ้าจะเข้ามาร่วมในการแข่งขันก็ทำได้ ที่ผมเสนอไปไทยคมก็ย่อมได้เปรียบคู่แข่งขันรายอื่น เพราะมีข้อมูลและมีความรู้ต่างๆ ซึ่งถือว่าเป็นการได้เปรียบของไทยคมถูกต้องตามกฎหมายเป็นธรรม ลักษณะอย่างนี้การเปิดประมูลเพื่อที่จะให้รัฐกับเพื่อนบริษัทที่จะขับเคลื่อนบริหารในธุรกิจที่มีอยู่แล้ว โดยจ่ายค่าทำเนียมต่ำสุด ขณะเดียวกันก็ให้บริษัทนั้น แบ่งผลกำไรให้แก่รัฐในสัดส่วนที่สูง วิธีนี้ได้ทำหนังสือเป็นจดหมายเปิดผนึกส่งไปให้กับพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีแล้ว ให้ไปพิจารณาเพราะถ้าไม่เปิดให้มีการแข่งขัน แต่ท่านผูกตัวเองเข้าไปกับบริษัทไทยคม ชนิดแกะไม่ออก โดยไม่มีการแข่งกันอย่างนี้เป็นการดำเนินการที่ผิดกฎหมาย” นายธีระชัย กล่าว

นายธีระชัย กล่าวถึงกรณีที่ นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม รักษาการหัวหน้าพรรคไทยภักดี ยื่นฟ้องอดีตนายกรัฐมนตรี นางสาว ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กับพวกรวม 52 คน ตามความผิดประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 กรณีปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือการละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ว่า นพ.วรงค์คงไม่เข้าใจประเด็นนี้ ว่าสิ่งที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติให้เข้าครอบครองใช้สิทธิ์ในตำแหน่ง 120 องศาตะวันออก ซึ่งนายกรัฐมนตรีมีอำนาจเสนอเข้าที่ประชุม แต่คณะรัฐมนตรีไม่ได้อนุมัติ เพราะต้องทำอย่างรอบคอบโดยกำหนดว่า ให้กระทรวงไอซีที ไปดำเนินการตามขั้นตอนให้ถูกต้อง โดยยึดผลประโยชน์ของรัฐและที่สำคัญคือให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาก่อนดำเนินการต่อไป

“ผมออกจากคณะรัฐมนตรีไปเมื่อ มกราคม 2555 จึงไม่ทราบว่า มีการอนุมัติในเรื่องนี้หรือไม่ และดำเนินการที่เป็นผลประโยชน์ของประเทศชาติ โดยยึดหลักของประเทศชาติหรือไม่และมีการเดินการเรื่องนี้อย่างไรหรือไม่ แต่เป็นประเด็นที่พลเอกประยุทธ์ จะต้องเข้าไปตรวจสอบ เพราะเป็นผลประโยชน์ของประเทศ เนื่องจากบริษัทไทยคมอ้างว่าดาวเทียมไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของสัญญานี้ แต่เป็นดาวเทียมที่ใช้สิทธิ์โดยใช้ใบอนุญาตแล้วแต่มีความเห็นว่าไม่ถูกต้อง

ขณะที่ นายเมธา มาสขาว เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) สรุปประเด็นการกล่าวหาการทุจริตประพฤติมิชอบของรัฐบาลประยุทธ์กรณีดาวเทียมไทยคมว่า สัญญาสัมทานดาวเทียมไทยคมคือการส่งดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศ และขณะที่ส่งดาวเทียมไทยคม 1 จะต้องส่งดาวเทียมไทยคม 2 สำรองด้วย เมื่อส่งไทยคม 3 ก็ต้องส่งไทยคม 4 สำรอง ต่อไปเรื่อยๆ ในดาวเทียมไทยคม 5, 6, 7 และ 8

