posttoday

ฝึกภาษาอังกฤษฟื้นการท่องเที่ยว

19 กันยายน 2564

โดย....ดร.ทวีศักดิ์ ชูมา

**************************

การพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ คือ เป้าหมายสำคัญของยุทธศาสตร์การศึกษาชาติ ซึ่งการส่งเสริมการเรียนรู้เพื่อให้ประชาชนสามารถพึ่งพาตัวเองจะช่วยขจัดปัญหาความเหลื่อมล้ำ และทำให้ประเทศชาติเกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน

"การท่องเที่ยว" ถือเป็นหัวใจหลักของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยามที่ประเทศชาติบอบช้ำจากวิกฤติต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่ทำให้เศรษฐกิจหยุดชะงัก แต่ในขณะเดียวกันก็ถือเป็นโอกาสที่ดีที่ประเทศจะได้กลับมามีการเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจได้อีกครั้ง

ฝึกภาษาอังกฤษฟื้นการท่องเที่ยว

แต่ที่ผ่านมากลับพบว่า ในช่วงวิกฤติ COVID-19 ผู้ที่เคยประกอบวิชาชีพด้านการท่องเที่ยว ส่วนใหญ่ต้องไปประกอบอาชีพอื่น จนเมื่อรัฐประกาศว่าจะเปิดพื้นที่ท่องเที่ยว จึงต้องมา Upskill - Reskill กันใหม่ เพื่อให้พร้อมกลับมาประกอบวิชาชีพเดิมอีกครั้ง

ซึ่งการฝึกทักษะการใช้ภาษาอังกฤษ มีความจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับการประกอบการด้านการท่องเที่ยว โดยการใช้ภาษาอังกฤษเพื่อการท่องเที่ยว และการใช้ภาษาอังกฤษโดยทั่วไปนั้น มีลักษณะที่แตกต่างกัน ผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยวจึงควรต้องมีการเรียนรู้และฝึกฝนอยู่เสมอ

มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะ "ปัญญาของแผ่นดิน" ซึ่งมีภารกิจสำคัญในการสร้างองค์ความรู้ เพื่อการพัฒนา และฟื้นฟูประเทศจากวิกฤติ COVID-19 โดยในส่วนของวิทยาเขตนครสวรรค์ ได้มีการนำองค์ความรู้จากการจัดอบรม โดย หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต (สาขาการประกอบการเชิงนิเวศวัฒนธรรม) ซึ่งเป็นหลักสูตรที่เปิดสอนมาจนเข้าสู่ปีที่ 7 ในปี 2564 นี้ โดยมุ่งฝึกทักษะของการเป็นพลเมืองโลกในศตวรรษที่ 21 ที่สามารถปรับตัวให้เข้ากับชุมชน และสังคมโลก โดยใส่ใจสิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรม

จากการจัดอบรมฝึกทักษะการใช้ภาษาอังกฤษเพื่อการท่องเที่ยวเชิงนิเวศวัฒนธรรมให้แก่ผู้ประกอบการท่องเที่ยวในเขตพัฒนาราษฎรบนพื้นที่สูง จังหวัดอุทัยธานี ซึ่งเป็นจังหวัดทางภาคกลางตอนบนที่อยู่ในเขตการปกครองเดียวกับจังหวัดนครสวรรค์ ด้วยทุนวิจัยจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) พบว่า อุปสรรคสำคัญของการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงนิเวศวัฒนธรรม คือ ข้อจำกัดทางทักษะการใช้ภาษาอังกฤษ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในชาวไทยภูเขา "กะเหรี่ยงโปว์" ซึ่งส่วนใหญ่ตั้งถิ่นฐานอยู่ในพื้นที่ตำบลแก่นมะกรูด อำเภอบ้านไร่ และในพื้นที่บ้านภูเหม็น ตำบลทองหลาง อำเภอห้วยคต ซึ่งถือเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศวัฒนธรรมที่สำคัญของจังหวัดอุทัยธานี

