posttoday

เลขาฯ สมช. แจง ปลดล็อก"เอกชน-อปท."จัดหาวัคซีนต้องซื้อต่อจากหน่วยงานรัฐ

09 มิถุนายน 2564

เลขาฯ สมช. แจง ปลดล็อก เอกชน - อปท. จัดหาวัคซีน ต้องสั่งจากหน่วยงานรัฐ - สอดคล้องแนวทางกระจายวัคซีน เผยอยากให้ อปท. จัดคนฉีดจากรัฐมากกว่า ห่วงใช้งบจัดซื้อ ย้ำต้องผ่าน กก.โรคติดต่อจังหวัดพิจารณาด้วย

เมื่อวันที่ 9 มิ.ย. 64 พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรีสโคโรนา 2019(ศปก.ศบค.)ให้สัมภาษณ์ถึงประกาศ ศบค. เรื่องแนวทางบริหารจัดการวัคซีน ป้องกันโรคโควิด-19 ที่ปลดล็อกให้องค์กรเอกชนและท้องถิ่นจัดซื้อวัคซีนได้ว่า จากการที่ผู้ตรวจการแผ่นดินทำข้อเสนอแนะมาที่ ศบค.อยากให้ ศบค.กำหนดแนวปฏิบัติในการดำเนินการเกี่ยวกับวัคซีน จึงเรียนให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหมรับทราบ และได้ออกเป็นประกาศในราชกิจจานุเบกษา มีผลบังคับใช้ในทันที

ผู้สื่อข่าวถามว่าการสั่งซื้อจะต้องซื้อจากหน่วยงานรัฐที่นำเข้ามาในราชอาณาจักร ไม่สามารถซื้อโดยตรงกับบริษัทผู้ผลิตได้ใช่หรือไม่ พล.อ.ณัฐพล กล่าวว่า ในระยะนี้ขอให้เป็นแบบนี้ไปก่อน เนื่องจากวัคซีนมีปริมาณจำกัดซึ่งแต่ละประเทศผู้ผลิต กำหนดเงื่อนไขจำหน่ายให้คือ จำหน่ายให้หนึ่งประเทศหนึ่งสัญญา สมมุติว่าถ้าทั้งรัฐและเอกชนต้องการซื้อจะต้องแบ่งปริมาณกันก็จะมีข้อจำกัดมากขึ้น

โดยเนื้อหาประกาศมีสามส่วนสำคัญ คือ 1. กำหนดหน่วยงานที่สามารถนำเข้ามาในราชอาณาจักร ได้แก่ กรมควบคุมโรค สถาบันวัคซีนแห่งชาติ องค์การเภสัช องค์การเภสัชกรรม สภากาชาดไทยและราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ที่ สามารถนำเข้ามาได้ รวมทั้งหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องในโอกาสต่อไป

2. ให้เอกชนและ รพ.เอกชน สามารถสั่งซื้อจากหน่วยงานที่กล่าวข้างต้น ไม่สามารถซื้อโดยตรงจากบริษัทได้

3. องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.)ให้ดูกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง แผนงานงบประมาณ แผนกระจายวัคซีนของ ศบค.เนื่องจาก อปท.ต้องใช้เงินแผ่นดิน จึงใช้งบประมาณให้คุ้มค่ามากที่สุด และสอดคล้องกับแผนวัคซีนที่กำหนดแนวทางไว้และส่วนที่เพิ่มเติม คือ ทุกส่วนงานทั้งเอกชนและ รพ.เอกชน หรือหน่วยงานใดก็ตาม ต้องประสานบูรณาการกับหมอพร้อม เนื่องจากแพลตฟอร์มหมอพร้อม จะเป็นแพลตฟอร์มสุดท้ายที่ควบคุมข้อมูลของประชาชนทั้งคนไทยและต่างชาติที่ฉีดวัคซีน ให้เป็นระบบเดียวกัน

เมื่อถามว่าในส่วน อปท.ต้องกำหนดวงเงินในการใช้จ่ายหรือไม่ เพราะ อปท.แต่ละท้องที่ได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐไม่เท่ากัน ถ้านำมาใช้กับวัคซีนทั้งหมดอาจไม่พอกับการบริหารงานด้านอื่นพล.อ.ณัฐพล กล่าวว่า นี่คือคำตอบ สิ่งที่ถามเป็นคำตอบในตัวอยู่แล้ว เพราะ ศบค.เป็นห่วงแบบนั้น เนื่องจากศักยภาพด้านงบประมาณของท้องถิ่นที่แตกต่างกันอาจทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำ หากเป็นไปได้อยากให้ อปท. ทำหน้าที่แค่สนับสนุนและอำนวยความสะดวกในการจัดประชาชนเข้ามาฉีดวัคซีน ตามที่ ศบค. หรือกระทรวงสาธารณสุขดำเนินการอยู่แล้ว

