posttoday

พปชร.โว "คนละครึ่ง" มาถูกทาง ทำประชาชนหนุน "ประยุทธ์" อยู่ต่อ

16 พฤศจิกายน 2563

"ทิพานัน" ชี้ โครงการ "คนละครึ่ง"มาถูกทาง ทำประชาชนหนุน "บิ๊กตู่" อยู่ต่อ สวนทางข้อเรียกร้องม็อบ ห่วงผู้ไม่หวังดีป่วนม็อบหน้ารัฐสภา17พ.ย. หวังเรียกแขก

น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ อดีตผู้สมัครส.ส.กทม.เขตจอมทอง-ธนบุรี อดีตรองโฆษกพรรคพลังประชารัฐ กล่าวถึงผลสำรวจความคิดเห็นประชาชน ซูเปอร์โพลระบุโครงการคนละครึ่ง ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ เจ้าของร้านค้ารายย่อยพึ่งได้ และประชาชนส่วนใหญ่สนับสนุนรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาอยู่ต่อ ว่า เป็นเสียงสะท้อนที่ยืนยันว่ารัฐบาลมาถูกทางแล้ว โครงการคนละครึ่งลงไปกระตุ้นเศรษฐกิจถึงรายย่อย ไม่เอื้อประโยชน์นายทุน ทำให้ประชาชนสามารถสัมผัสได้ว่า ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนและลดค่าครองชีพได้อย่างแท้จริง

จึงทำให้ผลสำรวจจะพบว่าประชาชนที่พึงพอใจกับโครงการนี้ มีความต้องการสนับสนุนให้รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อยู่ต่อ ค่อนข้างสวนทางกับข้อเรียกร้องของกลุ่มผู้ชุมนุมอย่างเห็นได้ชัด นี่คือประเด็นที่กลุ่มผู้ชุมนุมจะปฏิเสธไม่ได้ว่า มีประชาชนที่สนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์อยู่เป็นจำนวนมาก จากผลของการทุ่มเททำงานเพื่อพี่น้องประชาชน ซึ่งเชื่อว่า จะมีโครงการ ช่วยเหลือประชาชนที่แก้ปัญหาได้ตรงจุด ออกมาอย่างต่อเนื่องหลังจากนี้

"จากผลโพลสะท้อนว่ายังมีพลังเงียบ ที่สนับสนุนรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์อยู่มาก ฉะนั้น วันนี้สิ่งที่พรรคการเมืองและนักการเมืองควรตระหนัก คือเลิกเล่นการเมืองอย่างไม่สร้างสรรค์ ที่จะกลายเป็นชนวนก่อให้เกิดความวุ่นวาย สร้างบรรยากาศที่ไม่ดี ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ อันเป็นการซ้ำเติมปัญหาปากท้องของประชาชน"

"อยากเชิญชวนม็อบที่ไม่ได้มีอำนาจบริหาร ให้ทำหน้าที่ตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล บนพื้นฐานเอกสารหลักฐานที่น่าเชื่อถือเป็นประโยชน์ต่อชาติและประชาชนอย่างจริงใจ โดยยื่นตรวจสอบตามกลไกองค์กรอิสระต่างๆได้ โดยไม่ต้องนำมวลชนลงถนน อันจะทำให้บรรยากาศการลงทุนต่างๆ ต้องชะงัก ในทางกลับกัน หากเคลื่อนไหวเพื่อตนเอง เช่นแก้รัฐธรรมนูญเพื่อยกเลิกกติกาในการแก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน หรือปรับเปลี่ยนหมวดที่เกี่ยวข้องกับสถาบันฯ เพื่อกลุ่มคนบางกลุ่ม ประชาชนก็มองเห็นและรู้ทันเช่นกัน" น.ส.ทิพานัน กล่าว

น.ส.ทิพานัน ยังกล่าวแสดงความเป็นห่วงการเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้ชุมนุมคณะราษฎรและกลุ่มไทยภักดีในการเดินทางไปชุมนุมที่หน้ารัฐสภาในวันที่ 17 พ.ย.เพื่อกดดันการประชุมร่วมรัฐสภา ในการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ระหว่างวันที่ 17-18 พ.ย. โดยเป็นห่วงว่า อาจเกิดการเผชิญหน้าระหว่างมวลชน 2 ฝ่าย โดยเฉพาะการยั่วยุจากผู้ไม่หวังดี ที่ต้องการสร้างสถานการณ์ให้เลวร้าย เพื่อเลี้ยงกระแสต่อไป ด้วยสถานการณ์ของกลุ่มผู้ชุมนุมคณะราษฎรจากการรายงานของ สภาความมั่นคงแห่งชาติ ต่อคณะรัฐมนตรีพบว่า  เริ่มแผ่วลง ซึ่งอาจมีบางกลุ่มที่ต้องการให้เกิดเหตุการณ์ร้าย หวังเรียกแขกให้กลุ่มผู้ชุมนุมได้