ปัญหาแรกคือปัญหาดาวเทียมไทยคม 4 หรือเลี่ยงเรียกว่าไอพีสตาร์ ไม่ได้ทำให้เป็นดาวเทียมสำรองตั้งแต่แรก เพราะแอบส่งขึ้นเป็นดาวเทียมบริการระหว่างประเทศ และความจริงจะต้องมีการเปิดประมูลใหม่ เพราะถือว่าเป็นโครงการใหม่ที่อยู่นอกกรอบของสัญญาสัมปทาน และจะต้องเปิดให้มีการประมูลแข่งขันโดยเริ่มตั้งแต่ขั้นตอนเสนอโครงการกันใหม่อย่างเสรีและเป็นธรรมทั้งในด้านการบริหารงานและอัตราการจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนให้แก่รัฐ และปัญหาต่อมาคือปัญหามติ ครม. วันที่ 7 กันยายน 2564 หลังอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี และก่อนสัญญาสัมปทานสิ้นสุดลงเพียง 3 วัน ได้มีมติ ครม. เห็นชอบให้ บมจ.อินทัช โฮลดิ้งส์ ถือหุ้นใน บมจ.ไทยคม ไม่ต่ำกว่า 51% ของหุ้นทั้งหมดเพื่อเป็นเจ้าของดาวเทียมไทยคม และมีมติเห็นชอบให้ผนวกดาวเทียมไทยคม 4 ไอพีสตาร์ เป็นดาวเทียมภายใต้สัญญาสัมปทาน ทั้งที่ก่อนหน้านี้อ้างว่าเป็นคนละส่วน คนละโครงการ ไม่ใช่ดาวเทียมภายใต้สัญญาสัมปทาน มติ ครม.จึงเอื้อประโยชน์ให้เอกชนที่เป็นนักธุรกิจการเมืองในปัจจุบันอย่างชัดเจน

นอกจากนี้คดีพิพาทเรื่องดาวเทียม ไทยคม 5, 7 และ 8 การต่อสู้คดีตามกฎหมายอนุญาโตตุลาการระหว่างรัฐและเอกชนอาจจะมีการเอื้อเอกชน เพราะมีการพยายามเปลี่ยนตัวอนุญาโตตุลาการโดยมิชอบ และเป็นความผิดสำเร็จแล้วไม่ต่างจากการย้ายอดีตเลขาธิการ สมช. และรัฐอาจเสียหายหลายหมื่นล้านบาทจากการสูญเสียดาวเทียมไทยคมตกเป็นของเอกชนหากแพ้คดี รวมถึงปัญหาเอกชนค้างจ่ายส่วนแบ่งรายได้จากดาวเทียมไทยคมมาตั้งแต่ปี 2557 ปีที่พล.อ.ประยุทธ์รัฐประหารเข้ามา ซึ่งได้เปิดเผยโฉมหน้าการเป็นเสนาพาณิชย์ ทำธุรกิจการเมืองกับการบริหารราชการแผ่นดินโดยมิชอบใช่หรือไม่ และเรื่องนี้พ้นจากคุณทักษิณไปแล้ว เป็นความฉ้อฉลของระบอบประยุทธ์ล้วนๆ ที่พล.อ.ประยุทธ์ และพล.อ.ประวิตร ต้องตอบคำถามว่าต้องการฮุบดาวเทียมไทยคมให้เป็นของกลุ่มทุนใหม่ของพรรคพลังประชารัฐและพรรคพวกตนเองโดยไม่ต้องการให้ตกเป็นของรัฐใช่หรือไม่

ปัญหาหลักปัญหาหนึ่งก็คือ โครงการหลักสูตรพิเศษในองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญหลายองค์กร กลายเป็นหลักสูตรเพื่อสร้างคอนเนคชั่นและสร้างเครือข่ายทางการเมืองที่เป็นอุปสรรคต่อการตรวจสอบถ่วงดุลระบอบการเมือง โดยเฉพาะที่มีการอภิปรายในสภาเรื่องหลักสูตรหลักนิติธรรมเพื่อประชาธิปไตย (นธป.) ของศาลรัฐธรรมนูญ ที่มีคู่กรณีระหว่างรัฐและเอกชนในคดีดาวเทียมกลายเป็นเพื่อนร่วมรุ่นในหลักสูตรเดียวกัน ซึ่งจะทำให้เกิดข้อครหาเรื่องความโปร่งใสและการช่วยเหลือดูแลกันได้ เพราะหลักสูตรต่างๆ ที่ใช้เงินภาษีของประชาชนนั้นถูกทำให้เป็นการเมืองในระบอบอุปถัมภ์กันอย่างโจ่งแจ้งที่ผ่านมา

