posttoday

ทีมศก."ไทยไม่ทน"เสนอเร่งฉีดวัคซีนเศรษฐกิจ

17 กรกฎาคม 2564

หัวหน้าทีมเศรษฐกิจไทยไม่ทน ชี้ ยิ่งล็อกดาวน์เข้มข้น ธุรกิจใหญ่น้อยยิ่งทรุดหนัก เสนอรัฐ เร่งฉีดวัคซีนเศรษฐกิจ แนะลดภาระภาษีแทนจ่ายเยียวยา

เมื่อวันที่ 17 กค. 64 นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล หัวหน้าทีมเศรษฐกิจไทยไม่ทน โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุว่า “ฉีดวัคซีนเศรษฐกิจ”

รัฐบาลพลเอกประยุทธ์บริหารประเทศ สร้างปัญหาหลายอย่าง วัคซีนล่าช้า ภาพพจน์ประเทศติดลบ ท่องเที่ยวฟื้นยาก ทำให้เศรษฐกิจเข้าจุดอับ

รัฐบาลอาศัยกฎหมายฉุกเฉินเป็นเครื่องมือหลัก มาเป็นเวลานานมากกว่าประเทศอื่นๆ

ล่าสุดเฟซบุ๊กของพลเอกประยุทธ์เปิดเผยว่า ยังจะต้องเพิ่มความเข้มข้นมาตรการอีก ผมวิเคราะห์ว่า น่าจะเพื่อป้องปรามการชุมนุมประท้วง ซึ่งมีแนวโน้มจะหนักมากขึ้น

ยิ่งใช้มาตรการล็อคดาวน์แบบเข้มหนักขึ้น ธุรกิจใหญ่น้อยก็ยิ่งทรุดหนักลงไปอีก ทั้งนี้ ถึงแม้ในเฟซบุ๊กกล่าวว่า รัฐบาลจะชดเชยธุรกิจ ที่จะได้รับผลกระทบจากการยกระดับดังกล่าว

แต่ผมเกรงว่า จะมีความยุ่งยากในการจ่ายชดเชย

เพราะตามหลักวินัยการเงินการคลัง จำเป็นจะต้องจัดให้มีขบวนการพิสูจน์จำนวนเงินและความเสียหาย ซึ่งถ้าเข้มงวด ก็จะไม่ได้ผล

ถ้าหละหลวม ก็จะเปิดประตูมหกรรมการฉ้อราษฎร์บังหลวงครั้งใหญ่ และการใช้เงิน 1 ล้านล้านที่ผ่านมา ก็อาจจะประสบปัญหานี้อยู่แล้ว

โดยผมได้ข้อมูลว่า กระบวนการใช้เงินในบางโครงการ มีข้อมูลว่า สตง. อาจจะยังไม่สามารถตรวจสอบยืนยันการมีตัวตนของผู้รับอย่างเต็มที่ หรือไม่

ข้อมูลนี้ผมไม่สามารถตรวจสอบได้ แต่เห็นว่าเป็นข้อสังเกตที่ส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ควรจะสอบถามและชี้แจงให้ประชาชนคลายข้อสงสัยโดยเร็ว

ในด้านบริหารเศรษฐกิจนั้น จึงจำเป็นต้องถ่วงดุลกับเป้าหมายสาธารณสุข และล็อคดาวน์เฉพาะในลักษณะและรูปแบบที่ส่งผลน้อยที่สุด

อย่างไรก็ดี มีปัญหาขณะนี้ว่า พ่อค้าแม่ค้า และประชาชนผู้ที่ได้รับความเสียหาย จากการบริหารประเทศแบบนี้ สังคมจะมีทางช่วยเหลือได้อย่างไร

ที่ผ่านมา รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ช่วยเหลือด้านเงินหมุนเวียน cash flow เป็นหลัก เช่น พักชำระหนี้ และจัดวงเงินให้กู้เพิ่ม

แต่หนี้ที่พักนั้นไม่ได้หายไปไหน ลูกหนี้มีภาระจะต้องจ่ายให้ครบในอนาคต

ที่สำคัญก็คือ ระหว่างนี้ดอกเบี้ยก็ยังบานสะพรั่งโดยตลอด เป็นภาระต่อลูกหนี้แบบรายวัน ทั้งต่อพ่อค้าแม่ค้า และต่อประชาชนที่ตกงานหรือรายได้หดหาย

ถามว่า จะมีวิธีช่วยเหลือที่ดีกว่าได้อย่างไร ทั้งสำหรับนักธุรกิจ และครัวเรือนที่แบกภาระหนี้อยู่ในระดับสูงสุดในอาเซียน

ขณะนี้มีเสียงเรียกร้องให้พักการคิดดอกเบี้ยสักระยะเวลาหนึ่ง เช่น 6 เดือน โดยล่าสุด คุณพิภพ ธงไชย ได้ขอให้ผมพิจารณาแนวทาง

