posttoday

กลุ่มRe-solutionชี้พปชร.แก้ระบบเลือกตั้งหวังเอื้อพรรคใหญ่ ย้ำต้องล้มสว.

17 มิถุนายน 2564

แกนนำกลุ่ม Re-solution ชี้ พปชร.ต้องการแก้ระบบเลือกตั้งหวังเอื้อพรรคใหญ่ก่อนยุบสภาฯ ย้ำจะทำลายการสืบทอดอำนาจต้องล้ม ส.ว.เท่านั้น

เมื่อวันที่ 17 มิ.ย. นางสาวธิษะณา ชุณหะวัณ แกนนำกลุ่ม Re-solution กล่าวถึง กรณีที่คณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) ที่เบื้องต้นได้ข้อตกลงร่วมกันระหว่าง ส.ส. และ ส.ว. ว่าจะเปิดประชุมร่วมรัฐสภาในวันที่ 22-23 มิถุนายน เพื่อพิจารณาญัตติแก้รัฐธรรมนูญรายมาตรา ซึ่งขณะนี้มีญัตติแก้รัฐธรรมนูญรายมาตราที่เสนอโดยนายไพบูลย์ นิติตะวัน มีหลักการสำคัญคือ การเปลี่ยนระบบเลือกตั้ง แต่ไม่มีเรื่องการตัดอำนาจ ส.ว.ในการโหวตนายกรัฐมนตรีหรืออำนาจอื่นๆแต่อย่างใด รวมทั้งยังได้มีการเสนอข่าวในหน้าสื่อมวลชนด้วยจากประธานวิปรัฐบาลคือ นายวิรัช รัตนเศรษฐ ว่า หากญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราของพรรคพลังประชารัฐ ได้รับความเห็นชอบวาระรับหลักการจากรัฐสภา จะเข้าสู่ขั้นตอนตั้งคณะกรรมาธิการ มาพิจารณาวาระสอง คาดว่าใช้เวลาไม่นาน ประชุม 4-5 ครั้ง น่าจะได้ข้อสรุป เพราะเป็นการแก้แค่รายมาตรา คาดว่าประมาณ 1 เดือนก็พิจารณาเสร็จ และนำเข้าสู่การโหวตวาระสามได้ในเดือนสิงหาคม อาจจะพิจารณาเสร็จก่อนร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2565 ด้วยซ้ำ.ทว่าหลังจากนั้น มี สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ประกาศว่า ส.ว.จะไม่ให้ผ่านร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เสนอตัดอำนาจ ส.ว.ในการร่วมโหวตนายกรัฐมนตรีตาม มาตรา 272.นางสาวธิษะณา ระบุว่า การเร่งดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ของพรรคพลังประชารัฐ ยิ่งตอกย้ำว่าไม่ได้มีเจตนาเพื่อขจัดการสืบทอดอำนาจของ คสช. และ ระบอบประยุทธ์ ซึ่งเป็นต้นตอปัญหาของรัฐธรรมนูญ 2560 เพราะร่างของพรรคพลังประชารัฐเป็นการแก้ในประเด็นรายละเอียดยิบย่อย ซึ่งไม่ใช่สาระสำคัญและอาจเอื้อผลประโยชน์ให้กับพรรคของตนเอง.“จากกระบวนการทางการเมืองที่เกิดขึ้น ทำให้ตีความได้ว่า บันไดขั้นต่อไปหลังจากนี้ของพวกเขา คือ การแก้ไขระบบเลือกตั้ง เพื่อให้เป็นระบบที่พวกเขาคิดว่าจะได้ประโยชน์ต่อพรรคการเมืองของเขาและพันธมิตรภายใต้ร่มเดียวกันมากที่สุด เพื่อทำให้ระบอบประยุทธ์มีกติกาที่ได้เปรียบในทุกประตูก่อนจะยุบสภาเพื่อการเลือกตั้งในครั้งถัดไป การพยายามจะอธิบายอย่างรวบรัดว่าเป็นเพียงการเปลี่ยนระบบเลือกตั้งจากบัตร 1 ใบ เป็นบัตร 2 ใบ ก็เป็นการจงใจที่จะให้รายละเอียดไม่ครบ เพราะถึงแม้สังคมบางส่วนอาจเห็นด้วยกับบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ แต่ระบบเลือกตั้งที่มีบัตร 2 ใบ ก็มีหลายรูปแบบ แต่คุณไพบูลย์เลือกเสนอรูปแบบที่เอื้อต่อพรรคการเมืองใหญ่ ให้อาจได้สัดส่วน ส.ส. ในสภาที่สูงกว่าสัดส่วนคะแนนที่ได้จากการเลือกตั้ง และทำให้อาจมีคะแนนตกน้ำกว่า 20 ล้านเสียง” นางสาวธิษะณา ระบุ

นางสาวธิษะณา กล่าวด้วยว่า ปัญหาหลักของการเมืองไทยปัจจุบัน รวมถึงปัญหาที่สืบเนื่องมาจากการเลือกตั้งปี 2562 ความจริงแล้วไม่ใช่เรื่องระบบเลือกตั้ง แต่คือการทำงานของ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่ถูกสังคมตั้งคำถามว่าได้ปฏิบัติงานด้วยความเป็นกลางหรือไม่ เช่น การแบ่งเขตเลือกตั้งที่มีข้อครหาว่าเอื้อบางพรรคการเมือง การบิดสูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อหลังเลือกตั้งเสร็จแล้ว หรือปัญหาบัตรเขย่ง เพราะฉะนั้น เรื่องที่เร่งด่วนกว่าการแก้ระบบเลือกตั้ง คือการแก้ที่มาของ กกต. รวมถึงผู้ดำรงตำแหน่งกรรมการองค์กรอิสระทุกคน ไม่เช่นนั้น องค์กรอิสระก็จะไม่ได้รับความเชื่อมั่นจากประชาชน ซึ่งข้อเสนอนี้มีอยู่ในร่าง Re-solution ในขณะที่ร่างแก้ไขฯ ฉบับอื่น ไม่ได้พูดถึง.นอกจากนี้ นางสาวธิษะณา ยังกล่าวถึงข้อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องกับ ส.ว. ว่า การตัดอำนาจ ส.ว.ไม่ให้เลือกนายกรัฐมนตรี เป็นสิ่งที่ขาดไปไม่ได้ และยิ่งเห็นความพยายามของ ส.ว. ที่ประกาศกร้าวด้วยวาจากำเริบเสิบสาน ไม่เห็นหัวประชาชน จะโหวตไม่ให้ผ่านร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เสนอตัดอำนาจ ส.ว.ในการร่วมโหวตนายกรัฐมนตรีตาม มาตรา 272 ทั้งๆ ที่ตัวเองไม่ได้ผ่านสนามเลือกตั้งมา ไม่ได้ยึดโยงจากประชาชน แต่ยึดโยงกับคณะรัฐประหาร คสช. พวกเขายังจะไร้ยางอาย มาลดทอนเสียงของเจตจำนงประชาชนทั้งประเทศ เป็นสภาที่เลี้ยงเสียข้าวสุกจากภาษีของประชาชนอย่างแท้จริง แม้ว่าประชาชนจะไม่ได้อยากเลี้ยงก็ตาม.นางสาวธิษะณา กล่าวต่อไปว่า หากเราต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อแก้ปัญหาทางการเมืองที่ต้นตอ เพราะสิ่งที่ ส.ว.ทำมาตั้งแต่เข้าสู่อำนาจ จนได้รับฉายาจากสื่อมวลชนว่าเป็น “สภาปรสิต” คือการถูกใช้เป็นเครื่องมือของระบอบประยุทธ์ในการสืบทอดอำนาจอย่างเบ็ดเสร็จ ในแต่ละปี งบประมาณจากภาษีประชาชนถูกผลาญไปกับสภาปรสิตจำนวนมหาศาล ยังไม่นับว่า ส.ว.อาจไม่มีความจำเป็นต่อการเมืองไทยอีกต่อไป .“แนวคิดที่ว่า ส.ว.คือสภาพี่เลี้ยง เป็นสมมติฐานที่ไม่ถูก เพราะสถานการณ์ของประเทศไทยและของโลกเปลี่ยนไปมากแล้ว ประชาชนตื่นตัวทางการเมืองและรู้จักเรียกร้องเพื่อรักษาผลประโยชน์ของตนและของสังคม อีกทั้งประเทศไทยก็เป็นรัฐเดี่ยว ไม่ได้เป็นมลรัฐ จึงไม่จำเป็นต้องมี ส.ว.เพื่อเป็นตัวแทนของมลรัฐเข้ามาอยู่ในสภา และที่ผ่านมา ส.ว. แต่งตั้งในประเทศไทยที่เกิดขึ้นหลังการรัฐประหาร มักมีหน้าที่สำคัญเพียงอย่างเดียวคือการสืบทอดอำนาจให้คณะรัฐประหาร อย่างไรก็ตาม ในสถานการณ์ปัจจุบัน การตัดอำนาจ ส.ว.เลือกนายกฯ เพียงอย่างเดียวอาจไม่พอ เพราะ ส.ว. ยังมีอำนาจอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นการโหวตกฎหมายปฏิรูป ขัดขวางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ รวมถึงมีอำนาจชี้ขาดในการแต่งตั้งองค์กรอิสระและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ประเทศไทยวันนี้จึงจำเป็นต้องพิจารณาการยกเลิก ส.ว. แล้วมี “สภาเดี่ยว” ซึ่งเป็นข้อเสนอที่มีอยู่ในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของกลุ่ม Re-Solution เช่นกัน” นางสาวธิษะณา กล่าวทิ้งท้าย