posttoday

จตุพร เตือนรัฐบาลอย่ายื้อเวลาแก้ รธน.เดี๋ยวอายุสั้น-ย้ำหนุน 3 ข้อเรียกร้องม็อบปลดแอก

04 ตุลาคม 2563

จตุพร ย้ำหนุน 3 ข้อเรียกร้องม็อบประชาชนปลดแอก ลั่นนอกเหนือจากนี้ไม่เห็นด้วย ฝากรัฐบาลอย่ายื้อเวลาแก้รัฐธรรมนูญอีกเพราะจะทำให้อายุสั้นลง

เมื่อ 4 ต.ค. นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) กล่าวภายในงานจัดเลี้ยงวันเกิดครบรอบ 55 ปี ว่าเหลือเวลาอีก 5 ปี ก็ครบ 60 ปี สู้กันมาตั้งแต่เป็นนักศึกษา จนกระทั่งบัดนี้ก็ยังสู้อยู่บนถนนมากกว่าในที่ประชุมสภา ก็มีความหวังว่าประเทศไทย ควรจะก้าวไปมากกว่านี้ ควรจะเป็นประเทศที่อยู่ในสถานะที่เป็นผู้นำในประเทศกลุ่มอาเซียน แต่ต้องยอมรับความจริงว่า ด้วยความที่ประเทศไม่เป็นประชาธิปไตย ไม่มีเสถียรภาพทางการเมืองและการปกครองทำให้ประเทศเกิดความล้าหลังทั้งที่ควรจะก้าวไปได้ไกลมากกว่านี้ เนื่องจากประเทศไทยมีความพร้อมในทุกด้าน ขาดเพียงเเต่ความมั่นคงทางการเมืองการปกครองและประชาธิปไตย รวมถึงอำนาจของประชาชนที่ไม่มีความเเข็งแรงเรื่องการเมืองการปกครอง

“จนสุดท้ายก็หนีไม่พ้นการเลือกตั้งและการยึดอำนาจที่มาเป็นของคู่กัน จะเห็นได้ว่าคนถือปืนและคนถือเงินสลับกันเข้ามามีอำนาจมาโดยตลอด ทำให้ประเทศไทยเกิดความล้าหลัง จึงมีความหวังว่า ในช่วงชีวิตนี้อยากเห็นประเทศไทยสามารถยืนหยัดได้และประชาชนมีความแข็งแรง เป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และอำนาจเป็นของประชาชนอย่างแท้จริง เหล่านี้คือเป้าหมายที่ต่อสู้กันมาตั้งแต่วัยเด็ก จนกระทั่งอยู่ในวัยช่วงท้ายของชีวิตแล้ว”

นายจตุพร กล่าวถึงกรณี พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน อดีตประธาน คมช. ผู้นำรัฐประหารปี 2549 โค่นล้มรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ออกมาสนับสนุนเเนวทางการปรองดองนั้น ส่วนตัวมองว่า พล.อ.สนธิ พยายามลบล้างสิ่งที่เคยกระทำในการยึดอำนาจเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 โดยรู้สึกถึงความผิดพลาดในสิ่งที่เคยกระทำในอดีตและต้องการให้ประเทศเดินหน้าต่อไปได้ ส่วนตัวมองว่า พล.อ.กสนธิ รู้จักการให้อภัย ไม่ต้องการให้ประเทศอยู่กับความเกลียดชังความอาฆาตพยาบาท แต่ทั้งหมดก็ขึ้นอยู่กับผู้นำของรัฐบาลในปัจจุบันนี้ว่าจะมีจิตใจใหญ่เหมือนกับ พล.อ.สนธิ หรือไม่ เนื่องจากตลอดเวลาที่ผ่านมาหลังจาก 19 กันยายน 2549 ตนก็เห็นถึงความพยายามของ พล.อ.สนธิ ที่จะให้ประเทศไทยได้เริ่มนับหนึ่งใหม่กันมาหลายครั้ง

“วันนี้พลเอกสนธิ อายุมากขึ้นก็ยังมีความปรารถนาเรื่องนี้อยู่ ดังนั้นเป็นเรื่องของผู้ปกครองว่าจะมีจิตใจที่กว้างขวางรู้จักการให้อภัยหรือไม่ หากไม่รู้จักการให้อภัยก็จะอยู่กับความเกลียดชัง ความชิงชังและความผิดพลาดกันตลอดไป”

