posttoday

เด็กปชป.ถามรัฐคนฉีดซิโนแวค2เข็มแล้วยังไงต่อหรือต้องดิ้นรนหาเข็ม3เอง

13 กรกฎาคม 2564

"พิมพ์รพี"ถามรัฐคนฉีกซิโนแวค2เข็มแล้วยังไงต่อหรือต้องดิ้นรนหาเข็ม3เอง แนะรัฐควรดูแลคนป่วยอย่างเป็นระบบมากกว่านี้

วันที่ 13 ก.ค. น.ส.พิมพ์รพี พันธุ์วิชาติกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการควบคุมสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ว่าแม้รัฐบาลจะพยายามออกมาตรการหลายอย่าง แต่ต้องยอมรับความจริงว่ามักจะช้าไปก้าวหนึ่งเสมอ เช่น โฮมควอรันทีน โลคอลควอรันทีน ซึ่งที่จังหวัดกระบี่เดินหน้าเรื่องโลคอลควอรันทีนมานานแล้ว นโยบายที่รัฐออกมาจึงช้ากว่าการจัดการของโลก จึงขอถามไปข้างหน้าถึงจังหวัดท่องเที่ยวที่มีโรงแรมมากๆ รวมถึง จ.ภูเก็ต ในเรื่องความปลอดภัย เพราะแม้จะมีการฉีดซิโนแวคไปสองเข็มแล้ว แต่ล่าสุด ภาครัฐยอมรับการฉีดสองเข็มภูมิยังไม่ขึ้น ต้องมีบูสเข็มสาม และยังจะให้มีการฉีดแอสตร้าเซนเนก้าด้วย คำถามคือ การสร้างความเชื่อมั่นต่อจากนี้จะทำอย่างไร คนที่ฉีดวัคซีนซิโนแวคไปสองเข็มแล้วจะได้รับเข็มสามจากภาครัฐจัดหาหรือไม่ หรือต้องเข้าสู่โหมดพึ่งตัวเอง รัฐบาลต้องคิดไปข้างหน้าและให้คำตอบกับประชาชน ก่อนที่ประชาชนจะถาม ทุกนโยบายที่ออกมาจึงต้องมีคำอธิบายที่ชัดเจน ไม่ใช่ตามแก้ในภายหลัง จะยิ่งบั่นทอนความเชื่อมั่นที่ประชาชนมีต่อรัฐบาล

น.ส.พิมพ์รพีกล่าวต่อว่า ยังมีปัญหานำผู้ป่วยจาก กทม.กลับบ้านในต่างจังหวัด ในส่วนกลางยังไม่มีมาตรการเชื่อมโยงกับจังหวัดต่างๆ เลย มีแต่แต่ละจังหวัดต้องดิ้นรนกันเอาเองทั้งสิ้น ถ้ามีการดำเนินการอย่างเป็นระบบประสานจากส่วนกลางสู่จังหวัดจะทำให้การเข้าถึงระบบสาธารณสุขของผู้ป่วยทำได้ง่ายขึ้น และยังช่วยกระจายผู้ป่วยเข้าสู่การรักษาในพื้นที่ที่ยังไม่เกิดวิกฤตสาธารณสุข ผ่อนคลายสถานการณ์ภายใน กทม.ได้ด้วย เรื่องเหล่านี้รัฐบาลต้องทำอย่างเป็นระบบ แต่ตอนนี้เรายังไม่เห็น และปัญหาใหญ่อีกประเด็นคือการส่งผู้ป่วยกลับบ้านเกิด ถ้าระยะทางใกล้ ความยุ่งยากน้อย แต่ถ้าระยะทางไกล จะเป็นปัญหามาก เนื่องจากรถที่ใช้รับส่งยังไม่มีการกั้นระหว่างคนขับกับผู้โดยสารอย่างเป็นมาตรฐาน มีการใช้แอร์ร่วมกัน ไม่เพียงคนขับเสี่ยง กู้ภัยที่นั่งไปด้วยเป็นเวลากว่าสิบชั่วโมงก็หนีไม่พ้นความเสี่ยงด้วยเช่นเดียวกัน ซึ่งตอนนี้ ส.ส.ช่วยประสานกันเต็มที่ แต่รัฐควรมีมาตรการที่เป็นระบบและมีหน่วยงานเจ้าภาพในเรื่องนี้ด้วย

“หลายเรื่องที่รัฐบาลดำเนินการขณะนี้เป็นเรื่องดี แต่ช้าไป ไม่ว่าจะเป็นยาฟ้าทะลายโจร หรือระบบการรักษาทางไกล ให้ผู้ป่วยสีเขียวรักษาตัวที่บ้าน ซึ่งก็ไม่อยากฟื้นฝอยหาตะเข็บว่าเกิดจากปัญหาอะไร แต่อยากให้เป็นบทเรียนที่ต้องตระหนักว่า การออกนโยบายต้องคิดไปข้างหน้า ไม่ใช่ตามแก้หลังเกิดปัญหา ซึ่ง จ.กระบี่ ตอนนี้พบการติดเชื้อในโรงเรียนปอเนาะถึงหนึ่งพันคน ทำให้บุคลากรทางการแพทย์ทำงานหนักมาก กรมการแพทย์ควรประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตั้งหลักเกณฑ์ปิดโรงเรียนในพื้นที่เสี่ยง เพราะเมื่อเกิดปัญหาแล้วตามแก้ไขยาก เนื่องจากการระบาดไปไกลและยังเป็นภาระงบประมาณด้วย” น.ส.พิมพ์รพีกล่าว