posttoday

"จตุพร"ชี้คดีบ้านพักหลวงอาจเป็นทางลงสวยงามของ"บิ๊กตู่"

05 พฤศจิกายน 2563

"จตุพร"เตือน"บิ๊กตู่"เตรียมใจเผื่อไว้บ้างคดีอาศัยบ้านพักของหลวง ศาลตัดสิน2 ธ.ค.นี้ชี้ในสถานการณ์การเมืองขาลงแล้ว อะไรก็เกิดขึ้นได้  

เมื่อวันที่ 5พ.ย.2563 นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เฟชบุ๊คไลฟ์ peace talk กรณีศาลรัฐธรรมนูญ นัดอ่านคำวินิจฉัย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ อาศัยบ้านพักของหลวงนั้นว่า ถ้านำสาระไปเทียบได้กับกรณีของนายสมัคร สุนทรเวช อดีตนายกรัฐมนตรี จัดรายการชิมไปบ่นไป และศาล รธน.วินิจฉัยว่า การรับเงินค่ารถเกิน 3,000 บาทให้พ้นตำแหน่ง ดังนั้น พล.อ.ประยุทธ์ อยู่บ้านพักหลวง หากเทียบเป็นเงินแล้วคงมากกว่า 3,000 บาทแน่นอน

อย่างไรก็ตามในขณะนี้ไม่มีอะไรยืนยันศาลจะใช้มาตรฐานเดียวกันหรือไม่ ในสถานการณ์การเมืองขาลงแล้ว อะไรก็เกิดขึ้นได้ทั้งนั้น เช่นเดียวกับการยุบพรรคพลังประชาชน ชาติไทย มัชฌิมาธิปไตย แล้วส่งผลให้เกิดการตั้งรัฐบาลใหม่ในค่ายทหาร

“แม้ครั้งนี้เป็นความผิดของพล.อ.ประยุทธ์ เฉพาะตัว แต่ยังไม่รู้การเมืองจะไปอย่างไร คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ อาจเป็นทางลงอย่างสวยงามของพล.อ.ประยุทธ์ ก็ได้ ทั้งที่ย้ำมาตลอดว่า ผิดอะไร ถึงที่สุดนายกฯต้องมีความรับผิดชอบในการทำให้บ้านเมืองเกิดปัญหา ประกอบกับเสียงเรียกร้องให้ลาออกดังไปทั่วประเทศ วันที่ 2 ธ.ค. ต้องคิดเผื่อใจไว้บ้างว่า อาจมีปัญหาเกิดขึ้นเพื่อยุติวิกฤตทั้งปวง และหากนายกฯยังอยู่ วิกฤตก็จะมีอยู่ต่อไปอีก” นายจตุพรกล่าว

สำหรับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา จะเอาร่างแก้ รธน.ของไอลอร์มาพิจารณาด้วย ซึ่งเชื่อว่า ร่างของประชาชนฉบับนี้ คงมีชะตากรรมเหมือนในอดีต ยิ่งถูกกล่าวหาว่ามีความผิดปกติของ 200 ชื่อที่ตรวจสอบแล้ว พบว่า ไม่ได้รู้เห็นในการเสนอร่างไอลอร์นั้น จึงทำให้จะมีสภาพโมฆะหรือไม่ และทำให้การเมืองง่ายขึ้นเพราะไม่ต้องลงมติในสภาด้วย ทั้งหมดนั้น เป็นการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า เพราะถ้าปล่อยให้ร่างไอลอร์เดินหน้าต่อไปจะยิ่งมีปัญหาเกิดขึ้น ดังนั้น เมื่อดูอาการและพยากรณ์ล่วงหน้าได้ว่า คงไม่รอดจะถูกคว่ำให้มีสภาพเป็นโมฆะ ไม่ให้ไปถึงการโหวตลงมติ

นายจตุพร กล่าวถึง การตั้งกรรมการสมานฉันท์ว่า เห็นปฎิกิริยาของ ส.ส.รัฐบาลออกมาถล่มยับเช่นนี้ การสมานฉันท์ก็ไปไม่รอด 2 ส.ส.รัฐบาลที่ออกมาแสดงความเห็นนั้น ไม่ใช่ความบังเอิญ แต่คงมีการหารือกันแล้ว เพราะจะถูกกดดันขั้นสูงสุดจากอดีตนายกฯ พวกนี้จึงต้องออกมาเตะตัดขาคว่ำเลย ซึ่งเป็นความวิตกกังวล ไม่ไว้เนื้อเชื่อใจนายชวน ดังนั้น ปรากฎการณ์นี้การสมานฉันท์รับรู้ว่าไม่มีผลทางปฏิบัติ แต่จะเป็นมาตรการบังคับทางสังคม ถ้าอดีตนายกฯ เสนอให้ พล.อ.ประยุทธ์ ลาออก แล้วจะเกิดแรงกดดันมากมายอย่างคาดไม่ถึง บวกกับกระแสคำวินิจฉัย 2 ธ.ค.ด้วย ย่อมทำให้ฝ่ายรัฐบาลจะอยู่ในอาการที่ร่อแร่ที่สุด

" เมื่อเศรษฐกิจพินาศ ประกอบกับการเมืองความชอบธรรมหาย และผสมกับ ร่าง รธน.ของไอลอร์ถูกคว่ำ จะเป็นเหตุกดดันอย่างหนึ่ง พร้อมมาถูกแรงคุกคามจากภายนอกประเทศที่พยายามปฏิบัติการทางการทหารให้ไทยเกิดความเสียหายรัฐบาลยิ่งอยู่ลำบากมากขึ้น สิ่งนี้เป็นสภาพล่าสุดของฝ่ายรัฐบาลในวันนี้ การสมานฉันท์คือไม่สมานฉันท์ แต่เชื่อว่า อดีตนายกฯและอดีตประธานรัฐสภา ที่นายชวน พยายามเดินเกมอยู่ ถ้าประชุมกันแค่วันเดียว แล้วเสนอมาตรการต่อสังคม ถ้าสังคมขานรับนั่นคือจุดตายของรัฐบาล"นายจตุพร กล่าว