ส่วนกระแสข่าวรัฐบาลแห่งชาตินั้น นายจตุพร มองว่า รัฐบาลแห่งชาตินั้นที่มีการพูดขึ้นในช่วงที่ประเทศไทยเกิดวิกฤตศรัทธาต่อระบบรัฐสภาทั้ง ส.ว.และ ส.ส. ที่ไม่สามารถแก้ไขปัญหาให้กับประชาชนได้ ดังนั้นคำว่ารัฐบาลแห่งชาติก็ถูกหยิบขึ้นมาพูดกันหลายครั้งเมื่อเวลาที่ประเทศกำลังจะถึงจุดอับหรือ ทางตัน แต่ก็ไม่เคยจบลงด้วยการมีรัฐบาลแห่งชาติ แต่จบลงด้วยการมีรัฐประหารทุกครั้ง ดังนั้นเราเองก็ไม่เคยพิสูจน์ว่ารัฐบาลแห่งชาติดีหรือไม่ดีอย่างไรเพียงแต่เมื่อหยิบยกขึ้นมา คนต่างก็ไม่เห็นด้วย และเราก็ไม่เคยเห็น เพราะทันทีที่เรียกร้องรัฐบาลแห่งชาติคนไทยก็จะปฏิเสธและท้ายที่สุดก็จบลงด้วยการรัฐประหารทุกครั้ง ดังนั้น ตนเชื่อว่ารัฐบาลแห่งชาติเกิดขึ้นได้ยาก เพราะคนไทยไม่ยอมรับและไม่มีทางจะเกิดขึ้นได้ แต่รัฐประหารจะเกิดขึ้นได้

อย่างไรก็ตาม อย่าลืมว่าสิ่งหนึ่งที่ประเทศไทยยังไม่เคยเจออย่างหนึ่งคือการลุกฮือของประชาชนผู้ทุกข์ยากทั้งหลาย และวันหนึ่งหากประชาชนคนจนซึ่งมีเป็นจำนวนมากในขณะนี้ไม่สามารถใช้ชีวิตอยู่ได้อย่างปกติ มีเพียงไม่กี่ตระกูลที่อยู่ได้ ถึงวันนั้นตนเชื่อว่านี่คือศึกใหญ่กว่าทุกครั้งที่ประเทศไทยเคยเจอ

ส่วนท่าทีของผู้นำเหล่าทัพชุดใหม่ที่ออกมาประกาศจุดยืนไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมือ นายจตุพร มองว่า ต้องติดตามสถานการณ์นี้ เพราะสิ่งสำคัญที่สุดนั้น ทหารที่ได้ปฏิญาณตนก็เป็นเรื่องความจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และไม่ได้ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง ก็ประกาศกันทุกเหล่าทัพมีลักษณะแบบเดียวกัน เพียงแต่สถานการณ์ของประเทศไทยภายใต้ความลึกลับซับซ้อน รวมถึงมีปัจจัยภายนอกและภายในเป็นเรื่องของมหาอำนาจ ที่ต้องการจะใช้ประเทศไทย เพื่อเป็นฐานปฏิบัติการบางอย่าง หรือเป็นฐานที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงทางเศรษฐกิจนั้น หลายเรื่องจึงมีความเกี่ยวพันกันมากกว่าทุกครั้ง ดังนั้นจะเห็นได้ว่าการชุมนุมในอดีตนั้นไม่มีความสลับซับซ้อน เหมือนกับในครั้งนี้ จึงต้องคิดทุกอย่างอย่างรอบคอบ

นายจตุพร กล่าวอีกว่า สถานการณ์ทางการเมืองถัดจากนี้ไป ทุกคนจะมุ่งไปที่วันที่ 14 ตุลาคมนี้ ที่บรรดาคนหนุ่มสาวทั้ง 2 กลุ่ม ทั้งเยาวชนปลดแอกและกลุ่มธรรมศาสตร์และการชุมนุม ได้นัดหมายพร้อมกันเป็นครั้งแรกที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย โดยจะมีการชุมนุมยืดเยื้อ 7 วัน 7 คืนนั้น ตนเห็นว่า การชุมนุมไม่ว่าจะเป็นกลุ่มใดก็ตาม สามารถชุมนุมได้ตามสิทธิเสรีภาพ ที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญทุกฉบับ รวมถึงเคารพในการตัดสินใจของพี่น้องคนเสื้อแดง ที่จะมาร่วมชุมนุมในวันดังกล่าว

