posttoday

ต่ออายุมาตรการลดค่าครองชีพ

21 ธันวาคม 2553

ครม.ต่ออายุมาตรการอุ้มค่าครองชีพ ค่าไฟ รถเมล์ รถไฟฟรีออกอีก2เดือนสิ้นสุดก.พ.54 เป็นการชั่วคราวก่อนจะคลอดมาตรการแบบยั่งยืน ระบุขึ้นเงินเดือนอบต.ไม่กระทบรายจ่ายประเทศ

ครม.ต่ออายุมาตรการอุ้มค่าครองชีพ ค่าไฟ รถเมล์ รถไฟฟรีออกอีก2เดือนสิ้นสุดก.พ.54 เป็นการชั่วคราวก่อนจะคลอดมาตรการแบบยั่งยืน ระบุขึ้นเงินเดือนอบต.ไม่กระทบรายจ่ายประเทศ

นายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้ต่ออายุมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพ ประกอบด้วย ค่าไฟฟรี รถเมล์ฟรี และรถไฟฟรีออกไปอีก 2 เดือน สิ้นสุดที่ก.พ.54 จากเดิมจะต้องสิ้นสุดที่ ธ.ค.53 โดยการต่ออายุดังกล่าวเป็นเพียงนโยบายชั่วคราวเท่านั้น

เนื่องจากนายกรัฐมนตรีมีนโยบายจะหามาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพแบบยั่งยืนให้กับประชาชน โดยจะเป็นผู้แถลงด้วยตัวเองในวันที่9มกราคม2554

สำหรับการต่อออายุมาตรการดังกล่าวออกไปอีก 2 เดือน รัฐจะต้องใช้งบประมาณทั้งหมด 3,085 ล้านบาท แบ่งเป็น งบในส่วนของค่าไฟ รวม 2,488บาท เป็นส่วนที่ต้องจ่ายให้กับกฟผ.261บาท และส่วนภูมิภาค 2,226บาท งบในส่วนของรถไฟฟรี 177 ล้านบาท และงบในส่วนของรถเมล์ฟรีที่ต้องจ่ายให้กับขสมก.420ล้านบาท

ทั้งนี้ ตั้งแต่มีการใช้มาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพ จำนวนผู้ได้รับประโยชน์ ประกอบด้วย ค่าไฟ สำหรับ 9.16 ล้านครัวเรือน รถเมล์ มีผู้โดยสารใช้ 604 ล้านเที่ยว และรถไฟ 54 ล้านคน ซึ่งปฎิเสธไม่ได้ว่านโยบายดังกล่าวมีส่วนช่วยดูแลค่าครองชีพของประชาชนจริง

ด้านการปรับขึ้นเงินเดือน อบต.ตามมติครม.ส่งผลกระทบต่อรายจ่ายของทั้งประเทศเพียง 1,000ล้านบาท หรือ 1.1%เท่านั้น กรมบัญชีกลางจึงสรุปได้ว่าไม่มีผลกระทบต่อความสามารถในการใช้งบเพื่อดูแลประชาชานในส่วนอื่นๆ และการขึ้นเงินเดือนครั้งนี้จะช่วยลดช่องว่างเงินเดือนระหว่นงอบต.กับ อบจ.และนายกเทศมนตรี

เล็งให้ค่าไฟฟรีเป็นมาตรการถาวร

นายกรณ์ ได้กล่าวในที่ประชุม ครม. ว่า สาเหตุที่การต่ออายุมาตรการนี้เพียง 2 เดือน เนื่องจากขณะนี้รัฐบาลเตรียมพิจารณามาตรการระยะยาว ที่มีผลถาวร เช่น ค่าไฟฟรี ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างการศึกษาและรวบรวมข้อมูลเพื่อมอบให้นายกฯ และรัฐบาลได้ประกาศในโครงการประชาวิวัฒน์ในวันที่ 9 ม.ค. 2554 นี้  ซึ่งภาระค่าใช้จ่ายของการทำมาตรการถาวรทาง รมว.คลัง จะให้อยู่ในหมวดค่าใช้จ่ายเพื่อสาธารณะ หรือ งบบริการสังคมของรัฐวิสาหกิจที่จะปรับเข้าสู่ระบบการให้เงินอุดหนุนบริการสาธารณะของรัฐวิสาหกิจ (PSO)

"งบที่ตั้งไว้ 3,085 ล้านบาทถึงเดือน ก.พ. 2554  อาจจใช้ไม่ถึง เพราะรัฐบาลอาจประกาศมาตรการบางตัว เช่น ค่าไฟฟ้าฟรีเป็นมาตรการถาวรในช่วงต้นปี 2554 นี้" นายวัชระกล่าว

ทั้งนี้การดำเนินมาตรการดังกล่าว ทำให้รัฐวิสาหกิจมีภาระหนี้สินจากการกู้เงินเพื่อชดชเยรายได้จากการดำเนินมาตรการดังกล่าวเป็นจำนวนมาก เนื่องจากรัฐบาลไม่สามารถจัดสรรงบประมาณชดเชยได้ทันที ซึ่งรัฐวิสาหกิจมีเงินกู้ยืมเพื่อชดเชยรายได้จำนวน 3.61 หมื่นล้านบาท ซึ่งได้รับเงินชดเชยจากสำนักงบประมาณแล้ว 1.58 หมื่นล้านบาท หรือ 44.92 %  ดังนั้นเมื่อครบระยะเวลาสิ้นสุดมาตรการก็สมควรที่จะยกเลิกบางตัวไปและบางเรื่องอาจให้คงอยู่ต่อไปเพื่อลดภาระค่าครองชีพให้ประชาชนในระยะยาว