posttoday

'ก้าวไกล'อัดร่างแก้ไขรธน.ของปชป.แย่ที่สุด แฉมีการเอาร่างที่ถูกตีตกมายัดไส้

12 กรกฎาคม 2564

'ก้าวไกล'ซัดร่างแก้ไขรธน.ฉบับประชาธิปัตย์แย่ที่สุด พร้อมแฉมีการเอาร่างที่ถูกตีตกไปผสม ชี้แก้ปัญหาวิกฤตชาติไม่ได้

วันที่ 12 ก.ค. นายธีรัจชัย พันธุมาศ และนายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล (ก.ก.) แถลงถึงความคืบหน้าและจุดยืนของพรรค ก.ก.ต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยนายธีรัจชัยกล่าวว่า ในคณะกรรมาธิการ (กมธ.) แก้รัฐธรรมนูญขณะนี้เป็นการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคประชาธิปัตย์ในมาตรา 83 และ 91 ที่เกี่ยวกับจำนวน ส.ส.แบบแบ่งเขต 400 คน กับแบบบัญชีรายชื่อ 100 คน และเรื่องเกี่ยวกับวิธีการคำนวณสัดส่วนไม่ใช่การแก้ไขระบบเลือกตั้งทั้งระบบ โดยขณะนี้อยู่ในช่วงแปรญัตติ ซึ่งวันที่ 10 กรกฎาคม ได้แปรญัตติเสร็จเรียบร้อยแล้ว โดยมีผู้แปรญัตติทั้งหมด 48 ฉบับ มี ส.ส.และ ส.ว.แปรญัตติ 54 คน ซึ่งเรื่องที่น่าสนใจคือ ในการแปรญัตติมีสมาชิกนำร่างที่ตกไปแล้วทั้งหลักการและเหตุผล คือร่างของพรรคพลังประชารัฐและร่างของพรรคเพื่อไทยเข้ามาแปรญัตติด้วย การที่สภาไม่รับหลักการในวาระที่ 1 และพยายามนำมาใส่ในการแปรญัตตินั้น ทั้งๆ ที่ร่างของพรรคประชาธิปัตย์แก้ไขแค่มาตรา 83 และ 91 แต่พยายามนำร่างที่แก้ไข 8 มาตราเข้ามารวมด้วยอีก ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาเกี่ยวกับหลักความมั่นคงของนิติบัญญัติ

นายธีรัจชัยกล่าวต่อว่า ในข้อบังคับการประชุมรัฐสภาข้อที่ 14 เกี่ยวกับหลักการแปรญัตติในวาระที่ 1 จะต้องเป็นหลักการที่ชัดเจนแน่นอน จะเปลี่ยนแปลงไม่ได้ แต่การที่มี ส.ส.บางส่วนพยายามนำร่างที่ตกไปแล้วเข้ามา พรรคก้าวไกลเห็นว่าไม่ควรจะทำเช่นนั้นและไม่น่าจะชอบธรรม เมื่อรัฐสภาไม่รับหลักการในวาระที่ 1 ก็ควรจะไปยื่นเข้ามาใหม่เพื่อเสนอกับรัฐสภาอีกครั้ง ไม่ใช่นำมายัดเยียดในร่างที่ไม่ได้มีหลักการเหมือนกัน นอกจากนี้ ยังมีสมาชิกบางส่วนที่ค่อนข้างจะเป็นพรรคใหญ่ของ กมธ.ชุดนี้พยายามผลักดันเพื่อให้มีการเลือกตั้งในรูปแบบที่ตัวเองต้องการ โดยไม่ได้คำนึงถึงหลักความมั่นคงของกระบวนการนิติบัญญัติ ซึ่งเราเห็นว่าเรื่องนี้ไม่น่าจะผ่านไปได้ แต่เนื่องจากมีการเลื่อนการประชุม กมธ.ไปเป็นวันที่ 27 และ 30 กรกฎาคม ซึ่งก็คงจะต้องมีการพิจารณาว่าร่างที่ทางฝ่ายพรรคการเมืองขนาดใหญ่ 2 พรรคพยายามแปรญัตติเข้ามาจะสามารถดำเนินการต่อได้หรือไม่ การที่จะแปรญัตติโดยอ้างข้อบังคับข้อที่ 154 ที่ระบุว่า สามารถแก้ไขเพิ่มเติมในมาตราที่เกี่ยวข้องกับหลักการได้ แต่ต้องไม่ใช่แก้ไขในจำนวนมากเช่นนี้ หลักความจำเป็นและสมควรแก่เหตุตามหลักกฎหมายมหาชนเป็นสิ่งที่ต้องพิจารณา การเพิ่มมาตราอื่นต้องคำนึงถึงความจำเป็น คือแก้ไขจำนวนน้อยเท่านั้น และต้องมีความเหมาะสม การจะแก้ไขเพิ่มเป็น 8 มาตรา ตนคิดว่าน่าจะไม่ชอบ หากทำเช่นนี้ต่อไปหลักความมั่นคงของนิติบัญญัติของประเทศเราจะเสียไป พรรคก้าวไกลจะยืนหยัดและจะใช้เหตุผลทางด้านหลักกฎหมาย หลักวิชาการ และประวัติศาสตร์ต่างๆ ขึ้นมาโต้แย้ง เพื่อวางหลักบ้านเมืองให้มั่นคง และไม่ให้ร่างที่ตกไปแล้วยัดเยียดกลับเข้ามาแก้ไขอีก

