posttoday

ยุทธศาสตร์ชาติ "ยุคประยุทธ์" ผูกมัดประเทศไม่ให้ก้าวหน้า

06 เมษายน 2564

"สฤณี อาชวานันทกุล" ชี้ยุทธศาสตร์ชาติยุครัฐบาลประยุทธ์ไม่สะท้อนความต้องการประชาชน แต่เสี่ยงเป็นเครื่องมือกลั่นแกล้งหน่วยงานรัฐ ด้าน "พริษฐ์" ยกเหตุผล 7 ข้อ ล้ม วุฒิสภา เดินหน้าสภาเดี่ยว

เมื่อวันที่ 6 เม.ย. 64 น.ส.สฤณี อาชวานันทกุล นักวิชาการอิสระ กล่าวในหัวข้อ “เลิก ยุทธศาสตร์ชาติ แผนปฏิรูป : ปลดโซ่ตรวนอนาคตประเทศ” ในกิจกรรม 6 เมษา! เริ่มนับหนึ่ง #ขอคนละชื่อรื้อระบอบประยุทธ์ จัดโดย กลุ่ม Re-Solution ที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ โดยระบุว่า รัฐธรรมนูญ 2560 กำลังเป็นโซ่ตรวนล่ามประเทศเอาไว้ วันนี้เรามียุทธศาสตร์ชาติแต่กลับเป็นชาติที่ยังไม่มียุทธศาสตร์อะไร แต่กลับเป็นเครื่องมือผูกมัดไม่ให้สังคมก้าวไปข้างหน้า หากมีการเลือกตั้งครั้งใหม่ก็เสี่ยงที่จะเป็นเครื่องมือในการแกล้งรัฐบาลใหม่หากเป็นขั้วตรงข้าม

ยุทธศาสตร์ชาติมีการวางเป้าหมายไว้ทุก 5 ปี ซึ่งปี 2565 ก็จะเป็นหมุดหมายแรกที่ประกาศใช้ แต่รายงานสรุปการดำเนินงานประจำปี 2563 ทำโดยสภาพัฒน์ปรากฏว่าจะแผนแม่บทและแผนแม่บทย่อยทั้งหมด 177 เป้าหมาย บรรลุผลเพียง 19 %เท่านั้น ดังนั้นเหลืออีก 1 ปี 8 เดือนที่จะต้องทำให้บรรลุเป้าหมาย ที่เหลืออยู่ทั้งหมด

น.ส.สฤณี กล่าวว่า ยุทธศาสตร์ชาติ ไม่ได้สะท้อนความต้องการของประชาชนเพราะมีที่มาจากคณะกรรมการ 34 คนที่แต่งตั้งโดยคสช. ส่วนใหญ่ก็เป็นทหารและนักธุรกิจ ที่เป็นเครือข่ายผลประโยชน์ของพล.อ.ประยุทธ์ เสี่ยงเปิดช่องให้มีการกลั่นแกล้งหน่วยงานภาครัฐ สิ่งที่เขียนขึ้นมาไม่ได้ทันสมัยทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก ทางออกคือเลิกใช้สิ่งเหล่านี้และกลับไปสู่ครรลองของประชาธิปไตยปกติ ปล่อยให้พรรคการเมืองต่างๆ มีอิสระเสรีแข่งขันการสร้างนโยบายในการพัฒนาประเทศเพื่อประโยชน์ของประชาชน

ยุทธศาสตร์ชาติ "ยุคประยุทธ์" ผูกมัดประเทศไม่ให้ก้าวหน้า

ด้าน นายพริษฐ์ วัชรสินธุ กล่าวในหัวข้อ “ล้ม วุฒิสภา : เดินหน้าสภาเดี่ยว” ว่า สถาบันการเมือง ที่เป็นศูนย์รวมความเลวร้าย และความวิปริต คือ ส.ว. การแก้ไขรายมาตราที่ไม่แตะอำนาจ ส.ว. จึงไม่เพียงพอที่จะรื้อระบอบประยุทธ์

วันนี้ ตนจะพูดถึง 7 เหตุผลว่าประเทศจะดีขึ้นอย่างไร ถ้ามีสภาเดี่ยว คือ 1.ประชาชนทุกคนมี 1 สิทธิ์ 1 เสียงเท่ากันในการเลือกนายกรัฐมนตรี 2.รัฐสภาต้องสะท้อนเจตนารมณ์ของประชาชน 3.ระบอบประยุทธ์ ต้องสืบทอดอำนาจไม่ได้ 4.การออกกฎหมาย คล่องตัวทันใจ ต่อการเปลี่ยนแปลง 5.การประหยัดงบประมาณ 1,000 ล้านบาทต่อปี เพื่อใช้ประโยชน์และจัดสวัสดิการให้ประชาชน เช่น การเพิ่มค่าอาหารกลางวันให้นักเรียน

6.กลไกการตรวจสอบการถ่วงดุลอำนาจมีประสิทธิภาพมากขึ้นกว่าเดิม เพราะทุกวันนี้ส.ว. ก็ไม่ได้ทำหน้าที่ถ่วงดุลและตรวจสอบฝ่ายบริหารอยู่แล้ว เราจึงเสนอให้ติดอาวุธรัฐสภา โดยให้นายกรัฐมนตรี ต้องมาจากส.ส. และการให้มีผู้ตรวจการกองทัพ ศาล และองค์กรอิสระ และ 7.โครงสร้างทางการเมืองที่ปฏิบัติได้จริง และสอดรับกับทิศทางโลกสมัยใหม่ เพื่อให้ประเทศ

นายพริษฐ์ กล่าวว่า ความจริงแล้วไม่จำเป็นต้องบอกว่าสภาเดี่ยวดีกว่าอย่างไร ภาระพิสูจน์นี้ต้องอยู่ที่ส.ว.ว่าจะมีส.ว. ไว้เพื่ออะไร เราจึงต้องลงชื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตนมองว่าการพัฒนาประชาธิปไตยเปรียบเหมือนเกมชักเย่อ เพราะมีประชาชนส่วนหนึ่งต้องการให้ประเทศเดินไปข้างหน้า แต่อีกด้านก็มีระบบ และรัฐธรรมนูญที่ล้าหลัง

ทั้งนี้ ตนอยากจะฝากข้อความแห่งความหวังของคนที่ต้องการให้สังคมไปข้างหน้า ว่าเรายังมีหวังที่จะเปลี่ยนแปลง ส่วนกลุ่มที่ได้ประโยชน์จากกติกา ตนอยากจะบอกว่า สังคมมีแต่จะก้าวหน้า ประชาธิปไตยมีแต่จะเบ่งบาน หากวันหนึ่งเชือกจะขาด การปะทะทางความคิด จะไปปะทะบนท้องถนน ตนจึงอยากให้คนกลุ่มนี้เดินไปพร้อมกับเรา

สุดท้ายคือ กลุ่มคนที่เป็นกลาง ตนอยากจะบอกว่า สิ่งที่เราต้องการ ก็คือระบอบที่เป็นกลาง ที่กฎหมายทุกฉบับถูกบังคับใช้ด้วยมาตราฐานเดียวกัน เราจึงอยากให้คนกลุ่มนี้มาร่วมลงชื่อกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ประเทศไทยก้าวทันการเปลี่ยนแปลงของโลก