เมื่อได้ศึกษาต้นทุนทางวัฒนธรรม และจุดเด่นของทั้งสองพื้นที่พบว่ามีความแตกต่างกัน โดยชาวชุมชนกะเหรี่ยงโปว์ในพื้นที่ตำบลแก่นมะกรูด อำเภอบ้านไร่ มีความโดดเด่นด้านการปลูกพืชเมืองหนาว จากการเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีภูมิอากาศหนาวที่สุดในภาคกลาง ซึ่งมีจุดเช็คอินเป็นไร่สตรอเบอร์รี่ที่แวดล้อมด้วยภูเขาและป่าใหญ่ ในขณะที่ ชาวชุมชนกะเหรี่ยงโปว์ในพื้นที่ตำบลบ้านเหม็น อำเภอห้วยคต จังหวัดอุทัยธานี จะขึ้นชื่อในด้านการนำผ้าซึ่งมีลวดลายอันเป็นเอกลักษณ์ประจำท้องถิ่นมาทำเป็นสินค้าหัตถกรรม

ฝึกภาษาอังกฤษฟื้นการท่องเที่ยว

ด้วยวิถีชีวิตที่รักสันโดษ และอยู่บนพื้นที่สูงซึ่งห่างไกลจากเขตเมือง จึงมักพบว่าชาวกะเหรี่ยงโปว์ส่วนใหญ่เมื่อพบผู้มาเยือนจากต่างถิ่น มักแสดงอาการเขินอาย ไม่ค่อยกล้าพูด โดยส่วนหนึ่งที่เข้ารับการอบรมยอมรับว่า กลัวพูดไม่ชัด ยิ่งเป็นภาษาอังกฤษด้วยแล้ว แทบจะไม่ได้พูดเลย แต่จริงๆ แล้วต้องการจะให้ทุกคนได้รู้จักและเข้าใจท้องถิ่นของตน ทั้งในฐานะที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของจังหวัดอุทัยธานี และต้องการที่จะเปิดสู่โลกกว้างในพื้นที่ออนไลน์

ทีมวิจัยเริ่มดำเนินโครงการจากการเก็บข้อมูล จัดอบรม-ประเมินผล และได้จัดทำเป็นคู่มือการใช้ภาษาอังกฤษเพื่อการท่องเที่ยวสำหรับชาวชุมชนกะเหรี่ยงโปว์ ที่มีทั้งภาษาไทย และภาษาอังกฤษ โดยได้แนะกลวิธีในการสื่อสารภาษาอังกฤษเพื่อให้สามารถพูดได้อย่างเป็นธรรมชาติ และรื่นไหล อาทิ การใช้เทคนิคการทับศัพท์ อธิบายความ และสร้างคำขึ้นมาใหม่ เช่น เมื่อพูดถึง "หัวหอมแดง" แต่นึกคำว่า "red onion" ไม่ออก อาจใช้เป็นการอธิบายแทนว่า "The red vegetable when you cut it you cry." แทน หรือ "ลายดอกไม้ป่า" ใช้ทับศัพท์ว่า "Lai Dok Mai Pa" แทนคำว่า "Wildflower Pattern" เป็นต้น ซึ่งการชี้ให้เห็นภาพประกอบด้วยจะช่วยทำให้เข้าใจได้มากขึ้น และเป็นการสื่อสารภาษาอังกฤษที่ใช้ในชีวิตจริงอีกด้วย

ที่สำคัญก่อนอื่น คือ จะต้องเปลี่ยนแปลงทัศนคติให้ได้เสียก่อนว่า การพูดภาษาอังกฤษไม่ใช่เรื่องยาก ไม่ใช่เรื่องน่าอาย และให้พร้อมเปิดใจเปิดรับผู้มาเยือน ซึ่งการได้ฝึกทักษะการใช้ภาษาอังกฤษจะเป็นการเพิ่มโอกาสในการเรียนรู้ และบอกเล่าเรื่องราวซึ่งเป็นความงามทางวัฒนธรรมและความเป็นเอกลักษณ์ของชุมชนสู่สากลได้ต่อไป

*********************

เรียบเรียงโดย งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล