posttoday

แนะรัฐท่อง3ข้อใช้งบ3.8แสนล้านสู้โควิดให้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริง

20 เมษายน 2564

ดร.กนก ชี้ งบ 3.8 แสนล้าน สู้โควิด มีขนาดแค่ 2 % ของจีดีพี กระตุ้นเศรษฐกิจไม่ได้ ระบุ เป็นงบก้อนสุดท้ายที่ต้องใช้ให้ตรงจุด แนะท่องคาถามสามข้อ ให้ความสำคัญเศรษฐกิจฐานราก ประคองธุรกิจเอสเอ็มอี เร่งสร้างธุรกิจใหม่ อนุมัติงบเร็ว เบิกจ่ายให้ไว

ศ.ดร.กนก วงษ์ตระหง่าน รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่รัฐบาลออกมาให้ความมั่นใจกับประชาชนว่า มีงบประมาณเพียงพอในการดูแลปัญหาโควิด -19 โดยระบุมีงบพร้อมใช้อยู่ 3.8 แสนล้านบาทว่า มีประเด็นทางนโยบายที่รัฐบาลควรพิจารณาคือ การจะฟื้นฟูเศรษฐกิจด้วยวงเงินดังกล่าวน่าจะเป็นเรื่องยาก เพราะโครงสร้างเศรษฐกิจไทยปัจจุบันผูกไว้กับการส่งออก และการท่องเที่ยวอยู่มาก

นั่นหมายความว่า เศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัว เมื่อเศรษฐกิจโลกหรือประเทศคู่ค้าฟื้นตัว เงิน 380,000 ล้าน อาจจะเป็นก้อนสุดท้าย จึงไม่สามารถทำให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้เพราะขนาดของเม็ดเงินเมื่อเทียบกับ GDP ของประเทศจะมีขนาดเพียง 2% ของ GDP เท่านั้น ฉะนั้นงบประมาณ 380,000 ล้านนี้จึงควรใช้เพื่อ การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจประเทศให้มีความสมดุลมากขึ้น และมีพลังที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ หลังโควิด 19

รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ยังเสนอให้ใช้งบประมาณก้อนนี้ อย่างมีเป้าหมายที่ชัดเจน จัดลำดับความสำคัญ ทุ่มไปกับกลุ่มประชาชนที่มีศักยภาพเป็นฐานรากของประเทศก่อน ไล่ตั้งแต่ เกษตรกร เอสเอ็มอี ซึ่งมีจำนวนมากกว่า 50% ของประชากรทั้งประเทศ ด้วยการส่งเสริมเพิ่มผลิตภาพภาคการเกษตร เพิ่มมูลค่าผลผลิต และประคองเอสเอ็มอีให้อยู่รอดในสถานการณ์ยากลำบากนี้

สำหรับกรณี SME ขนาดเล็ก จะต้องทำ 2 เรื่องพร้อมกัน คือ 1 ช่วยแก้ปัญหาสภาพคล่องของ SME ให้ได้เพื่อไม่ให้พวกเขาตกไปในกับดักของสินเชื่อนอกระบบ ถ้ากลไกธนาคารพาณิชย์ทำไม่ได้ รัฐบาลสามารถใช้ธนาคารรัฐ เช่น ธนาคารออมสิน, กรุงไทย, ธกส. เข้าไปเสริมได้โดยรัฐบาลช่วยแบ่งเบาภาระต้นทุนให้แก่ธนาคาร 2 ช่วยปรับแผนธุรกิจให้สามารถแข่งขันได้ในอนาคต เช่น การปรับรูปแบบสินค้า ด้วยการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีรูปแบบตรงกับความต่องการของลูกค้าเป้าหมายและตลาดมากขึ้น การปรับวิธีการผลิตเพื่อให้เพิ่มผลิตภาพมากขึ้น การเปิดช่องทางการขายใหม่ ๆ  การส่งเสริมให้เกิดการซื้อสินค้าและบริการของ SME ผ่านมาตรการภาษีใหม่ ๆ  เป็นต้น

