posttoday

"ศิริกัญญา" กร้าวไม่รับร่างงบปี 65 เหตุไม่แก้ปัญหาประเทศ พร้อมจี้นายกฯ ลาออก

31 พฤษภาคม 2564

ก้าวไกล ยันไม่รับร่างงบปี 65 ชี้เป็นฉบับโรคเรื้อรังแก้ปัญหาประเทศไม่ได้ จี้ให้นายกฯ ลาออก

วันที่ 31 พ.ค. ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มี นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร พิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2565 วงเงิน 3.1 ล้านล้านบาท วาระแรก โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม นำคณะรัฐมนตรี (ครม.) เข้าชี้แจงหลักการเหตุผล และรับฟังข้อเสนอแนะจากสมาชิก

จากนั้น เวลา 15.43 น. น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล (ก.ก.) อภิปรายว่า ในปีงบประมาณ 2565 กำลังจะเริ่มในอีก 3 เดือนต่อจากนี้ แต่อนาคตประเทศไทยเหมือนเหรียญที่ลอยอยู่กลางอากาศจะออกหัวหรือออกก้อยก็ได้ทั้งสองทาง เป็นช่วงที่ประเทศอยู่ระหว่างรอยต่อว่า โรคระบาดกำลังจะจบลงอย่างไร โดยปีนี้เราคาดหวังว่า รัฐบาลจะอัดฉีดงบประมาณเพื่อปั๊มหัวใจกระตุ้นชีพจรเศรษฐกิจและฟื้นฟูประเทศให้กลับมาดีกว่าเดิมได้ แต่รัฐบาลได้ปรับลดงบประมาณลง 185,000 ล้านบาท โดยอ้างเหตุผลว่าทำทุกอย่างตามกฎหมายแล้ว ตนคิดว่าหากรัฐบาลจะนำหลังพิงกฎหมาย และผลักภาระไปให้ประชาชนแบบนี้ เราคงเอาข้าราชการมาบริหารประเทศ และไม่ต้องมีนายกรัฐมนตรีก็ได้ ที่ผ่านมาก็ไม่ใช่ว่ารัฐบาลจะไม่เห็นว่ามีปัญหาเรื่องเงินไม่พอใช้ ไม่เช่นนั้นจะยอมกลืนน้ำลายตัวเองออกพระราชกำหนดให้กระทรวงการคลังกู้เงินอีก 500,000 ล้านบาทไปทำไม แต่แทนที่จะออกเป็นพระราชบัญญัติงบกลางปี ที่มีรายละเอียดชัดเจนกับเลือกทางที่จะหลีกเลี่ยงการตรวจสอบและความรับผิดทั้งปวง และขอให้สภาฯ และประชาชนเซ็นเช็คเปล่าให้ ทั้งๆ ที่เงินกู้ 1 ล้านล้านบาทที่ผ่านมาก็พิสูจน์แล้วว่าล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง การตั้งงบประมาณรายจ่ายที่ลดลง และยังมีการตัดงบด้านสวัสดิการ และงบด้านการศึกษาต่างๆ

น.ส.ศิริกัญญา กล่าวว่า ในปี 2565 จากงบประมาณที่ถูกตัดลดลงไป 1.85 แสนล้านบาท แต่เงินที่จะลงไปถึงประชาชนจริงๆ น้อยลงไปยิ่งกว่านั้นเสียอีกเพราะต้องเอาเงินงบประมาณไปใช้หนี้ ที่ไม่ได้มีแค่หนี้สาธารณะ ต้องไปชดเชยภาระผูกพันต่างๆ มากมายที่ได้สร้างไว้ก่อนหน้านี้ เปรียบเหมือนคนที่กำลังป่วยไข้ด้วยโรคในปัจจุบัน แต่รุมเร้าด้วยโรคประจำตัวที่เรื้อรังมานาน ไม่ว่าจะเป็นเงินที่ต้องใช้ให้เงินทุนสำรองจ่าย 2.4 หมื่นล้านบาท ช่วงก่อนออก พ.ร.ก.เงินกู้และมีงบกลางไม่เพียงพอ แต่ก็ไม่ได้ตั้งงบไปใช้คืนในปี 2564 จึงต้องมาใช้คืนในปีนี้

น.ส.ศิริกัญญา กล่าวว่า โรคเรื้อรังอีกโรค คือรัฐราชการที่ใหญ่โตเทอะทะ ทำให้งบเบี้ยหวัด บำเน็จ บำนาญ เงินสำรอง เงินสมทบ และเงินชดเชยของข้าราชการที่เพิ่มขึ้น 1.2 หมื่นล้านบาท ทำให้เบ็ดเสร็จรวมแล้วค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับเงินเดือนสวัสดิการข้าราชการ พนักงานและลูกจ้างรัฐ สูงถึง 1.2 ล้านล้านบาท คิดเป็น 40% ของงบประมาณ เมื่อรัฐบาลไม่กล้าเผชิญหน้ากับรัฐราชการ จึงเลือกตัด งบสวัสดิการของประชาชน หลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือบัตรทองถูกตัดไป 2,000 ล้านบาท ประกันสังคมถูกตัดไป 19,000 ล้านบาท กองทุนสวัสดิการประชารัฐที่รัฐบาลเคยโฆษณาเอาไว้ว่า จะทำให้คนจนหมดประเทศถูกตัดงบไป 20,000 ล้านบาท การเคหะแห่งชาติและกองทุนการออมแห่งชาติถูกตัดงบไปครึ่งหนึ่ง ก้อนถัดมาที่รัฐบาลเลือกตัดก็คือเงินสำหรับฟื้นฟูประเทศหลังจากวิกฤติโควิด เลือกที่จะตัดงบประมาณด้านการศึกษาในปีนี้ไป 24,000 ล้านบาท ตัดงบกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม 5,000 ล้านบาท ตัดงบกองทุนส่งเสริม เอสเอ็มอี 40% ตัดงบประมาณแผนบูรณาการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก 50%

“จากการจัดงบประมาณเช่นนี้ เราจึงไม่สามารถรับร่าง พ.ร.บ.งบประมาณพิกลพิการฉบับนี้ได้ และเรียกร้องให้ถอนร่าง พ.ร.ก.เงินกู้ที่กำลังจะเข้าสู่สภาออกไปด้วย รวมถึง นายกฯ ต้องลาออก เพื่อแสดงความรับผิดชอบ และให้รัฐบาลใหม่ออก พ.ร.บ.กู้เงิน และจัดทำงบกลางปีเพื่อชดเชยสวัสดิการ การศึกษา และงบประมาณฟื้นฟูประเทศ” น.ส.ศิริกัญญา กล่าว