ในเรื่องการพักดอกเบี้ยนั้น มีคนที่เกี่ยวข้องอยู่ 3 กลุ่ม คือ ลูกหนี้ แบงก์ซึ่งเป็นตัวกลางตลอดจนผู้ถือหุ้น และเจ้าหนี้ผู้ฝากเงิน

ถ้าหากรัฐบาลออกระเบียบ บังคับให้แบงก์หยุดคิดดอกเบี้ยลูกหนี้ชั่วคราว โดยไม่ชดเชยให้แก่แบงก์ ก็ย่อมจะถูกฟ้องศาลปกครอง

ผมเองเห็นว่า ถึงเวลาที่ทั้ง 3 กลุ่มจะต้องช่วยกัน สร้าง ‘วัคซีนเศรษฐกิจ’ (ศัพท์ของคุณพิภพ) ซึ่งจะต้องใช้ทั้งนโยบายการเงินและนโยบายการคลัง

โดยด้านนโยบายการเงิน ดำเนินการดังนี้

1 ใช้อำนาจตามกฎหมาย ธปท. กำหนดเพดานดอกเบี้ยที่แบงก์จะคิดจากลูกหนี้ เป็นการชั่วคราว 6 เดือน

2 เน้นช่วยเหลือลูกหนี้รายเล็กมากกว่ารายใหญ่ โดยกำหนดเพดานเป็นขั้นบันได เช่น ต่ำกว่า 10 ล้านบาท คิดได้ 0% , 10-100 ล้าน คิดได้ 0.5% , 100-1,000 ล้าน คิดได้ 1.0% ส่วนลูกหนี้เกิน 1,000 ล้านไม่อยู่ในโครงการ

3 ใช้อำนาจตามกฎหมาย ธปท. กำหนดเพดานดอกเบี้ยที่แบงก์จะจ่ายให้แก่ผู้ฝาก เป็นการชั่วคราว 6 เดือน

4 เน้นให้ผู้ฝากรายใหญ่เป็นผู้แบกภาระมากกว่ารายเล็ก โดยกำหนดเพดานเป็นขั้นบันได เช่น ต่ำกว่า 10 ล้านบาท จ่ายได้ตามปกติ , 10-100 ล้าน จ่ายได้ 0.5% , 100-1,000 ล้าน จ่ายได้ 0.25% , เกินกว่า 1,000 ล้าน จ่ายได้ 0%

ทั้งนี้ เพื่อป้องกันการหลีกเลี่ยง ให้ใช้ตัวเลข ณ วันที่ 30 มิ.ย. 2564 เป็นฐานในการจัดกลุ่ม

5 สำหรับลูกหนี้ที่กู้บริษัทเอกชน เช่น บัตรเครดิตของผู้ค้าปลีก และผ่อนรถยนต์ ก็ควรจะพิจารณากำหนดเพดานดอกเบี้ยด้วย ทั้งดอกเบี้ยที่แบงก์คิดจากบริษัทเหล่านี้ และดอกเบี้ยที่บริษัทเหล่านี้คิดจากลูกหนี้

รวมทั้งพิจารณาหาทางให้ชะลอการจ่ายค่างวด 6 เดือน โดยโปะเข้าไปท้ายสัญญา เป็นต้น

แนวทางนี้ ย่อมจะกระทบผู้ฝากรายใหญ่เป็นหลัก และกระทบผู้ถือหุ้นแบงก์เป็นลำดับรอง แต่จะเป็นการเปิดศักราชใหม่ เรียกร้องให้คนรวยเข้ามาช่วยคนจน

ผมเสนอมาตรการนี้ เพื่อเป็นทางรอดแก่พ่อค้าแม่ค้ารายย่อย และประชาชนที่เผชิญความยากลำบาก โดยเชิญชวนให้คนรวยมีฐานะมองว่า เป็นมาตรการที่จะช่วยตัวท่านเองด้วยในอนาคตเพราะถ้าหากสามารถฟื้นธุรกิจและการจ้างงานได้ ถึงแม้ในอนาคต รัฐมีความจำเป็นที่จะต้องปฏิรูปเพื่อเก็บภาษีจากคนรวยมากขึ้น ก็ยังสามารถชะลอเรื่องนี้เอาไว้ จนกว่าผ่านวิกฤตโควิดไปเสียก่อน

ส่วนนโยบายการคลังนั้น ควรเปลี่ยนจากการกู้เงินเพื่อมาจ่ายเยียวยา เพราะมีลักษณะเป็นการขยายฐานเสียงประชานิยม และมีความเสี่ยงเงินรั่วไหล ควรเปลี่ยนเป็นการลดภาระภาษี เพื่อให้ประชาชนมีเงินเหลืออยู่ในมือมากขึ้น โดยการถ่างขั้นบันไดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เพื่อให้ผู้ที่มีรายได้ระดับล่าง มีภาระภาษีน้อยลงเป็นการชั่วคราว