posttoday

"หมอทศพร"นำม็อบถูกกระสุนยางมาแถลง อัดจนท.ใช้ความรุนแรง

02 มีนาคม 2564

นายแพทย์ทศพร นำผู้ชุมนุมถูกกระสุนยางยิงมาแถลงข่าว เผยโชคดีที่กระสุนไม่ทะลุเข้ากะโหลก อัดเจ้าหน้าที่ไม่จำเป็นต้องใช้ความรุนแรงเพราะม็อบชุมนุมอย่างสงบสันติ แนะการชุมนุมควรมี "แกนนำ"

เมื่อวันที่ 2 มี.ค.64 นายแพทย์ทศพร เสรีรักษ์ อดีตโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และสมาชิกพรรคเพื่อไทย แถลงข่าวกรณีมีผู้บาดเจ็บจากการชุมนุมเมื่อวันที่ 28 ก.พ. 64 โดยได้นำหนึ่งในผู้ชุมนุมที่ได้รับบาดเจ็บมาแถลงข่าวด้วย

นายแพทย์ทศพร กล่าวว่า ตนเองได้อยู่ในเหตุการณ์ชุมนุมเมื่อวันที่ 28 ก.พ.64 ซึ่งคืนนั้นเกิดความรุนแรงหลายครั้ง แม้กระทั่งตอนที่ประชาชนกำลังเดินกลับ ก็ยังมีการปะทะ ใช้ความรุนแรง จนมีผู้บาดเจ็บและผู้ที่ถูกจับกุม

นายแพทย์ทศพร กล่าวว่า หนึ่งในผู้บาดเจ็บที่มาร่วมแถลงข่าวในวันนี้ ถือว่าโชคดีที่กระสุนไม่ทะลุเข้ากะโหลก นี่คือตัวอย่างหนึ่งของผู้ที่ได้รับผลกระทบ นอกจากนี้ เราจะเห็นได้จากคลิปว่ายังมีอีกหลายรายที่ถูกทำร้าย ถูกกระทืบ ทุบตี โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ และยังใช้กระสุนยาง หรือเป็นกระสุนจริงก็ไม่อาจยืนยันได้ รวมถึงการใช้แก๊สน้ำตา

"ฝากเตือนสติตำรวจว่าไม่ควรใช้ความรุนแรงในการจัดการประชาชน ประชาชนไปอย่างสงบสันติ ถ้าเจอใครใช้ความรุนแรง ใช้อาวุธ ระเบิด ตำรวจที่มีกำลังเยอะแยะ ก็สามารถเข้ามาจัดการ มาควบคุมตัวไปดำเนินคดีได้อยู่แล้ว แต่เท่าที่สังเกตดู มักมีคนที่ขว้างอาวุธเสร็จแล้ววิ่งไปหลบหลังแนวตำรวจหรือหลังแนวประชาชน เหมือนกระทำเพื่อจุดชนวนความรุนแรง สื่อมวลชนก็มีภาพ ตำรวจเองก็มีภาพเก็บไว้ ทำไมไม่จัดการกับกลุ่มคนเหล่านี้ เหมือนปล่อยเชื้อไว้ให้มีกลุ่มคนที่ก่อความรุนแรง ตำรวจจะได้ใช้เป็นข้ออ้างในการใช้กำลังจัดการผู้ชุมนุมหรือไม่ นี่คือสิ่งที่ผมตั้งข้อสังเกต"นายแพทย์ทศพร กล่าว

สำหรับการดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ นายแพทย์ทศพร กล่าวว่า ขณะนี้กำลังปรึกษากับฝ่ายกฎหมายของพรรคเพื่อไทย เพื่อติดตามเรื่อง และศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ก็ติดตามเรื่องนี้อยู่ด้วยเช่นกัน

ทั้งนี้ ยืนยันว่า เจ้าหน้าที่ไม่จำเป็นต้องใช้ความรุนแรงแบบนี้ ส่วนมากที่เจอคนบาดเจ็บจะเป็นผู้บริสุทธิ์ ผู้ที่อยู่แนวหน้าคอยคุ้มกันผู้ชุมนุมคนอื่น ไม่ใช่ผู้ที่ใช้ความรุนแรง ขว้างปาอาวุธ ที่ก่อเรื่องแล้ววิ่งไปหลบหลังแนว เมื่อเหตุการณ์วุ่นวายก็ขับจักรยานยนต์หนี

"หมอทศพร"นำม็อบถูกกระสุนยางมาแถลง อัดจนท.ใช้ความรุนแรง

อย่างไรก็ตาม การชุมนุมที่เกิดขึ้นในวันที่ 28 ก.พ. 64 เป็นการชุมนุมแบบไม่มีแกนนำ ซึ่งนายแพทย์ทศพรได้ให้ความเห็นต่อกรณีนี้ว่า การชุมนุมควรมีแกนนำ ควรมีความชัดเจน ประชาชนต้องรู้ เจ้าหน้าที่ต้องเข้าใจ ควรมีการเจรจาอย่างชัดเจน ซึ่งหลักการจริงๆ ของการชุมนุม คือ ประชาชนทุกคนต่างมีความคิดอุดมการณ์ของตัวเองอยู่แล้ว ไม่ใช่ว่ามาตามเพราะมีแกนนำสั่งให้ทำ ดังนั้น แกนนำจึงหมายถึงคนที่จะจัดการทิศทางการชุมนุม เป็นผู้ประสานงาน และมีการ์ดมาป้องกันให้ความปลอดภัยกับผู้ชุมนุมไม่ให้ปะทะกับเจ้าหน้าที่ มีการเจรจา

"พอไม่มีคนจัดการตรงนี้ อะไรเกิดขึ้นมันวุ่นวายไปหมด จนผมรู้สึกว่าอยู่เฉยไม่ได้ จนต้องแทรกไประหว่างเจ้าหน้าที่กับผู้ชุมนุมเพื่อขอเจรจา ให้ต่างฝ่ายต่างถอยออกไป ซึ่งบางครั้งก็สำเร็จ แต่บางครั้งก็ไม่สำเร็จ จนเกิดการปะทะวุ่นวาย"นพ.ทศพรกล่าว

อย่างไรก็ตาม ตำรวจควรทำความเข้าใจด้วยว่า ตำรวจไม่ใช่คู่ขัดแย้งกับประชาชนที่มาชุมนุม ประชาชนขัดแย้งกับรัฐบาล ไม่ได้ต้องการมามีเรื่องกับตำรวจ ตำรวจควรดูแลความปลอดภัย ไม่ให้มีมือที่สามเข้ามาแทรกแซงทำร้ายประชาชน ไม่ใช่มีหน้าที่มาคอยสลายการชุมนุม กวาดต้อนใช้แก๊สให้ประชาชนกลับบ้าน