ตนยังยืนยันว่า จุดยืนเดิมของตนสนับสนุนแนวทาง 3 ข้อเท่านั้น นอกเหนือจากนี้ไม่เห็นด้วย โดยมองว่าหากข้อเรียกร้องถูกจำกัดวงเพียง 3 ข้อชัยชนะจะเกิดขึ้นกับคนหนุ่มสาวและประชาชน แต่หากยังไม่มีการทบทวนและยืนยันต่อก็ถือว่า เป็นสิทธิเสรีภาพ และตนก็จะอยู่ในบทบาทของ การทำหน้าที่ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

“หวังว่ารัฐบาลจะไม่ใช้วิธีการรุนแรงในการปราบปรามประชาชนเหมือนที่เคยกระทำกับพี่น้องคนเสื้อแดงในช่วงกว่า 10 ปีที่ผ่านมา ดังนั้นไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น จะต้องแก้ไขปัญหาด้วยหลักสันติวิธีเท่านั้น เพราะการใช้หลักนิติศาสตร์นำหลักรัฐศาสตร์สะท้อนให้เห็นชัดเจนแล้วว่า ไม่สามารถแก้ไขปัญหาประเทศได้แม้แต่กรณีเดียว”

พร้อมกันนี้ ฝากไปถึงรัฐบาลว่า การยื้อเวลาแก้ไขรัฐธรรมนูญไปอีก 1 เดือนนั้น จะทำให้รัฐบาลอายุสั้นลง เนื่องจากนายกรัฐมนตรีได้แถลงนโยบายต่อที่ประชุมรัฐสภาแล้วว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นวาระเร่งด่วน กลับทำลายความน่าเชื่อถือของภาวะผู้นำประเทศ พร้อมกับเรียกร้องความจริงใจให้เปิดสมัยประชุมสภาวิสามัญก่อนวันที่ 14 ตุลาคม เพื่อลงมติรับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระที่ 1 หากยังยื้อเวลาไว้ ตนมองว่ารัฐบาลประเมินประชาชนต่ำเกินไป เพราะขณะนี้ประชาชนอยู่ในยุคที่ลำบากมากที่สุด และบังเอิญว่าการชุมนุมเป็นเรื่องที่มากลบความเดือดร้อนและหิวโหยของประชาชน แม้ว่าจะมีการแจกเงินไปบ้าง แต่ความหิวโหยนั้นอยู่เหนือกว่าการแจกเงิน

ดังนั้นในวันนี้รัฐบาลไม่ว่าจะนำใครมาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ก็ยังไม่เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงของประเทศ เพราะนายกรัฐมนตรียังเป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ เมื่อคนไม่เป็นงานเศรษฐกิจมาเป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ และการปล่อยระยะเวลาให้ตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังว่างเว้นถึง 2 ครั้ง เป็นเรื่องที่สร้างความเสียหาย และยิ่งจะทำให้เกิดความเดือดร้อนให้กับประชาชน

นายจตุพร ยังกล่าวตำหนินายไพบูลย์ นิติตะวัน รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ที่ออกมาระบุว่าประชาชนที่ออกมาเรียกร้องแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นเท่าหยิบมือเดียว โดยระบุว่า หากยังไม่แก้ไขคำพูดนี้นรกจะมาเยือนในวันที่ 14 ตุลาคม วันหนึ่งหากประชาชนที่อดอยากทนไม่ได้และลุกฮือขึ้นมา คือสิ่งที่น่ากลัวของรัฐบาลที่แท้จริง ดังนั้นทีมเศรษฐกิจที่เข้ามาใหม่นี้ต้องทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลง หากยังเป็นแบบนี้นายกรัฐมนตรีจะต้องพิจารณาตนเอง ควรเสียสละเพื่อประเทศ เพราะประเทศเสียสละให้มามากพอแล้ว