posttoday

เพื่อไทยอัดยับรัฐไฟเขียว"ซีพี-เทสโก้"รวมธุรกิจตอกย้ำอุ้นคนรวย

09 พฤศจิกายน 2563

พรรคเพื่อไทยระบุรัฐบาลปล่อยให้"ซีพี - เทสโก้"ควบรวมกิจการเท่ากับรังแกรายผู้ประกอบการรายย่อยเล็กและโชห่วย แนะยุบคณะกรรมการการแข่งขันการค้าทิ้งเหตุเป็นแค่เสือกระดาษ

เมื่อวันที่ 9 ต.ค.นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ คณะทำงานทีมเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทย เปิดเผยว่า ไม่เห็นด้วยที่คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) ได้พิจารณาการขออนุญาตรวมธุรกิจระหว่างบริษัท ซี.พี. รีเทล ดีเวลลอปเม้น จำกัด และบริษัท เทสโก้ สโตร์ส (ประเทศไทย) จำกัด ว่าการควบรวมธุรกิจดังกล่าว ไม่เป็นการผูกขาด และไม่เสียหายต่อระบบเศรษฐกิจในระยะยาว

ทั้งนี้ คกก.กขค. ตั้งขึ้นมาภายใต้พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันไม่ให้มีการผูกขาดการค้าและตลาดในธุรกิจใดๆ ป้องกันไม่ให้บริษัทขนาดใหญ่เข้ามามีอำนาจเหนือตลาด การควบรวมบริษัททั้งสองดังกล่าว เป็นผู้ดำเนินกิจการค้าปลีกอันดับต้นๆของประเทศ การควบรวมย่อมก่อให้การแข่งขันในตลาดที่น้อยลง และทำให้ผู้ประกอบการรายนี้ครองส่วนแบ่งตลาด นับเฉพาะจำนวนร้านสะดวกซื้อไม่น่าจะต่ำกว่า 80% ตนจึงไม่อาจเข้าใจได้ว่าเหตุใด กขค.จึงมองไม่เห็นว่านี่เป็นพฤติกรรมที่ขัดต่อพ.ร.บ.แข่งขันทางการค้าอย่างชัดเจน

นายจุลพันธ์ กล่าวว่า ปัจจุบันเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ต่อเนื่อง รายเล็กอย่างร้านโชห่วยก็ค้าขายแทบไม่ได้อยู่แล้ว เจอการควบรวมแบบนี้แล้วภาครัฐไม่ดูแลคนที่อ่อนแอกว่า จะไม่ให้เชื่อได้อย่างไรว่ารัฐบาลนี้เอาใจแต่เจ้าสัวแต่ละทิ้งประชาชน แล้วยิ่งร้านสะดวกซื้อมาทำธุรกิจขายข้าวแกงขายผลไม้ และมาทำตัวเป็นธนาคารได้อีก อีกหน่อยธุรกิจในไทยคงถูกกินรวบหมด หากคกก.กขค.ที่มีหน้าที่โดยตรงไม่ดูแลธุรกิจรายย่อยแบบนี้ ตนเสนอให้ยุบเลิกหน่วยงานทิ้งเสีย เรื่องนี้เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนถึงความเหลื่อมล้ำในสังคม ที่กฎหมายจัดการได้แต่รายย่อยคนตัวเล็ก พอเจอยักษ์ใหญ่ก็เป็นมวยล้มอีก จึงเป็นเหมือนแค่เสือกระดาษเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ตลอด 6 ปีกว่า รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ล้มเหลวในการบริหารเศรษฐกิจประชาชนส่วนใหญ่รายได้ลด และ ลำบากกันอย่างมาก อีกทั้งยังได้สร้างความเหลื่อมล้ำให้เพิ่มขึ้น จากในอดีตก่อนการปฏิวัติ ความเหลื่อมล้ำของประเทศไทยอยู่ที่อันดับ 11 ได้เพิ่มขึ้นมาเป็นอันดับ 3 ในปี 2559 และ ขึ้นถึงอันดับ 1 ในปี 2661 ซึ่งมีปัญหาต่อการกระจายรายได้อย่างมาก แทนที่รัฐบาลจะทำลายการผูกขาดเพื่อสร้างโอกาส และกระจายรายได้ รัฐบาลกลับปล่อยให้มีการผูกขาดมากขึ้น ซึ่งเป็นการเอื้อประโยชน์แก่นายทุนและสร้างปัญหาเศรษฐกิจให้เพิ่มขึ้น