posttoday

คุ้มครองสิทธิฯ ส่งจนท.ประเมินสถานการณ์ม็อบเยาวชน แนะเปิดเวทีฟังความเห็นต่าง

22 ตุลาคม 2563

กรมคุ้มครองสิทธิฯ ส่งเจ้าหน้าที่ประเมินสถานการณ์ม็อบเยาวชน แนะเปิดเวทีรับฟังความเห็นต่าง นำร่อง 10 จังหวัดให้เด็กทุกระดับชั้นเข้าใจ”สิทธิมนุษยชนศึกษา”ชี้ผลลัพธ์ละเมิดสิทธิผู้อื่น-ถูกละเมิดจะมีโทษตามกฎหมายอย่างไร

เมื่อวันที่ 22 ตค. 63 ที่กระทรวงยุติธรรม นายเรืองศักดิ์ สุวารี อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ เปิดเผยหลังองค์กรยูนิเซฟออกมาระบุว่ามีความเป็นห่วงสถานการณ์การชุมนุมในประเทศ ซี่งมีเด็กและเยาวชนเข้าร่วมเป็นจำนวนมากว่า กรมฯได้มีหนังสือชี้แจงเหตุการณ์ถึงเหตุความจำเป็นที่รัฐบาลต้องประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แต่ขณะนี้ได้มีการยกเลิกประกาศดัง กล่าวไปแล้ว ในส่วนของกรมฯทุกครั้งที่มีการนัดชุมนุมของกลุ่มคณะราษฎร์หรือกลุ่มเยาวชนปลดแอก กรมฯได้ส่งเจ้า หน้าที่ลงพื้นที่ประเมินสถานการณ์ชุมนุมมาโดยตลอดเพื่อติดตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่ามีการละเมิดสิทธิ์มากน้อยเพียงใด ซึ่งจากการประเมินของเจ้าหน้าที่พบว่า แม้เยาวชนที่มาร่วมชุมนุมจะมีการใช้อารมณ์ และอาจส่งผลกระทบกับเจ้าของพื้นที่หรือผู้ที่ต้องใช้รถใช้ถนนบ้าง แต่สิ่งที่กลุ่มผู้ชุมนุมกระทำเชื่อว่ามีผู้อยู่เบื้องหลัง โดยมีเจตนาเป็นอย่างอื่น

“สถานการณ์ปัจจุบันกลุ่มผู้ชุมนุมและรัฐบาลต่างฝ่ายต่างยืนยันความคิดของตัวเอง และมีการตีความในจุดมุ่งหมายที่แตกต่างกัน โดย เฉพาะเรื่องสถาบันที่เด็กและเยาวชนตั้งคำถาม ซึ่งก็จะต้องตอบคำถามตามข้อเท็จจริงที่อ้างอิงตรวจสอบได้ เรื่องใดที่ไม่รู้ก็ต้องตอบว่า ไม่รู้ ไม่ต้องบิดเบือน ที่เห็นชัดคือในโซเซียลมีการอ้างอิงประวัติศาสตร์ของประเทศฝรั่งเศส ซึ่งเป็นคนละบริบทกับประวัติศาสตร์ของชาติไทยจะนำมาเชื่อมโยงกันไม่ได้”นายเรืองศักดิ์ กล่าว

อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิ์ฯ กล่าวอีกว่า ทั้ง 2 ฝ่ายควรเปิดเวทีหารือกัน เพื่อสร้างความเข้าใจและเคารพซึ่งกันและกัน โดยไม่ใช้ถ้อยคำที่รุนแรง ไม่ใช่เป็นการต่อสู้กัน ซึ่งวันที่ 26 ต.ค.นี้ จะเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญ ก็จะได้มีการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น สำหรับการแก้ปัญหาเรื่องการละเมิดสิทธิ์ในระยะยาว โดยกรมฯและคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ(กสม.) และกระทรวงศึกษาธิการได้ร่วมกันจัดทำ คู่มือการจัดการเรียนรู้สิทธิมนุษยชนศึกษาให้กับนักเรียน และนักศึกษาในทุกระดับชั้นตั้งแต่วัยอนุบาลจนถึงระดับอุดมศึกษา ขณะนี้ได้มีการนำไปใช้ในสถานศึกษานำร่อง 10 จังหวัด เพื่อส่งเสริมให้ความรู้กับเด็กและเยาวชนให้ตระหนักถึงสิทธิของตนเองและการละเมิดสิทธิ์คนอื่น เช่น หากตนเองถูกละเมิดจะฟ้องร้องหรือขอรับการเยียวยาได้ที่ไหน หรือถ้าตนเองไปละเมิดผู้ต้องจะต้องถูกลงโทษอย่างไร ซึ่งหวังว่าประเด็นการละเมิดสิทธิ์จะจบหรือลดลง