posttoday

ผลโพลชี้คนไม่ค่อยเชื่อมั่นความโปร่งใสเลือกตั้ง"อบจ." เปิด 3 คุณลักษณะเด่นที่ผู้สมัครควรมี

15 พฤศจิกายน 2563

ดุสิตโพลเผยคนไม่ค่อยเชื่อมั่นความโปร่งใสเลือก "อบจ." พร้อมเผย 3 คุณลักษณะเด่นที่ผู้สมัครควรมี เป็นคนดี มีคุณธรรม-ทำงานโปร่งใส-รับรู้ปัญหาและเข้าใจท้องถิ่น

สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศที่มีสิทธิเลือกตั้ง อบจ. จำนวนทั้งสิ้น 1,059 คน (สำรวจทางออนไลน์) ระหว่างวันที่ 5-12 พฤศจิกายน 2563 เพื่อสะท้อนความคิดเห็นต่อกรณีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กำหนดให้มีการเลือกตั้ง อบจ. ในวันที่ 20 ธันวาคม 2563 นับเป็นการเลือกตั้งท้องถิ่นครั้งแรกในรอบ 6 ปี หลังจากที่ว่างเว้นมานาน ซึ่งการเลือกตั้งครั้งนี้มุ่งเน้นเรื่องความเป็นธรรม โปร่งใส ผู้สมัครยึดปฏิบัติตามกฎระเบียบ สรุปผลได้ ดังนี้

1. ประชาชนให้ความสำคัญต่อการเลือกตั้ง อบจ. ครั้งนี้มากน้อยเพียงใด

อันดับ 1 มาก 38.81%

อันดับ 2 ค่อนข้างมาก 35.32%

อันดับ 3 น้อย 20.59%

อันดับ 4 ไม่ให้ความสำคัญเลย 5.28%

2. ประชาชนเห็นด้วยหรือไม่ว่า การเลือกตั้งท้องถิ่นเป็นพื้นฐานให้ผู้สมัครก้าวไปสู่การเป็น ส.ส. หรือ นักการเมืองระดับชาติ

อันดับ 1 เห็นด้วย 77.05%

อันดับ 2 ไม่เห็นด้วย 22.95%

3. ประชาชนสนใจ “การเมืองระดับชาติ” หรือ “การเมืองระดับท้องถิ่น” มากกว่ากัน

อันดับ 1 สนใจเท่า ๆ กัน 54.20%

อันดับ 2 สนใจการเมืองระดับชาติมากกว่า 21.62%

อันดับ 3 สนใจการเมืองระดับท้องถิ่นมากกว่า 15.20%

อันดับ 4 ไม่สนใจเลย 8.98%

4. “3 คุณลักษณะเด่น” ที่ผู้สมัคร อบจ. ควรจะมี

อันดับ 1 เป็นคนดี มีคุณธรรม 79.51%

อันดับ 2 ทำงานโปร่งใส 72.30%

อันดับ 3 รับรู้ปัญหาและเข้าใจท้องถิ่น 72.01%

5. “3 เรื่องเร่งด่วน” ที่ประชาชนอยากให้ อบจ. ช่วยเหลือมากที่สุด

อันดับ 1 พัฒนาเศรษฐกิจชุมชน 73.28%

อันดับ 2 ขจัดยาเสพติด อบายมุข 67.75%

อันดับ 3 ส่งเสริมอาชีพ/จ้างงาน 64.12%

6. ประชาชนเชื่อมั่นในความเป็นธรรมโปร่งใสของการจัดการเลือกตั้ง อบจ.ครั้งนี้มากน้อยเพียงใด

อันดับ 1 ไม่ค่อยเชื่อมั่น 39.75%

อันดับ 2 ค่อนข้างเชื่อมั่น 31.54%

อันดับ 3 เชื่อมั่น 14.45%

อันดับ 4 ไม่เชื่อมั่น 14.26%

นางสาวพรพรรณ บัวทอง นักวิจัย สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต เปิดเผยว่า ภาพรวมประชาชนไม่ค่อยเชื่อมั่นเรื่องความโปร่งใสในการจัดการเลือกตั้ง ร้อยละ 39.75 กว่า 6 ปีที่ประชาชนไม่ได้เลือกตั้งท้องถิ่น ผลการสำรวจจึงสะท้อนให้เห็นว่าประชาชนให้ความสำคัญกับการเลือกตั้งท้องถิ่นเป็นอย่างมาก เรื่องของความโปร่งใสต่อการจัดการเลือกตั้งก็เป็นสิ่งที่สำคัญ ไม่เช่นนั้นแล้วความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อการเลือกตั้งก็จะยิ่งลดน้อยลง ทั้งนี้ผู้สมัครเองก็ต้องมีความโปร่งใสด้วยเช่นกัน และเมื่อเข้ามาแล้วก็ต้องเร่งพัฒนาท้องถิ่นให้มากขึ้น

ด้านผู้ช่วยศาสตราจารย์ ว่าที่ ร.ต.จตุพล ดวงจิตร อาจารย์ผู้รับผิดชอบหลักสูตรรัฐศาสตรบัณฑิต โรงเรียนกฎหมายและการเมือง กล่าวว่า การเลือกตั้งระดับท้องถิ่นถือเป็นเรื่องที่สำคัญ เนื่องจากเป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนได้แสดงเจตจำนงทางการเมืองในการตัดสินใจเลือกตัวแทนเข้าไปบริหารจัดการชุมชนท้องถิ่นของตนเอง ภายใต้หลักคิดที่ว่า “ประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจ และเป็นผู้มีสิทธิ์ที่จะมอบอำนาจที่มีอยู่ให้กับตัวแทนไปทำหน้าที่ตามความต้องการของพวกเขาเอง” ซึ่งเป็นพื้นฐานที่สำคัญของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย

สำหรับการเลือกตั้ง อบจ. ในวันอาทิตย์ที่ 20 ธันวาคม 2563 ที่จะถึงนี้ จะเป็นการเริ่มขับเคลื่อนการบริหารงานท้องถิ่นเต็มรูปแบบอีกครั้ง หลังจากว่างเว้นมา 6-8 ปี ประชาชนส่วนใหญ่จึงค่อนข้างให้ความสำคัญ และคาดหวังที่จะได้ผู้บริหารท้องถิ่น รวมถึงสมาชิกสภาท้องถิ่นที่มีความรู้ความสามารถ มีคุณธรรมและจริยธรรม เข้ามาเป็นตัวแทนในการพัฒนาชุมชน หากการเลือกตั้งเป็นไปด้วยความบริสุทธิ์ยุติธรรม อันจะเป็นการลดความขัดแย้งในชุมชนและเป็นการสร้างความสมานฉันท์ในท้องถิ่นและประเทศชาติอีกทางหนึ่ง ซึ่งต้องอาศัยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนของสังคมในการอำนวยการเลือกตั้งครั้งนี้