เนื่องจากการสมัครเข้าหลักสูตรนี้ต้องมีเส้นสายทางการเมืองหรือไม่ก็ต้องมีเงินพิเศษไม่ต่างจากแป๊ะเจี๊ยเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายอื่นๆ นอกงบประมาณ เช่น ค่าอาหารการกินในเวลาศึกษาดูงานทั้งในและต่างประเทศ และบางส่วนก็อาจเข้ากระเป๋าผู้มีอำนาจซึ่งตรวจสอบไม่ได้ ภาษีของประชาชนไม่ควรถูกนำไปใช้ในการจัดหลักสูตรฝึกอบรมต่างๆ ให้กับคนชนชั้นกลางและชนชั้นสูงในประเทศจำนวนมหาศาลอีกต่อไป และที่สำคัญหลักสูตรเหล่านี้กลับถูกตั้งขึ้นมาโดยหน่วยงานที่ควรเป็นอิสระและเว้นระยะห่างกับนักการเมือง นักธุรกิจ แต่ปรากฏว่าภายใต้รัฐบาลชุดนี้ ยิ่งทำให้หลักสูตรเหล่านี้เจริญเติบโต และเป็นแหล่งรวมตัวของชนชั้นนำในบ้านเราได้มาพบปะ พูดคุย สังสรรค์กัน ภายใต้ข้ออ้างการฝึกอบรม แต่แท้ที่จริงคือการสร้างระบบอุปถัมภ์ในระบบธุรกิจและการเมือง

นอกจากนี้ ยังมีเงินบริจาคเพื่อจัดงานเลี้ยงที่กำหนดต้องจัดกันทุกเดือน เงินสนับสนุนการอำนวยความสะดวกเพิ่มเติมในการเดินทางไปดูงานต่างประเทศ ผ่านมา 7 ปีบางหน่วยงานไปศึกษาดูงานมาแล้วมากกว่า 52 ประเทศ ในแต่ละครั้งที่รัฐจ่ายค่าเดินทาง ค่าอาหาร ที่พักให้ทั้งหมด แต่จะมีนักธุรกิจ มหาเศรษฐีบางคนที่ใจป้ำอัพเกรดตั๋วเครื่องบิน ที่พัก สนับสนุนเหล้ายาปลาปิ้ง ให้การเดินทางในแต่ละครั้งสุดหรู และเมื่อจบหลักสูตรแล้ว มีการจัดทริปเพื่อเลี้ยงฉลองกันไกลถึงญี่ปุ่น ออสเตรเลีย ซึ่งสิ่งเหล่านี้คือผลประโยชน์แฝงที่คนเกี่ยวข้องได้รับ และมีมูลค่าเกินสามพันบาทอย่างแน่นอน

ดังนั้น องค์กรอิสระต่างๆ ต้องยกเลิกโครงการหลักสูตรพิเศษเหล่านี้ทั้งหมด เพราะทำให้องค์กรเกิดข้อครหาและความไม่เป็นกลางทางการเมือง สร้างระบอบอุปถัมภ์ผ่านภาษีประชาชน ซึ่งอาจจะมีความผิดในอนาคตหากตรวจสอบลงไปในรายละเอียด ที่ผ่านมาก็มีการล็อบบี้ไม่ให้พรรคการเมืองตรวจสอบมาแล้วหลายครั้ง จึงจะต้องปฏิรูปศาลและองค์กรอิสระทั้งระบบเพื่อป้องกันการเมืองที่ฉ้อฉลและการขาดประสิทธิภาพการตรวจสอบถ่วงดุลรัฐบาลต่อไป