posttoday

"วิษณุ" ชี้ยกเลิกประกาศฉุกเฉินเป็นเรื่อง "นายกฯ" ไม่ต้องเข้าครม.

22 ตุลาคม 2563

รองนายกฯวิษณุ เผยนายกฯ แจ้ง ครม.แล้วมีแนวคิดยกเลิก ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ย้ำไม่คิดใส่ข้อกำหนดใน พรก.ฉุกเฉินที่ควบคุมโควิด-19 ชี้หากสถานการณ์รุนแรงสามารถประกาศใหม่ได้

เมื่อวันที่ 22 ตค. ที่ทำเนียบรัฐบาล กล่าวถึงกรณีที่นายกรัฐมนตรีเตรียมยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในพื้นที่กรุงเทพฯ ว่า ตนไม่ทราบ ต้องถามฝ่ายความมั่นคง และเรื่องนี้ไม่จำเป็นต้องนำเข้าที่ประชุม ครม.

“เรื่องการยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในพื้นที่กรุงเทพฯ นายกรัฐมนตรี ได้หารือใน ครม.ไว้ก่อนหน้านี้แล้วว่า ถ้าจำเป็นก็ขอให้นายกฯ มีอำนาจในการตัดสินใจในส่วนนี้ ซึ่ง ครม. ก็เห็นชอบ และตาม พรก.ฉุกเฉิน มาตรา 11 วรรคสุดท้าย ระบุไว้ว่า การยกเลิกเป็นอำนาจของนายกรัฐมนตรี ไม่ใช่ของ ครม.”นายวิษณุ กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า ทางกลุ่มผู้ชุมนุมบีบให้นายกฯ ลาออกภายใน 3 วันนั้น นายวิษณุกล่าวว่าได้ยิน ได้ทราบแล้ว เมื่อถามว่า หากยกเลิก ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในพื้นที่กรุงเทพฯ ไปแล้ว ยังมีกฎหมายอะไรที่จะสามารถควบคุมการชุมนุมได้อีกหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า พรก.ฉุกเฉิน ที่ประกาศในเรื่องของมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 มันยังคงมีอยู่ซึ่งก็ครอบคลุมอยู่แล้ว แต่ว่าไม่ได้ห้ามเรื่องการชุมนุมอะไรทั้งสิ้น ถ้าหากจำเป็น ก็ใส่เรื่องการห้ามชุมนุมเข้าไป เป็นข้อกำหนด ก็สามารถทำได้

"ผมอธิบายมาตลอดว่า พระราชกําหนดเป็นแม่ แต่การประกาศ สถานการณ์ฉุกเฉิน เป็นลูก ซึ่งการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ไม่ว่าจะฉุกเฉินธรรมดาหรือฉุกเฉินร้ายแรง ก็ไม่ได้ทำให้มีอำนาจอะไรขึ้นมา ต่อไปก็คือหลานซึ่งหลานก็คือข้อกำหนด ซึ่งช่วงที่เราประกาศ เรื่องโควิด ใหม่ๆ เราออกข้อกำหนดเรื่องห้ามชุมนุมไว้เพราะตอนนั้นเราไม่รู้จักเรื่องของ Social distancing เราก็ห้ามชุมนุมเอาไว้ก่อน แต่พอเรารู้จักเราก็มีการประชาสัมพันธ์ในเรื่องของ Social distancing ดังนั้นข้อกำหนดในเรื่องของการห้ามชุมนุมก็เลิกไป ก็สามารถชุมนุมกันมาได้ตลอด แต่ต่อมาเมื่อเกิดเหตุในช่วงไม่กี่วันมานี้ ก็มีการประกาศยกระดับเป็น พรก.ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงขึ้นมา ซึ่งก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง หากจะเลิกก็เลิกส่วนนี้ไป ก็ไม่เป็นไร แต่ถ้ามันมีอะไรเกิดขึ้นมา ก็สามารถประกาศประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในพื้นที่กรุงเทพฯ ใหม่ก็ได้"รองนายกฯ กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า สามารถใส่ข้อกำหนดใน พรก.ฉุกเฉินที่ใช้อยู่ในปัจจุบันนี้ได้เลยใช่หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ใส่ได้ แต่ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องใส่ หากใส่มันจะกลายเป็นว่าครอบคลุมทั่วราชอาณาจักร แต่ไม่มีความจำเป็นต้องใส่และไม่คิดจะใส่ด้วย เพราะ พรก.ฉุกเฉิน ที่ใช้อยู่ปัจจุบันนี้เรามุ่งในเรื่องของ โควิด-19 มากกว่า อย่างไรก็ตาม ที่จะนำเข้าครม.เพื่อขอมติก็คือในเรื่องการขอต่ออายุ พรก.ฉุกเฉิน ที่เกี่ยวกับ โควิด-19 อย่างเดียว ไม่มีใส่ข้อความในเรื่องของการชุมนุมใดๆ ทั้งสิ้น มีบรรทัดเดียวเหมือนกับที่มีมาทุกเดือน คือต่อไปอีก 30 วัน ไม่มีการประกาศข้อกำหนดเพิ่มเติม ไม่มี รับรองได้