posttoday

ประธานญาติวีรชนพฤษภาฯวอน "เพนกวิน" เลิกอดอาหารรักษาชีวิตไว้ต่อสู้

16 เมษายน 2564

"อดุลย์ เขียวบริบูรณ์" อ้อนวอน "เพนกวิน" หยุดทำร้ายตัวเองเลิกอดข้าวรักษาชีวิตไว้ต่อสู้ในอนาคต ยัน ม.112 ต้องมีไว้แต่ควรเน้นปรับทัศนติคนเห็นต่างทางอุดมการณ์ ให้อัยการสูงสุดกับสำนักพระราชวังเป็นโจทก์ไม่ใช่ปล่อยให้ตำรวจฟ้อง

นายอดุลย์ เขียวบริบูรณ์ ประธานคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา’35 แกนนำ กลุ่มไทยไม่ทน สามัคคีประชาชน เพื่อประเทศไทย กล่าวถึงการเรียกร้องให้ นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือ เพนกวิน แกนนำกลุ่มราษฎรผู้ต้องขังในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ตามความผิดมาตรา 112 มาตรา 116 เลิกอดอาหาร หยุดการอดข้าวประท้วง ว่า อยากให้เพนกวินหยุดทำร้ายตัวเองด้วยการอดข้าวอยากให้รักษาชีวิตไว้ก่อน เพื่อต่อสู้ตามอุดมการณ์ในอนาคตเพราะอายุยังน้อยการต่อสู้ยังอีกยาวไกลไม่สมควรที่จะมาเสียสละชีวิตในตอนนี้

นายอดุลย์ กล่าวอีกว่า เพนกวินตกหลุมพรางการใช้ไอโอของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่เคยบอกว่าจะไม่ใช่ ม.112 แต่ปัจจุบันกลับมาใช้อย่างฟุ่มเฟือยซึ่งการแจ้งความในฐานความผิดตาม ม.112 นั้น ควรเป็นหน้าที่การพิจารณาของอัยการสูงสุด(อสส.) กับสำนักพระราชวัง ไม่ใช่ใครจะเป็นผู้เสียหายไปแจ้งความว่าใครมีความผิดตามม.112 ที่ไหนเมื่อไหร่ก็ได้ ซึ่งได้สร้างความเดือดร้อนเสียหายกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เป็นภาระของกระบวนการยุติธรรม แต่ พล.อ.ประยุทธ์กลับลอยตัวอยู่เหนือปัญหา

“ในอดีตถึงปัจจุบันมีคนที่ยอมเสียสละชีวิตเพื่ออุดมการณ์มีเยอะแล้วแม้กระทั่งลูกชายของลุงเองที่ยอมเสียสละชีวิตเพื่อรักษาประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการ รสช. แต่จะต้องพิจารณาถึงความคุ้มค่าว่ามีน้ำหนักที่จะต้องเสียสละชีวิตมากน้อยแค่ไหน เพราะเพนกวินอาจจะต้องเป็นแกนนำของบ้านเมืองในอนาคต ในขณะที่ลุงเป็นไม้ใกล้ฝั่งอีกไม่นานก็จะเป็นอดีตไปแล้ว จึงได้แต่อ้อนวอนลูกหลานว่าอย่าเอาชีวิตมาแลกแบบนี้เลย ให้เอาชีวิตของลุงไปจะดีกว่าที่จะเอาอนาคตของชาติไปก่อนวัยอันควร” นายอดุลย์ กล่าว

นายอดุลย์ กล่าวว่า ในเรื่อง ม.112ไม่เห็นด้วยที่จะยกเลิก ควรเป็นหน้าที่ของอัยการสูงสุดกับสำนักพระราชวังว่าจะพิจารณาว่าจะฟ้องใครหรือไม่และควรเน้นการปรับทัศนคติกับผู้ถูกกล่าวหา เพราะเป็นเรื่องความเชื่อทางการเมือง และลดโทษลง ในอดีตมีแต่คนบ้ากับคนเมาที่โดนข้อหานี้ แต่ปัจจุบันมีคนถูกกล่าวหาจำนวนมาก เมื่อเป็นเรื่องความเชื่อในเรื่องอุดมการณ์หากมีการจำคุกแล้วมีการปรับทัศนคติจนเข้าใจดีแล้วว่ากษัตริย์ทุกพระองค์ทรงรักและห่วงใยราษฎรของพระองค์แค่ไหนก็ไม่ควรถูกจองจำอีกต่อไป ดังนั้นจึงไม่ควรกำหนดโทษขั้นต่ำ 3 ปี แบบปัจจุบัน ควรลดโทษลงมาอีก บางคนที่ผิดแล้วเมื่อปรับทัศนคติแล้วติดคุก 1 เดือน หรือ 1 ปี ก็ควรปล่อยออกมาให้อยู่ร่วมกับสังคมได้ เพราะการเอาคนที่เห็นต่างไปคุมขังนานๆ ก็ไม่ใช่ว่าจะเปลี่ยนความคิดเขาได้ แต่ทุกคนควรได้รับสิทธิประกันตัวระหว่างต่อสู้คดีเพราะบางคนอาจถูกกลั่นแกล้งใส่ความได้

“คนธรรมดายังมีกฎหมายปกป้องตนเองใครดูหมิ่นใส่ร้ายก็มีกฎหมายหมิ่นประมาทคุ้มครอง แล้วสถาบันพระมหากษัตริย์ จะไม่มีกฎหมายคุ้มครองได้อย่างไร ในฐานะประมุขสุดของประเทศใครจะล่วงละเมิดไม่ได้ แต่จะให้พระองค์ไปฟ้องราษฎรย่อมเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้เพราะพระองค์ทรงรักราษฎรทุกคน ในหลวงร.9เคยมีพระราชดำริว่าสถาบันพระมหากษัตริย์สามารถวิจารณ์ได้ แต่ไม่ใช่การดูหมิ่นเหยียดหยามแบบปัจจุบันนี้ จึงเป็นหน้าที่ของอัยการสูงสุดกับสำนักพระราชวัง ในการพิจารณาสั่งฟ้องหรือไม่ ไม่ใช่ปล่อยให้ตำรวจรับแจ้งความแล้วฟ้องแบบมั่วซั่วเช่นในปัจจุบัน จนทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์ต้องเดือดร้อน” นายอดุลย์ กล่าว