posttoday

"วิษณุ" โยน กกต. ตัดสินเลือกตั้งท้องถิ่นควบประชามติ

08 ตุลาคม 2563

รองนายกฯวิษณุ โยน กกต.ตัดสินเลือกตั้งท้องถิ่นควบประชามติได้หรือไม่ เพื่อประหยัดงบ มอง พรบ.คำสั่งเรียกขัดรธน. ไม่ได้ลดอำนาจกมธ. ยันรัฐบาลพร้อมให้ความร่วมมือ

เมื่อวันที่ 8 ตค. นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญก่อนรับหลักการ ระบุ หากมีการแก้รัฐธรรมนูญต้องทำประชามติ ซึ่งมีความสำคัญกว่า อาจทำให้การเลือกตั้งท้องถิ่นเลื่อนออกไปนั้น ว่า อย่างแรกต้องตัดสินใจก่อนว่าถ้าแก้รัฐธรรมนูญต้องทำประชามติกี่ครั้ง หากจะทำประชามติเพื่อถามกรอบของการแก้ไขรัฐธรรมนูญก่อนลงมือแก้ไขส่วนนี้อาจไม่ยุ่งยากเท่าไร แต่ที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ตามมาตรา 256 ว่า เมื่อรัฐสภาแก้ไขรัฐธรรมนูญแล้วเสร็จ ก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯ ต้องทำประชามติ ส่วนนี้เป็นภาคบังคับคงจะไปทำซ้ำซ้อนกับอย่างอื่นไม่ได้ ต้องไปดูกันว่าจะทำให้เกิดความสับสนหรือไม่ จากนั้นผู้สื่อข่าวถามว่าสามารถทำประชามติพร้อมกับเลือกตั้งท้องถิ่นเพื่อให้ประหยัดงบประมาณได้หรือไม่ นายวิษณุ ตอบว่ามีความเป็นไปได้แต่ต้องถามคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ตนมองเห็นปัญหาเหมือนกันแต่ก็ต้องให้ กกต.เป็นคนยกขึ้นมา

นายวิษณุ ยังกล่าวถึงการชี้แจงของเลขาธิการ กกต. ต่อคณะรัฐมนตรี ถึงการเตรียมความพร้อมเลือกตั้งท้องถิ่นว่า การเลือกตั้งท้องถิ่นต้องมีองค์ประกอบ 5 อย่างคือ 1. บุคลากรที่จะใช้การจัดการเลือกตั้งท้องถิ่นคราวนั้น ๆ จะต้องพร้อม ซึ่งกกต. ก็ยืนยันว่าฝึกอบรมเรียบร้อยแล้ว 2. งบประมาณจะต้องมีพร้อม ซึ่งสำนักงบประมาณ ยืนยันว่าพร้อมแล้ว 3. กฎ ระเบียบต่าง ๆ ทาง กกต. ก็ออกครบเรียบร้อยแล้ว ระหว่างนี้อยู่ระหว่างการทยอยประกาศใช้ 4. การแบ่งเขตต่าง ๆ จะต้องพร้อม ซึ่งขณะนี้มีความพร้อมแล้วเป็นส่วนใหญ่ ที่ยังไม่พร้อมเข้าใจว่ามีเทศบาล และ 5. ผู้สมัคร

รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ผู้บริหารและสมาชิก อบจ. อยู่ระหว่างรักษาการ ทั้ง 76 แห่ง แต่เมื่อ กกต. ประกาศว่าจะมีการเลือกตั้งเมื่อใด ตั้งแต่วันที่ กกต. ประกาศให้ทราบว่าให้มีการเลือกตั้ง ระหว่างนี้บรรดานายก อบจ. ต้องพ้นจากตำแหน่งทันที ส่วนจะลงสมัครหรือไม่ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง โดยผู้ที่รักษาการคือปลัด อบจ. และการเลือกตั้ง อบจ. ที่จะถึงนี้ หากไม่ไปใช้สิทธิ์เลือกตั้ง โดยไม่ชี้แจงเหตุอันควร จะมีผลเป็นการเสียสิทธิบางอย่าง เช่นเดียวกับกรณีไม่ไปเลือกตั้ง ส.ส. ซึ่งฝ่าย กกต. จะชี้แจงรายละเอียดตามกฎหมาย รวมถึงการเลือกตั้งระดับเทศบาล หากไม่ไปเลือกตั้ง ก็จะมีการเสียสิทธิ์เช่นกัน ดังนั้นเมื่อเรียกร้องให้มีการเลือกตั้ง ก็ต้องไปใช้สิทธิ์เลือกตั้ง จะมีการออกประกาศ แต่ไม่มีการออกพระราชกฤษฎีกาเหมือนเลือกตั้ง ส.ส.

ส่วนกรณีที่ ศาลรัฐธรรนูญวินิจฉัยพระราชบัญญัติคำสั่งเรียกของคณะกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาขัดต่อรัฐธรรมนูญ 60 จะทำกลไกการของรัฐสภาลดน้อยลงหรือไม่ว่า ไม่เกี่ยวเพราะเวลาที่คณะกรรมาธิการเรียกให้ไปรัฐบาลก็ไปทุกครั้งไม่เคยไม่ส่งเลย

เมื่อถามข่าวว่าจะเป็นการถูกยึดดาบลดอำนาจหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ก็ต้องไปถามเขา มาถามอะไรตน ยืนยันว่าหากกรรมาธิการเรียกไปชี้แจงก็จะไปทุกครั้ง ยกตัวอย่างตน หากไปได้ก็จะไป หากไปไม่ได้ก็จะส่งตัวแทนไป คำตอบของคนอื่นก็เหมือนตนนั่นแหละ ตนต้องรับผิดชอบอยู่แล้วไม่เกิดปัญหา เพราะอำนาจการเรียกของกรรมาธิการมีอยู่แล้วตามรัฐธรรมนูญ60 เพียงแต่พระราชบัญญัติดังกล่าวกำหนดโทษทางอาญาสำหรับคนที่ไม่ไปเท่านั้นดังนั้นการเรียกบุคคลมาชี้แจงยังทำได้เช่นเดิมแต่ไม่สามารถดำเนินคดีทางอาญาได้เท่านั้น

นายวิษณุ กล่าวว่า สภาผู้แทนราษฎรมีอำนาจตามรัฐธรรมนูญสามารถเรียกบุคคลให้เข้าชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการได้ ซึ่งรัฐบาลก็มีการส่งผู้แทนไปทุกครั้ง เพียงแต่ศาลรัฐธรรมนูญชี้ว่า การระบุให้มีโทษทางอาญา ขัดต่อรัฐธรรมนูญ