posttoday

จับตาการประชุมร่วมรัฐสภาถกร่างแก้รธน.ฉบับไอลอว์ส่อแววแท้ง

16 พฤศจิกายน 2563

มติวิปรัฐบาลรับร่างแก้รธน.1-2 งดออกเสียงร่างฯ 3-6 ส่วนร่างของไอลอว์ขอฟังสมาชิกอภิปรายก่อน ขณะที่ 6 พรรคร่วมฝ่ายค้านประกาศลงมติรับทั้ง 7 ร่าง ด้าน"พรรคก้าวไกล"ส่งสารถึงส.ว.ให้ทำหน้าที่เพื่อประชาชน

เมื่อวันที่ 16 พ.ย.ที่รัฐสภา นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช ประธานวิปพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะรองประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) กล่าวภายหลังการประชุมวิปรัฐบาลว่า ที่ประชุมได้พิจารณาระเบียนวาระที่จะประชุมร่วมรัฐสาในวันที่ 17-18 พ.ย. โดยเริ่มต้นด้วยรายงานของคณะกรรมาธิการ (กมธ.)พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ก่อนรับหลักการ ทั้ง 6 ฉบับ ที่กมธ.พิจารณาเสร็จแล้ว ซึ่งวิปรัฐบาลมีมติรับทราบรายงานของกมธ.หลังจากนั้นเป็นการพิจารณาเรื่องด่วน คือการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 7 ร่าง โดยที่ประชุมวิปรัฐบาลมีมติให้รวมพิจาณาทั้ง 7 ร่าง  จากนั้นให้ลงมติโดยการเรียกชื่อและลงคะแนนโดยเปิดเผยในคราวเดียวกันทีละฉบับ ซึ่งวิปรัฐบาลมีมติว่า รับหลักการร่าง 1 และร่าง 2. ส่วนร่างที่ 3-6 งดออกเสียง ส่วนร่างที่ 7 คือร่างของไอลอว์ ที่ประชุมขอฟังการแถลงและการอภิปรายของสมาชิกก่อน จากนั้นวิปรัฐบาลจะนัดพิจารณาอีกครั้ง

นายชินวรณ์ กล่าวต่อว่า เมื่อลงมติเรียบร้อยแล้ว จะมีการตั้งคณะกรรมาธิการ(กมธ.)วิสามัญพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม(ฉบับที่ ...พ.ศ.....) จำนวน 45 คน แบ่งเป็น ส.ว. 15 คน ส.ส.30  คน โดยเป็นพรรคร่วมรัฐบาล 17 คน พรรคร่วมฝ่ายค้าน 13 คน

ขณะที่ 6 พรรคร่วมฝ่ายค้าน ได้ประกาศจุดยืนว่า การลงมติรับหลักการร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 17 -18 พ.ย.นี้ จะลงมติเห็นชอบทั้ง 7 ฉบับ โดยทั้ง 6 พรรค เห็นว่าควรเน้นให้ความสำคัญกับ ร่างแก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 256 ที่เสนอโดยภาคประชาชน หรือ ร่างของไอลอว์มากที่สุด

ด้านนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคก้าวไกล พร้อมด้วยส.ส.ของพรรค ร่วมกันแถลงเพื่อแสดงท่าทีและจุดยืนต่อการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญจำนวน 7 ฉบับ ว่า พรรคก้าวไกลมีความพร้อมในการทำงานหน้าที่และเตรียมส.ส.ที่จะดำเนินการอภิปรายไว้อย่างหลากหลาย สำหรับการลงมติของพรรคก้าวไกล พรรคจะรับหลักการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 7 ฉบับ และจะเสนอให้เอาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของไอลอว์เป็นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับหลักสำหรับการพิจารณาในชั้นของคณะกรรมาธิการของรัฐสภา เพราะเป็นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มีเนื้อหาครอบคลุมมากที่สุด เพื่อให้ประชาชนได้รับสิ่งที่ต้องการ

“ขอส่งสารไปถึงส.ส. หากไม่ทำหน้าที่เพื่อพิทักษ์สิทธิเสรีภาพก็อย่าเรียกตัวเองว่าเป็นผู้แทนราษฎร ส่วน ส.ว.ถือเป็นโอกาสสำคัญของพวกท่านในการส่งสัญญาณไปยังประชาชนเพื่อแสดงสปิริตทางการเมืองร่วมกันหาทางออกให้กับประเทศไทยต่อไป และขอให้พรรคร่วมรัฐบาลและส.ว.ถอนชื่อการส่งไปศาลรัฐธรรมนูญเพื่อแสดงความจริงใจในการบรรเทาสถานการณ์” นายพิธากล่าว

นายพิจารณ์ เชาว์พัฒนวงศ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวว่า จากการประชุมร่วมกัน 4 ฝ่ายยังมีความหนักใจต่อท่าทีของส.ว.โดยมาจากการที่ส.ว.กังวลและไม่ต้องการลงมติในช่วงเย็นที่อาจต้องใช้เวลานานถึง 4 ชั่วโมงเนื่องจากเป็นการลงมติด้วยวิธีการขานชื่อทั้ง 7 ฉบับแปลความเป็นอย่างอื่นไม่ได้ว่าจะไม่รับหลักการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของไอลอว์ จึงอยากเรียกร้องไปยังส.ว.เพื่อเห็นแก่บ้านเมือง ขอให้ละทิ้งคำสั่งที่ไม่ว่าจะรับมาจากทางไหน แต่ควรกลับมารับฟังเสียงของประชาชน รับฟังด้วยความเป็นกลาง ที่ต้องการให้เกิดรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่มีความเท่าเทียมและสร้างทางออกให้กับสังคมปัจจุบัน หวังว่าการประชุมรัฐสภาจะเป็นการอภิปรายบนความถ้อยทีถ้อยอาศัยกันและดำเนินการลงมติ

นายพิธา กล่าวว่า ท่าทีของพรรคประชาธิปัตย์ แสดงความชัดเจนว่าจะเน้นไปร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของวิปรัฐบาลและวิปฝ่ายค้าน แต่ไม่ตอบสนองร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของประชาชน ซึ่งน่าเป็นห่วงต่อสถานการณ์บ้านเมืองที่จะเกิดขึ้นต่อไป น่าเสียดายมากในเดือนก.ย.ที่ผ่านมา พวกเราก้าวไกลพยายามเสนอทางออกเพื่อบรรเทาปัญหาทางการเมือง ให้รัฐสภาเป็นต้นแบบในการพูดคุยและพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กลับโยนโอกาสเหล่านั้นทิ้งไป มีแต่เพียงการเปลี่ยนจุดยืนไปมาและการยื้อด้วยการยื่นศาลรัฐธรรมนูญ

หัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวอีกว่า การลงมติรับหลักการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 7 ฉบับจะเป็นผลดีทางการเมืองมากกว่าการตั้งคณะกรรมการปรองดอง ไม่มีทางไหนลดอุณหภูมิได้ดีเท่ากับการรับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญอีกแล้ว โดยสามารถนำทุกอย่างไปคุยกันในรายละเอียด เพื่อให้รัฐสภาเป็นพื้นที่ปลอดภัย