posttoday

"ปิยบุตร"ปลุกร่วมยุติวงจรรัฐธรรมนูญแห่งการแก้แค้นเอาคืน

11 ตุลาคม 2563

"ปิยบุตร" ชี้รัฐธรรมนูญ 60 คือระเบิดเวลาสู่ทางตัน ลั่นถึงเวลาแล้วที่ต้องสะสางปัญหานี้ ย้ำหลักการอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญเป็นของประชาชน

เมื่อวันที่ 11 ต.ค. 63 นายปิยบุตร แสงกนกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า กล่าวบรรยายในหัวข้อ “ถึงเวลาอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญใหม่” ในงานเปิดตัวกลุ่ม “Re-solution: ถึงเวลารัฐธรรมนูญใหม่” โดยระบุว่า ที่ผ่านมา เราเชื่อกันว่ารัฐธรรมนูญปี 2540 เป็นรัฐธรรมนูญแห่งการปฏิรูปการเมือง เชื่อว่าป็นผลพวงจากการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยสืบเนื่องมา เป็นฉันทามติของคนไทยร่วมกันครั้งสุดท้าย แต่เมื่อใช้ไปได้สักระยะหนึ่ง ในท้ายที่สุดฉันทามติที่ว่านี้ก็ได้ถูกทำลายลง

ขณะที่ฝ่ายหนึ่งยืนยันว่ารัฐบาลจากการเลือกตั้งใช้อำนาจโดยมิชอบ บิดผันรัฐธรรมนูญ แทรกแซงองค์กรอิสระและวุฒิสภา อีกฝ่ายหนึ่งก็เห็นว่าเสียงข้างน้อยใช้กลไกอิสระและอำนาจพิเศษในการทำลายฝ่ายตรงข้าม ไม่ยอมทำตามกติกาที่มีอยู่

ในวันที่ 19 ก.ย.49 คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข (คปค.) ตัดสินใจก่อรัฐประหารยึดอำนาจปกครองประเทศ ฉีกรัฐธรรมนูญทิ้ง วิกฤตรอบใหม่เริ่มขึ้นตั้งแต่วันนั้น ด้วยเป้าประสงค์ในการควบคุมอำนาจที่มาจากการเลือกตั้ง แต่เมื่อรัฐธรรมนูญ 2550 เอาไม่อยู่ จึงต้องมีการ “รัฐประหารซ่อม” เมื่อวันที่ 22 พ.ค.57

แต่ในท้ายที่สุดรัฐประหารทั้งสองครั้งก็ได้พิสูจน์แล้วว่าไม่ได้แก้ปัญหาที่คณะรัฐประหารทั้งสองชุดอ้างมา ว่าด้วยการแทรกแซงกลไกองค์กรอิสระและการตรจสอบอำนาจรัฐ หนำซ้ำยิ่งทำให้ปัญหาเหล่านี้หนักขึ้นมากกว่าเดิมเสียอีก

รัฐธรรมนูญ 2540 ได้สร้างองค์กรใหม่ๆ ขึ้นมาในนามองค์กรอิสระหลายองค์กร แต่ต่อมาก็ได้ถูกบิดผันไปรับใช้ผู้มีอำนาจ จากที่เคยทำให้กำเนิดวุฒิสภาจากการเลือกตั้ง ก็ถูกดึงกลับสู่การแต่งตั้งอีกครั้ง กลายเป็นส่วนหนึ่งการสืบทอดอำนาจ องค์กรอิสระกลายเป็นเครื่องมือรัฐบาลสืบทอดอำนาจในการปราาบปรามผู้เห็นต่าง

รัฐธรรมนูญในความหมายที่แท้จริงลึกซึ้ง คือกฎหมายสูงสุดว่าด้วยการปกครอง กำหนดความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันการเมือง รับรองสิทธิเสรีภาพของประชาชน ก่อตั้งโดยประชาชน รัฐธรรมนูญในความหมายนี้ไม่ได้เกิดจากคนใดคนหนึ่งมอบให้ แต่มาจากประชาชนทั้งผองมาตกลงกันว่าจะมีรัฐธรรมนูญหน้าตาแบบใด

อำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญเป็นอำนาจที่วิเศษ เพราะเริ่มต้นจากสิ่งที่ไม่มีอะไรเลย เริ่มต้นจากสภาพการณ์ที่ไม่มีเงื่อนไขกฎเกณฑ์หรือกรอบอะไรทั้งสิ้น เพื่อตั้งกรอบกฎเกณฑ์กติกาขึ้นมา ในสังคมประชาธิปไตย อำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญจึงต้องเป็นของประชาชน ประชาชนจะต้องเป็นผู้กำหนดว่ารัฐธรรมนูญจะมีหน้าตาอย่างไร สถาบันการเมืองกำเนิดมาได้เพราะรัฐธรรมนูญทำคลอดขึ้นมา และเป็นธรรมดาที่ต้องเล็กกว่าประชาชนและอยู่ใต้รัฐธรรมนูญ

หากกติกาที่เรียกว่ารัฐธรรมนูญมีข้อบกพร่องก็จะใช้กระบวนการแก้ไข ซึ่งกำหนดอยู่ในรัฐธรรมนูญเอง แต่ในบางช่วงเวลาสถานการณ์ที่รุดหน้าไปมากขึ้น อีกฝ่ายพยายามเหนี่ยวรั้งไมให้เปลี่ยนแปลง วิธีการแก้รัฐธรรมนูญอย่างเดียวอาจทำไม่สำเเร็จ

ดังเช่นที่ รัฐธรรมนูญ 2560 เป็นอยู่ในขณะนี้ ที่ออกแบบให้การแก้รัฐธรรมนูญทำได้ยากมาก เพราะผู้กำหนดรัฐธรรมนูญไม่ประสงค์ให้ใครมาแก้ ในขณะที่อารมณ์ของสังคมและผู้คนที่สะสมกำลังเอาไว้ทั้งในเชิงปริมาณ คุณภาพ และความคิดที่แหลมคมมากขึ้น สะสมมาตั้งแต่วันที่ 19 กันยายน 2549 ถึงปัจจุบัน พลังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แต่รัฐธรรมนูญกลับออกแบบไว้ให้เป็นทางตันไม่ให้แก้ได้ เพียงเพราะมีวุฒิสภา 84 คนก็สามารถขวางการแก้ได้แล้ว และต่อให้ผ่านไปได้ก็จะยังมีศาลรัฐธรรมคอยนูญขวางอยู่

“นี่คือวิกฤตการณ์ทางรัฐธรรมนูญ เมื่อมีพลังอยากแก้ เปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญแต่ไม่สามารถแก้เปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญได้ เพราะรัฐธรรมนูญออกแบบเอาไว้ให้มันแก้ยาก แล้ววิกฤตการณ์ทางรัฐธรรมนูญแบบนี้จะออกทางไหน? พลังของการแก้ไขเปลี่ยนปลงรัฐธรรมนูญเพิ่มขึ้นๆ ไม่มีวันลดน้อยถอยลง แล้วมันจะไปจบตรงไหน?” นายปิยบุตรตั้งคำถาม

รัฐธรรมนูญ 60 คือระเบิดเวลาสู่ทางตัน

นายปิยบุตรยังกล่าวต่อไป ว่าเรามีรัฐธรรมนูญมาแล้ว 20 ฉบับ การเปลี่ยนแปลงจากรัฐธรรมนูญฉบับหนึ่งไปสู่อีกฉบับหนึ่งเกิดขึ้นด้วยวิถีทางนอกรัฐธรรมนูญเกือบทั้งหมด จากการยึดอำนาจของคณะทหาร ฉีกรัฐธรรมนูญทิ้งแล้วตั้งรัฐธรรมนูญใหม่ขึ้นแทน นี่เป็นวิธีที่อนารยชนทำกัน คือการใช้กำลังในการตัดสิน การเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญที่ประชาชนเปลี่ยนกันเองแทบไม่ปรากฏในประเทศไทย หรือหากเกิดขึ้นก็ถูกชุบมือเปิบไปโดยกลุ่มอำนาจบางกลุ่มทุกครั้งไป

รัฐธรรมนูญนี้เหมือนระเบิดเวลารอระเบิดออกมา สถาบันทางการเมืองในระบบ ไม่กระตือรือร้น ไม่จริงใจในการแก้รัฐธรรมนูญ เมื่อสถาบันทางการเมืองตามรัฐธรรมนูญไม่แยแสเสียงของประชาชนที่ต้องการเปลี่ยนแปลง วิกฤติรัฐธรรมนูญก็จะเกิดขึ้นอีกครั้ง และหลายครั้งที่ผ่านมาเราก็จบลงด้วยการรัฐประหาร

ในทางทฤษฎีและปฏิบัติ นักกฎหมายมหาชนจำนวนหนึ่งพยายามสร้างคำอธิบายและทฤษฎีขึ้นมา ว่าเมื่อไรก็ตามที่มีการรัฐประหารเกิดขึ้น ประเทศไทยอยู่ในสภาวะปลอดรัฐธรรมนูญ คือว่าให้อำนาจสูงสุดอยู่ในมือของคณะรัฐประหารเป็นผู้ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ แล้วให้พระมหากษัตริย์ลงพระปรมาภิไทย เกิดเป็นทฤษฎีว่าอำนาจสูงสุดในการสถาปนารัฐธรรมนูญอยู่คู่กันระหว่างคณะรัฐประหารกับพระมหากษัตริย์

ดังนั้น หากรัฐประหารเกิดขึ้นอีก หรือวิกฤตทางการเมืองเดินหน้าไปจนรัฐธรรมนูญ 2560 อยู่ด้วยตัวเองไม่ได้แล้ว เราต้องยืนยันกลับไปว่าอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญอยู่กับประชาชนตลอดกาล ติดตัวมนุษย์มาตั้งแต่กำเนิด เราจะไม่ยอมให้คณะใดคณะหนึ่งฉกฉวยแย่งชิงเอาอำนาจในการก่อตั้งระบอบ สถาปนารัฐธรรมนูญไปจากประชาชนอีกแล้ว

“เมื่อไรเกิดการทำลายรัฐธรรมนูญ 60 ทิ้ง ไม่ว่าจะวิถีทางนอกระบบหรือปราศจากซึ่งความชอบธรรมอย่างสิ้นเชิง หรือคุณจะออกมายึดอำนาจ เมื่อนั้นประชาชนต้องร่วมกันออกมาแสดงพลังเปล่งเสียงไปว่า พวกเราคือผู้ทรงอำนาจสูงสุด เราจะกำหนดชะตากรรมผ่านการเขียนรัฐธรรมนูญด้วยกันเอง นี่คือสิ่งที่ประเทศไทยไม่เคยพูดกัน

นี่คือสิ่งที่เราพยายามมองข้ามมันไป เราคิดแต่เพียงว่าเราเป็นประชาชน เขาอาจจะเรียกเรามาใช้งานตอนทำประชามติเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับรัฐธรรมนูญของเขา แต่เราไม่เคยไปถึงจุดที่บอกว่าประชาชนเป็นผู้ทรงอำนาจสูงสุด ที่จะกำหนดชะตากรรม กำหนดระบอบการปกครอง กำหนดรัฐธรรมนูญกันเอง ดังนั้น ผมอยากฝากทุกท่านว่าถ้าสถานการณ์สุกงอมไปจนถึงว่ารัฐธรรมนูญ 60 ปราศจากความชอบธรรมอย่างสิ้นเชิง หรือ มีการยึดอำนาจฉีกรัฐธรรมนูญทิ้งแล้ว เราต้องร่วมกันยืนยันว่าอำนาจสูงสุดในการเขียนรัฐธรรมนูญเป็นของพวกเรา” นายปิยบุตรกล่าว

นายปิยบุตรกล่าวทิ้งท้ายต่อไปว่า ถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องยุติวงจรรัฐธรรมนูญแห่งการแก้แค้นเอาคืนตั้งแต่รัฐธรรมนูญ 2549 ถึงเวลาแล้วที่ประชาชนต้องมาแสวงหาข้อตกลงร่วมกันใหม่ เขียนรัฐธรรมนูญร่วมกัน เพื่อยืนยันว่าปัญหาที่มีมาตั้งแต่ปี 2475 จนถึงวันนี้แล้วยังแก้กันไม่จบ นั่นคืออำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญในประเทศไทยเป็นของใคร หรือประเทศนี้ใครเป็นเจ้าของกันแน่? ถึงเวลาแล้วที่จะต้องสะสางปัญหานี้ให้ลงตัว แล้วยืนยันว่าอำนาจสูงสุดของประเทศเป็นของประชาชน ประชาชนจะเป็นผู้กำหนดรัฐธรรมนูญเอง เดินหน้าแสวงหาข้อตกลงใหม่ร่วมกัน