ด้านนายรังสิมันต์กล่าวว่า ท่ามกลางวิกฤตโควิด เรามีวิกฤตเรื้อรังคือวิกฤตรัฐธรรมนูญ ศาลรัฐธรรมนูญสามารถยุบพรรคการเมืองได้ องค์กรอิสระไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างเต็มที่ กกต.มีปัญหาบัตรเขย่ง เมื่อเจอภัยต่างๆ ที่เข้ามา รัฐบาลที่ไม่มีประสิทธิภาพก็ไม่สามารถบริหารจัดการได้ เมื่อประชาชนไม่ต้องการรัฐบาลนี้แล้วก็ไม่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองได้ รัฐธรรมนูญแบบนี้ได้กำหนดไว้แล้วว่าถ้ามีรัฐธรรมนูญนี้จะต้องมีชายที่ชื่อว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีเสมอ ฉะนั้น สิ่งที่พรรคก้าวไกลต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญก็เพื่อให้มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ออกจากวิกฤตที่กำลังเผชิญอยู่ แต่การแก้รัฐธรรมนูญหลายครั้งที่ผ่านมาไม่ได้นำไปสู่การแก้ไขวิกฤตที่แท้จริง ฉบับที่เป็นการแก้ไขใจกลางของปัญหา เช่น การยกเลิกอำนาจ ส.ว.ในการเลือกนายกรัฐมนตรีก็ถูกตีตกไป แต่ร่างที่ผ่านการรับหลักการมีแค่ฉบับเดียว คือร่างที่ว่าด้วยระบบเลือกตั้ง ซึ่งเป็นร่างที่พิกลพิการที่สุด คำถามคือเจตนาของการผ่านร่างฉบับนี้เพื่ออะไร วิกฤตสำคัญตอนนี้มีหลายเรื่อง แต่เรื่องที่กำลังทำในการแก้รัฐธรรมนูญตอนนี้ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งหรือส่วนสำคัญในการแก้วิกฤต พรรคก้าวไกลยืนยันมาตลอดว่าหากจะมีการแก้ไขระบบเลือกตั้งควรให้มีการเลือก ส.ส.ร.ขึ้นมา ใครอยากได้ระบบเลือกตั้งแบบไหนให้หาเสียงกับประชาชน เราก็จะได้ระบบเลือกตั้งที่เป็นธรรมกับทุกฝ่าย แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ตอนนี้รัฐบาลกำลังจะไปไม่ได้ก็มีความพยายามในการเกี้ยเซี้ย ดัดแปลงพันธุกรรมทำให้เกิดรัฐธรรมนูญกลายพันธุ์เพื่อให้สามารถสถาปนาอำนาจของตัวเองขึ้นมาแล้วอยู่ในภายใต้โครงสร้างการเมืองต่อไปในอนาคต และพยายามสร้างคำอธิบายว่าเราแก้รัฐธรรมนูญแล้ว

นายรังสิมันต์กล่าวต่อว่า ตนสรุปการแก้รัฐธรรมนูญได้ 2 คำคือ 1.สอดไส้ และ 2.ไม่มีกระดูกสันหลัง ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ว่าด้วยระบบเลือกตั้งฉบับของพรรคประชาธิปัตย์แย่ที่สุด เพราะไม่มีการพูดถึงรายละเอียด แต่ในชั้น กมธ.กลับมีความพยายามในการแก้ร่างของพรรคประชาธิปัตย์ให้เป็นร่างพรรคเพื่อไทยและพรรคพลังประชารัฐรวมกัน ถ้าเป็นเช่นนั้นเราจะพิจารณาในวาระที่ 1 กันไปทำไม หากสุดท้ายนำ 2 ร่างที่ตกไปแล้วกลับเข้ามา เราไม่จำเป็นต้องมีวาระที่ 1 เลย นึกจะแก้อะไรก็แก้กันไปเลย หากทำกันเช่นนี้ สภาหรือสิ่งที่เคยทำกันมาก็เสียหายกันไปหมด ความจริงแล้ววันพรุ่งนี้จะมีการตัดสินกันใน กมธ.ว่าจะมีขอบเขตในการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้แค่ไหน แต่มีการเลื่อนประชุมออกไปเพราะสถานการณ์โควิด แต่ความพยายามในการสอดไส้เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญในแบบที่ตัวเองต้องการยังคงมีอยู่

“ผมอยากให้ประชาชนช่วยกันจับตาถึงความพยายามในการสอดไส้ และผมคิดว่าการจับตาจะเป็นพลังหนึ่งที่ทำให้คนเหล่านี้ได้สติ เรามีบทเรียนกับความพยายามในการสอดไส้โดยไม่สนใจหลักการที่ควรจะเป็นมาหลายครั้งแล้ว อย่าคิดว่าการฉวยโอกาสครั้งนี้จะนำไปสู่ผลประโยชน์ที่ท่านต้องการ เพราะในระยะยาวคนที่เสียหาย คนที่แพ้มากที่สุดคือประเทศนี้ ผมยืนยันว่าอย่าแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยเพิกเฉยต่อความเป็นความตายต่อวิกฤตประเทศนี้ เราต้องการเห็นรัฐธรรมนูญที่มีคุณภาพ ต้องการเห็นรัฐธรรมนูญที่บันดาลการจัดตั้งรัฐบาลที่เป็นของประชาชน รัฐบาลที่ไม่จำเป็นต้องขับเคลื่อนด้วยการด่า แต่พร้อมที่จะแก้ปัญหาเพื่อพี่น้องประชาชนอย่างแท้จริง ผมขอเรียกร้องต่อพรรคการเมืองทุกพรรค และ ส.ส.ทุกคนทั้งใน กมธ.และนอก กมธ.ขอให้มีกระดูกสันหลัง อย่าสอดไส้อีกเลย เราเจ็บปวดกับเรื่องแบบนี้มามากพอแล้ว” นายรังสิมันต์กล่าว