posttoday

จำคุก29ปี174 เดือนอดีตขรก.หญิงซี 8 กรมสรรพากรผิดม.112

19 มกราคม 2564

ศาลอาญาพิพากษาจำคุกอดีตข้าราชการหญิงซี 8 กรมสรรพากร” ผิด ม.112 ทั้งหมด29 กระทง รวม 29 ปี 174 เดือน ยื่น 1 ล้านขอประกันระหว่างอุทธรณ์ สุดท้ายต้องนอนเรือนจำ รอให้ศาลอุทธรณ์สั่งประกัน

ที่ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก วันที่ 19 ม.ค.2564 ศาลนัดฟังคำพิพากษาคดีหมิ่นเบื้องสูงที่พนักงานอัยการสำนักงานคดีพิเศษ 4 เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง นางอัญชัญ ปรีเลิศ อดีตข้าราชการ ซี 8 กรมสรรพากร เขตบางพลัด เป็นจำเลย ในความผิดฐานดูหมิ่น หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา (ป.อ.) มาตรา 112 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14

คดีนี้เดิมอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีของศาลทหาร ตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติฉบับที่ 38/2557 เรื่องคดีที่ประกอบด้วยการกระทำหลายอย่างเกี่ยวโยงกันให้อยู่ในอำนาจของศาลทหาร ซี่งฟ้องจำเลยกระทำความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ องค์รัชทายาท ตาม ป.อ.มาตรา 112 ต่อมาปี 2562 หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ มีคำสั่งที่ 9/2562 ลงวันที่ 9 ก.ค.2562 ให้คดีซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลทหารกรุงเทพ 65 สำนวนซึ่งรวมถึงสำนวนคดีนี้ให้มาอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม จึงมีการโอนคดีนี้มายังศาลยุติธรรม

ทั้งนี้โจทก์ฟ้อง และแก้ไขคำฟ้องว่า จำเลยเป็นผู้ใช้งานเว็บไซต์ www.youtube.com ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งประชาชนสามารถเข้าถึงได้ โดยการใช้นามแฝง anchana siri, มารี รูท, un un และเป็นผู้ใช้งานเฟซบุ๊กใช้นามแฝงว่า Petch Prakery กระทำความผิดกฎหมายหลายกรรมต่างกันในระหว่างประกาศกฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักร ต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจติดตามจับกุมจำเลยได้ พร้อมอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ที่ใช้กระทำผิดหลายรายการยึดเป็นของกลาง ส่งพนักงานสอบสวนดำเนินคดี เหตุเกิดที่แขวงบางพรม เขตตลิ่งชัน, แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กทม. และที่อื่นเกี่ยวพันกัน ชั้นพิจารณาในศาลนี้จำเลยให้การรับสารภาพ

ศาลพิเคราะห์คำฟ้อง ประกอบพยานหลักฐานโจทก์ และคำรับสารภาพจำเลยแล้ว พิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตาม ป อ.มาตรา 112 และพ.ร.บ.ความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (1)(3)(5) การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้ลงโทษทุกกรรม ซึ่งฐานดูหมิ่น หมิ่นประมาท พระมหากษัตริย์ฯ กับฐานนำเข้าสู่ระบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใด ๆ อันเป็นเท็จและเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร เผยแพร่หรือส่งต่อข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ และเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรนั้น เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท จึ ให้ลงโทษตาม ป.อ.มาตรา 112 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด

จึงให้จำคุก จำเลยรวม 29 กระทงๆ ละ 3 ปี เป็นจำคุก 87 ปี จำเลยให้การรับสารภาพมีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งคงจำคุกกระทงละ 1 ปี 6 เดือน รวมจำคุกทั้งสิ้น 29 ปี 174 เดือน

อย่างไรก็ตามภายหลังฟังคำพิพากษาแล้วจำเลยได้ยื่นคำร้องพร้อมหลักทรัพย์เป็นสลากออมสินและโฉนดที่ดิน รวมมูลค่า 1 ล้านบาทเศษ เพื่อขอปล่อยชั่วคราวระหว่างอุทธรณ์คดี โดยศาลอาญาพิจารณาแล้ว เห็นสมควรส่งคำร้องขอปล่อยชั่วคราวของจำเลยดังกล่าวให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาเพื่อมีคำสั่งว่าจะอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวหรือไม่ต่อไป ซึ่งล่าสุดศาลอุทธรณ์ยังไม่มีคำสั่งใดๆ ออกมา เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์จึงได้นำตัวจำเลยไปคุมขังยังทัณฑสถานหญิงกลางก่อน ซึ่งหากศาลอุทธรณ์มีคำสั่งเรื่องประกันตัวอย่างไรแล้วก็จะได้แจ้งให้จำเลยทราบต่อไป

ด้าน นายนายศุภกิจ แย้มประชา รองเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม ได้อธิบายหลักกฎหมายว่า กรณีผู้กระทำมีเจตนากระทำความผิดเดียวกันหลายครั้ง หรือกระทำต่อผู้เสียหายหลายคน เช่น ลักทรัพย์ของนายจ้างหลายครั้ง หรือฉ้อโกงผู้เสียหายหลายคน กฎหมายให้ศาลลงโทษผู้กระทำทุกกระทงความผิด โดยต้องนำโทษแต่ละกระทงมารวมกัน แต่เมื่อรวมโทษแล้วจะต้องไม่เกินเพดานขั้นสูง 10 ปี 20 ปี หรือ 50 ปี ขึ้นอยู่กับความร้ายแรงของความผิด โดยยิ่งความผิดร้ายแรงมาก เพดานโทษก็จะสูงตามไปด้วย

ทั้งนี้ตัวอย่างเช่น นาย ก ลักทรัพย์ของนายจ้าง 5 ครั้ง ศาลต้องลงโทษเป็น 5 กระทง โดยศาลไม่จำต้องลงโทษแต่ละกระทงเท่ากัน ขึ้นอยู่กับความร้ายแรงของความผิด สมมติทรัพย์ที่ลักแต่ละครั้งมูลค่าใกล้เคียงกัน และศาลลงโทษกระทงละ 1 ปี เมื่อรวม 5 กระทงเป็น 5 ปี แต่หากศาลลงโทษกระทงละ 5 ปี รวม 5 กระทงจะเป็น 25 ปี กรณีหลังนี้ศาลจะจำคุกได้แค่ 20 ปี เพราะเพดานขั้นสูงสำหรับความผิดฐานลักทรัพย์ของนายจ้างที่โทษจำคุกขั้นสูงไม่เกิน 10 ปี คือ 20 ปี แต่หากเป็นความผิดที่มีอัตราโทษขั้นสูงเกินกว่า 10 ปี เช่น ความผิดตาม ป.อ. มาตรา 112 ที่มีอัตราโทษจำคุกขั้นสูงถึง 15 ปี หากมีการกระทำความผิดหลายกระทง เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้ว เพดานสูงสุดจะจำคุกได้ไม่เกิน 50 ปี ดังเช่นกรณีตามคำพิพากษาฉบับนี้

อย่างไรก็ดีสำหรับการ การใช้สิทธิยื่นอุทธรณ์คดีนั้น จำเลยก็สามารถยื่นอุทธรณ์ได้ตามกฎหมายต่อไป