"การช่วยเหลือ SME เพียงแค่การออกมาตรการโกดังพักหนี้ ตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยดำเนินการในช่วงสองเดือนที่ผ่านมา เป็นเพียงแค่แนวทางการชะลอหนี้เสียเท่านั้น และน่าจะเป็นประโยชน์กับสถาบันการเงินมากกว่าผู้ประกอบการ เพราะเท่ากับสถาบันการเงินมีหลักประกนในสินเชื่อ สามารถตีโอนทรัพย์มาพักไว้ที่เจ้าหนี้คือ สถาบันการเงิน เท่ากับมีหลักประกัน แต่สภาพคล่องของเอสเอ็มอีไม่ได้มีการช่วยเหลืออย่างถูกจุด ที่จะช่วยสร้างรายได้ประคองธุรกิจให้อยู่รอด  นั่นหมายความว่าความสามารถในการชำระหนี้ย่อมมีปัญหาตามมาอย่างแน่นอน"

"สุดท้ายโกดังพักหนี้ อาจกลายเป็นสุสานธุรกิจเอสเอ็มอี ที่เจ๊งระนาวถูกยึด ไม่มีโอกาสได้กลับมาประกอบกิจการอีกรอบ หากรัฐบาลยังคิดแก้ปัญหาแบบแยกส่วน ไม่ทำควบคู่กันไปทั้งคลายปัญหาหนี้ เสริมสภาพคล่อง สร้างโอกาสในการเพิ่มรายได้ท่ามกลางวิกฤต สิ่งเหล่านี้ต้องทำไปพร้อมกัน โดยรัฐต้องออกมาตรการมารองรับ เพราะเม็ดเงินที่จะนำเข้าสู่ระบบขณะนี้ มีเพียงภาครัฐเท่านั้นที่ทำได้ ส่วนประชาชนจนกรอบหมดแล้ว" ศ.ดร.กนก กล่าว

ศ.ดร.กนก กล่าวถึงทางรอดเศรษฐกิจไทยเพิ่มเติมว่า ต้องเน้นไปที่ธุรกิจใหม่ ใช้ความได้เปรียบของภาคชนบทมาเป็นจุดขาย สร้างการท่องเที่ยวเชิงอาหาร สุขภาพ การถอนพิษในร่างกาย ด้วยภูมิปัญญาไทยและสมุนไพร ดังนั้นการพิจารณาอนุมัติโครงการต้องเน้นที่ปัจจัยเหล่านี้ โดยทั้งสภาพัฒน์ฯ สำนักงบประมาณ สำนักบริหารหนี้สาธารณะและกรมบัญชีกลาง ต้องร่วมมือกัน อย่าปล่อยให้มีการใช้งบประมาณแบบทิ้งน้ำไปกับการก่อสร้าง ที่สุดท้ายอาจถูกถลุงไปกับการทุจริตที่แฝงมาแบบยากที่จะตรวจสอบ โดยต้องย้อนดูบทเรียนจากการใช้เงินกู้สี่แสนล้านช่วงที่ผ่านมา จะพบว่าใช้งบไม่ตรงวัตถุประสงค์ตาม พ.ร.ก.เงินกู้ โดยที่ผ่านมาเน้นใช้เงินเยียวยาเเป็นหลัก การอนุบัติเบิกจ่ายล่าช้า ไม่เกิดผลลัพธ์ในเชิงกระตุ้นเศรษฐกิจตามที่วางเป้าหมายไว้

"คาถา 3 ข้อ ที่รัฐบาลต้องท่องนำชาติให้รอดต่อจากนี้คือ 1 ลำดับความสำคัญที่เศรษฐกิจฐานราก 2 มีจุดเน้นที่ การเพิ่มรายได้ ประคองธุรกิจเอสเอ็มอี สร้างธุรกิจใหม่ ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ และ 3 ความเร็ว ในการอนุมัติ เบิกจ่ายงบประมาณ ถ้าทำได้เศรษฐกิจไทยก็มีโอกาสฟื้นตัวคนไทยมีทางรอดจากวิกฤตนี้ แต่ถ้าทำไม่ได้ หรือไม่ปรับวิธีคิด ผมก็คงต้องใช้คำเดียวกับที่นายกรัฐมนตรีเคยใช้คือ อะไรจะเกิดก็ต้องเกิด" ศ.ดร.กนก กล่าว