posttoday

วงสัมนาร่วมทุกฝ่ายเห็นพ้องจี้รัฐสภาต้องแก้ไขรธน.ลดความขัดแย้งสังคม

03 ตุลาคม 2563

ภาคีเพื่อรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย ร่วมกับ สถาบันสร้างไทย จัดงานสัมมนาเรื่อง “การแก้ไขรัฐธรรมนูญ คือทางออกประเทศไทย” ผู้ร่วมเสวนาต่างเห็นพ้องต้องแก้ไขรธน.ปี60

เมื่อวันที่ 3ต.ค.63 ที่ห้องประชุม 14 ตุลา อนุสรณ์สถานฯ ภาคีเพื่อรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย ร่วมกับ สถาบันสร้างไทย จัดงานสัมมนาเรื่อง “การแก้ไขรัฐธรรมนูญ คือทางออกประเทศไทย” โดยผู้ร่วมเสวนาต่างเห็นพ้องให้เดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญ เนื่องจากเป็นกติกาที่ไม่เป็นธรรม พร้อมเรียกร้องให้รัฐสภาเห็นชอบเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญทุกญัตติ เพื่อลดความขัดแย้งของสังคม ซึ่งการเสวนาภายใต้หัวข้อ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ คือทางออกประเทศไทย มีนักการเมือง ทั้งจากพรรคฝ่ายค้าน และฝ่ายรัฐบาล นักวิชาการ ภาคประชาชนร่วมเสวนาอย่างคับคั่ง

โดยนายโภคิน พลกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐธรรมนูญฉบับ ปี 2560 ร่างมาเพื่อไม่ให้ฝ่ายประชาธิปไตยชนะการเลือกตั้ง แม้จะชนะการเลือกตั้งก็ไม่สามารถเดินหน้าได้ เพราะองค์กรอิสระพร้อมที่จะแจกข้อหาต่างๆให้ จึงไม่สามารถบริหารประเทศได้ และเห็นว่าไม่ทำให้ประชาชนอยู่ดีกินดีขึ้น ซึ่งพรรคเพื่อไทยมองว่าทางออกที่ดีที่สุดคือต้องมีรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน และให้มี สภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ ส.ส.ร. ขึ้นมาร่างรัฐธรรมนูญ ก่อนทำประชามติ พร้อมยืนยัน ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคร่วมฝ่ายค้าน ไม่ได้แตะหมวด 1-2 แต่มุ่งแก้เกี่ยวกับสิทธิของประชาชน แม้จะขัดกับข้อเสนอของหลายฝ่ายอยู่บ้าง แต่มองว่า เป็นการเริ่มต้นทางออกของวิกฤติ และเป็นทิศทางของประเทศ และเชื่อว่าจะไม่มีใครไปบังคับให้ ส.ส.ร. ร่างตามใจ ส.ส.ร. เองก็จะไม่ร่างเพื่อฝ่ายใด

ด้านนายนิกร จำนง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคชาติไทยพัฒนา มองว่า การเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้เป็นทั้งประตูสู่วิกฤติครั้งใหญ่ และเป็นประตูสู่ทางออกของปัญหาเช่นเดียวกัน เพราะขณะนี้ประเทศมีปัญหาทั้งเศรษฐกิจ และความขัดแย้ง จึงต้องเลือกว่าจะเปิดประตูสู่ทางใด พร้อมมองว่า การที่ ส.ว. เสนอขอตั้งกรรมาธิการขึ้นมาศึกษาก่อนพิจารณารับหรือไม่รับร่า เนื่องจากการศึกษาแก้รัฐธรรมนูญที่ผ่านมา ยังไม่มี ส.ว. เข้ามามีส่วนร่วม เพราะ ส.ส. อยากให้ได้ข้อสรุปก่อน จึงทำให้ ส.ว. กังวลว่าจะเป็นการตีเช็คเปล่าหรือไม่ หรือขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่หากแก้ทั้งฉบับ แต่ทั้งนี้มั่นใจว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้จะแก้ได้ และคิดว่าในวาระรับหลักการจะผ่านไปได้

ขณะที่ นายยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการโครงการ iLaw กล่าวว่า ภาคประชาชนอยากจะให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จึงได้เดินหน้าล่ารายชื่อ เพื่อร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ เสนอต่อที่ประชุมสภา และรู้สึกมีความหวังว่าจะสามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ เพราะเชื่อว่าทุกคนรับรู้ว่าระบอบที่ใช้อยู่เป็นอย่างไร พร้อมเรียกร้องตัวแทนประชาชนในสภาให้โหวตรับร่างฯ แต่หากโหวตไม่รับร่างฯ ต้องตอบสังคมให้ได้และต้องรับผิดชอบกับกระแสสังคมที่อาจเกิดสิ่งที่ไม่คาดคิดให้ได้

นายพรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย อาจารย์ภาคกฎหมายรัฐธรรมนูญ ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า ตนเองเคยพูดถึง การเมืองภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับ ปี 2560 ว่า จะเกิดรัฐบาลผสม ทำให้สังคมย้อนยุค เกิดความขัดแย้ง วุ่นวาย จนต้องหาทางแก้ไข และมั่นใจว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้จะมีอายุไม่เกิน 3 ปี แม้จะอ้างว่ารัฐธรรมนูญปี 2560 จะมีการทำประชามติ ทั้งในส่วนของการรับรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วง แต่ก็เป็นการทำประชามติภายใต้การจำกัดสิทธิเสรีภาพ แต่รัฐธรรมนูญฉบับนี้ถูกยกร่างด้วยคนกลุ่มเดียวเพื่อประโยชน์ของคนกลุ่มเดียว จากคำพูดที่ว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ออกแบบมาเพื่อพวกเรา ที่สะท้อนให้เห็นว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ใช่ของประชาชน พร้อมมองว่า ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 ทั้งของฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ เพราะได้กำหนดว่าจะไม่แตะหมวด 1-2 จึงไม่ได้เป็นการยกร่างทั้งฉบับ จึงเห็นว่าถึงเวลาแล้วที่จะให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

วงสัมนาร่วมทุกฝ่ายเห็นพ้องจี้รัฐสภาต้องแก้ไขรธน.ลดความขัดแย้งสังคม

ด้านนายโคทม อารียา ประธานภาคีเพื่อรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย มองว่า ความจำเป็นของการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้เกิดจากความไม่เป็นธรรม และอยากให้ทหารออกจากการเมือง พร้อมเสนอว่า การเดินหน้าจะต้องให้ประชาชนตัดสินใจว่าจะเดินไปข้างหน้าอย่างไร และเห็นว่าการลงประชามติไม่เป็นการตีเช็คเปล่า ขณะเดียวกันยังเห็นว่า เงื่อนไขตั้ง ส.ส.ร. แก้มาตรา 256 ของฝ่ายรัฐบาลทำได้ยาก เพราะกำหนดใช้เสียง 3 ใน 5 ของสมาชิกรัฐสภาในการลงมติ ซึ่งต้องพึ่งเสียงของ ส.ว. อย่างน้อย 84 เสียง ซึ่งหาก ส.ว. ไม่เห็นชอบก็ไม่สามารถแก้ไขได้ ซึ่งต่างจากร่างของพรรคฝ่ายค้าน ที่กำหนดให้การลงมติใช้เสียงเกินครึ่งของรัฐสภา คือ 370 เสียง ซึ่งสามารถลงมติได้ง่ายตามปกติที่เคยปฏิบัติมา

นอกจากนี้ในร่างของรัฐบาลยังไม่ยอมตัดเงื่อนไขที่ห้ามแตะต้องคุณสมบัติ อำนาจหน้าที่ ของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และ กรรมการในองค์กรอิสระ ทั้งที่การแก้ไขครั้งนี้ต้องไปปรับแก้ส่วนนั้นอยู่แล้ว หากยังคงเงื่อนไขนี้ไว้ยิ่งทำให้การแก้ไขเป็นไปได้ยากอีก

นายวัฒนา เมืองสุข อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ มองว่า รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 เป็นต้นตอของปัญหา เพราะมีความเชื่อมโยงกันของการเมืองและเศรษฐกิจ ถ้าหากแก้ปัญหาการเมืองไม่ได้ ก็แก้ปัญหาเศรษฐกิจไม่ได้ เพราะไม่เกิดการสร้างความเชื่อมั่น ดังนั้นจึงจำเป็นต้องเปลี่ยนโครงสร้างประเทศ และโครงสร้างเศรษฐกิจ โดยการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อนำไปสู่ทางออกให้กับประเทศ

คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ อดีตประธานยุทธศาสตร์ พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า รัฐธรรมนูญ ปี 2560 เป็นรัฐธรรมนูญที่สืบทอดอำนาจ และลิดรอนสิทธิประชาชนมากที่สุด จึงพยายามหาทางแก้ไขปัญหา โดยการผลักดันให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ นำไปสู่การเกิดข้อเรียกร้อง 3 ข้อของนักศึกษา จึงทำให้เกิดการผลักดันในสภาผู้แทนราษฎร พร้อมยืนยัน ไม่ถอดใจ จะเดินหน้าผลักดันแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะเป็นทางออกที่สันติที่สุด ซึ่งได้เสนอแนวทางไว้ 2 ทาง คือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 โดยให้ประชาชนแก้ไขด้วยตัวเองใหม่ และ การแก้ไขรายมาตรา โดยเฉพาะการยกเลิกอำนาจของ ส.ว. ไม่ให้โหวตเลือกนายกรัฐมนตรี การปิดช่องทางการได้มาซึ่งนายกรัฐมนตรีคนนอก โดยการเลือกจาก ส.ส. เท่านั้น พร้อมเรียกร้องให้ผู้แทนร่างเห็นชอบร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทุกญัตติ เพื่อคืนสิทธิให้ประชาชนด้วยความจริงใจ