เมื่อถามว่า อปท.ควรให้ ศบค.พิจารณาว่าจะจัดซื้อได้จำนวนเท่าไหร่ โดยดูจากรายได้เงินอุดหนุนของรัฐด้วยหรือไม่ พล.อ.ณัฐพล กล่าวว่า คงไม่ถึงขนาดนั้น แต่ย้ำว่าต้องดูกฎหมาย ดูแผนงานที่ ศบค. แจกจ่ายให้ซึ่งเราพิจารณาอย่างเหมาะสมแล้ว โดยดูจากสัดส่วนของประชาชน จังหวัดใหญ่ประชากรมากก็ได้มาก พิจารณาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดจังหวัดใดที่มีการแพร่ระบาดสูงและรุนแรงจะได้รับสัดส่วนที่เติมเข้าไป และพิจารณากลุ่มจังหวัดเศรษฐกิจ ที่ต้องเตรียมความพร้อมด้านเศรษฐกิจหลังการแพร่ระบาดก็จะได้รับเพิ่มเติมอีกส่วนแต่ไม่ได้หมายความว่า อปท.ทุกแห่งจะซื้อได้ ต้องดูหลักเกณฑ์แนวทางนี้ และการดำเนินการจะพิจารณามาตามลำดับ ตั้งแต่ คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดที่มีผู้ว่าราชการ เป็นประธาน จากนั้นนำเข้า ศบค.พิจารณาอย่างรอบคอบ ไม่ใช่ว่าประกาศออกไปแล้ว อปท.สามารถซื้อได้เองทันที

เมื่อถามกรณีที่เอกชนหรือสถานพยาบาลเอกชน ที่จะซื้อวัคซีนจากหน่วยงานตามที่รัฐกำหนดจะต้องรายงานจำนวนที่จัดซื้อให้กับศบค. ด้วยหรือไม่ พล.อ.ณัฐพล กล่าวว่า ไม่ต้อง เพราะหน่วยงานรัฐที่จะสั่งเข้ามาในราชอาณาจักร ส่วนใหญ่จะหารือกับ ศบค.ว่าจะสั่งวัคซีนชนิดนี้ จำนวนเท่าไหร่ เพื่อแจกจ่ายให้ใครบ้าง เมื่อถามว่าจำนวนที่จะให้เอกชนหรือหน่วยงานซื้อได้ กำหนดช่วงเวลาของการจัดซื้อในช่วงเวลาใด พล.อ.ณัฐพล กล่าวว่า ไม่ได้กำหนด เพราะยิ่งได้ฉีดมากขึ้นเร็วขึ้นยิ่งดี แต่เราจะดูปริมาณที่มา ขณะนี้รัฐบาลเตรียมวัคซีนให้ประชาชน 100 ล้านโดส สำหรับ 50 ล้านคน คนไทยมีประมาณ 67 ล้านคน ต่างชาติที่อยู่ในประเทศไทยประมาณ 2.6 ล้านคน รวมประมาณ 70 ล้านคน การที่เตรียมไว้สำหรับ 50 ล้านคน เพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ แต่ถ้าสามารถฉีดให้ได้มากกว่านี้ก็ดี แต่ปัจจุบันยังไม่ทราบจำนวนทั้งหมดของคนไทยที่ต้องการฉีดวัคซีนว่ามีเท่าไหร่ ยังไม่สามารถประเมินได้ ดังนั้นถ้าสั่งวัคซีนเข้ามาในปริมาณที่มากเกินไปอาจเกิดปัญหาภายหลังไม่มีคนมาฉีดแล้ววัคซีนเหลือ ขอให้เห็นใจเวลานี้จะคิดเผื่อไปถึงอนาคตก็ลำบาก แต่เมื่อถึงเวลานั้นก็อาจจะถูกตำหนิว่าทำไมทำอย่างนั้นอย่างนี้ ขอให้คิดถึงปัจจุบันและอยากให้คืดว่าเมื่อถึงเดือนกันยายน หรือตุลาคม สถานการณ์ดีขึ้นจะมีคนให้ฉีดอีกกี่คน สรุปคือเราต้องเตรียมไว้จำนวนหนึ่งที่คิดว่ามากพอและเป็นไปได้

เมื่อถามว่ามีรายงานหรือยังว่าวัคซีนที่จะเข้ามาจำหน่ายให้กับองค์กรหรือหน่วยงานต่างๆจะมาประมาณเดือนใด พล.อ.ณัฐพล กล่าวว่า เบื้องต้นจะมาประมาณ 3-5 ล้านโดส ของโมเดอร์นา และชิโนฟาร์ม ที่ติดต่อเข้ามา แต่ยังไม่ทราบว่าจะมาในเดือนใด ต้องรอหลังจากประกาศนี้ไปแล้ว จะมีการติดต่อจริงจังอย่างไร