posttoday

ไทยสร้างไทยหนุนตรากฏหมาย พรบ.อุ้มหาย

17 กันยายน 2564

วัฒนาเผย คณะทำงานด้านกฎหมายและการเมืองไทยสร้างไทย หนุนหนุนตรากฏหมาย พรบ.อุ้มหาย

นายวัฒนา เมืองสุข ประธานคณะทำงานด้านกฎหมายและการเมืองพรรคไทยสร้างไทย โพสต์ข้อความว่า

แถลงการณ์คณะทำงานด้านกฎหมายและการเมือง พรรคไทยสร้างไทย

พรรคไทยสร้างไทยเห็นด้วยที่สภาผู้แทนราษฏรลงมติรับหลักการร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ…. ด้วยเหตุผลสำคัญ คือ

ประเทศไทยได้เข้าเป็นภาคีอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการประติบัติ หรือการลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี พ.ศ. 2527 (Convention against Torture and Other Cruel, Inhuman or Degrading Treatment or Punishment) ตั้งแต่วันที่ 2 ตุลาคม 2550  และได้ลงนามอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ พ.ศ.2549 (International Convention for the Protection of All Persons form Enforced Disappearance) ตั้งแต่วันที่ 9 มกราคม 2555  ซึ่งการลงนามดังกล่าวแม้จะถือเป็นการแสดงเจตนารมณ์ของไทยที่มีความตั้งใจจริงในการส่งเสริม ปกป้องและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนก็ตาม แต่หากไม่มีการตรากฎหมายเพื่ออนุวัตให้เป็นไปตามเงื่อนไขของอนุสัญญาทั้งสองฉบับดังกล่าวข้างต้นก็ไม่อาจมีผลบังคับตามกฎหมายไทยได้

อย่างไรก็ตาม แม้การทรมานบุคคล หรือการกระทำให้บุคคลสูญหายจะเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา แต่ก็มีข้อจำกัดในการเอาผิดผู้เกี่ยวข้องได้เพียงผู้กระทำความผิด ตัวการ ผู้จ้างวานใช้ หรือผู้สนับสนุน เท่านั้น เนื่องจากประมวลกฎหมายอาญามิได้มีบทบัญญัติครอบคลุมถึงผู้บังคับบัญชาที่มิได้เป็นตัวการ ผู้จ้างวานใช้ หรือผู้สนับสนุนด้วย แต่การที่ร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวมีบทบัญญัติให้ลงโทษถึงผู้บังคับบัญชาที่ไม่ดำเนินการที่จำเป็นและเหมาะสมเพื่อป้องกันหรือระงับการกระทำความผิด หรือไม่ดำเนินการหรือส่งเรื่องให้ดำเนินคดีกับผู้ใต้บังคับบัญชาที่กระทำความผิดดังกล่าวด้วยจะทำให้ผู้บังคับบัญชาต้องมีความระมัดระวังควบคุมดูแลผู้ใต้บังคับบัญชาอันจะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดการกระทำความผิดดังกล่าว

แต่เพื่อให้กฎหมายมีความสมบูรณ์สมตามเจตนารมณ์ที่จะปกป้องและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน พรรคไทยสร้างไทยขอเสนอให้คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ได้แปรญัตติเพิ่มเติมร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวในประเด็น ดังนี้

(1) โดยที่ลักษณะของการกระทำความผิดที่ผู้กระทำเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ส่วนผู้ถูกกระทำคือผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดในคดีอาญาซึ่งเป็นผู้ด้อยฐานะหรือไม่มีตัวตนทางสังคม (nobody) รวมทั้งมีฐานะยากจนซึ่งรวมถึงครอบครัวของผู้ถูกกระทำด้วย ดังนั้น กฎหมายจึงควรมีบทบัญญัติให้มีองค์กรที่ให้ความคุ้มครองและดูแลผู้เสียหาย ทั้งด้านความปลอดภัยและด้านเศรษฐกิจจนกว่าคดีจะถึงที่สุด รวมทั้งอำนวยความสะดวกแก่ผู้เสียหายเพื่อให้มีความสามารถในการดำเนินคดีและป้องกันไม่ให้เจ้าหน้าที่รัฐใช้อิทธิพลเหนือผู้เสียหายอันจะทำให้เสียความยุติธรรมในระหว่างการดำเนินคดี

(2) เพื่อเป็นการขจัดปัญหาที่ต้นเหตุ พรรคไทยสร้างไทยเสนอให้มีบทบัญญัติห้ามศาลรับฟังพยานหลักฐานที่เกิดจากการกระทำความผิดของเจ้าหน้าที่ ยกเว้นใช้เป็นพยานหลักฐานดำเนินคดีแก่ผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำการทรมานอันเป็นไปตามข้อ 15 ของอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการประติบัติ หรือการลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรีที่บัญญัติว่า Each State Party shall ensure that any statement which is established to have been made as a result of torture shall not be invoked as evidence in any proceedings, except against a person accused of torture as evidence that the statement was made. (รัฐภาคีจะต้องรับรองว่าพยานหลักฐานที่ได้มาโดยการทรมานไม่อาจใช้เป็นพยานหลักฐานในการดำเนินคดีได้ ยกเว้น ใช้เป็นพยานหลักฐานดำเนินคดีกับผู้ที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำทรมานจนได้มาซึ่งพยานหลักฐานนั้น)

(3) เนื่องจากการฆ่าผู้อื่นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ระวางโทษสูงสุดคือประหารชีวิต ส่วนการฆ่าผู้อื่นโดยทรมานหรือโดยกระทำทารุณโหดร้ายตามมาตรา 289 (5) ต้องระวางโทษประหารชีวิตสถานเดียว แต่การกระทำความผิดฐานกระทำทรมาน หรือฐานทำให้บุคคลสูญหายจนเป็นเหตุให้ผู้ถูกกระทำถึงแก่ความตาย ตามร่างพระราชบัญญัติมาตรา 28 และ 29 ตามลำดับกลับระวางโทษผู้กระทำความผิดสูงสุดเพียงจำคุกตลอดชีวิตอันเป็นอัตราโทษที่ต่ำกว่าที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งอาจจะเป็นการส่งสัญญาณผิดว่าผู้กระทำความผิดที่เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐจะถูกลงโทษน้อยกว่าประชาชนทั่วไป อันเป็นการเลือกปฏิบัติและไม่ความเสมอภาคซึ่งขัดต่อหลักนิติธรรม คณะกรรมาธิการจึงควรแปรญัตติเรื่องโทษให้สอดคล้องกับประมวลกฎหมายอาญาด้วย

พรรคไทยสร้างไทยขอสนับสนุนการตรากฎหมายดังกล่าวให้มีผลครอบคลุมตามข้อเสนอดังกล่าวข้างต้น ที่นอกจากจะมีผลเป็นการยกระดับความน่าเชื่อถือของประเทศในด้านการปกป้องและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนที่ไทยเคยถูกกล่าวหาว่าเป็นประเทศที่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนมากเป็นลำดับต้นๆ ของโลกเมื่อคราวเกิดการยึดอำนาจการปกครองแล้ว ยังจะทำให้ประชาคมโลกโดยเฉพาะนักท่องเที่ยวและนักลงทุนเกิดความเชื่อมั่นในระบบกฎหมายของไทยซึ่งจะเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาวต่อไป

ที่มา https://web.facebook.com/106258091769465/photos/a.113456474382960/118547563873851/