posttoday

รมช.เกษตรฯ ยัน จะไม่มีการใช้ 2 สารพิษ

29 กันยายน 2563

'มนัญญา' การันตี นั่ง รมช. เกษตร จะไม่มีการใช้ 2 สารพิษ คลอร์ไพริฟอส - พาราควอต

เมื่อวันที่ 29 ก.ย. น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รมช.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวถึงกรณีคณะกรรมการวัตถุอันตราย มีมติยังห้ามใช้สารคลอร์ไพริฟอส และพาราควอตว่า มีการระบุว่าคณะกรรมการวัตถุอันตรายจะไม่นำเรื่องดังกล่าวมาพิจารณา เมื่อมันไม่มีต้นก็จะไม่มีปลายต่อไป

เมื่อถามว่าขณะนี้วางใจได้หรือยังว่า คณะกรรมการวัตถุอันตรายจะไม่ทบทวนมติห้ามใช้สารพิษอันตราย น.ส.มนัญญา กล่าวว่า “วางใจได้ เมื่อตนยังเป็นรัฐมนตรีอยู่"

เมื่อถามว่าเรื่องนี้สามารถนำมติเข้าพิจารณาทบทวนได้ตลอดเวลาใช่หรือไม่ น.ส.มนัญญา กล่าวว่า ก็น่าจะเป็นอย่างนั้น เพราะที่ผ่านมาก็เห็นกลับไปกลับมา ซึ่งตนก็ไม่ทราบระบบกลับไปกลับมา ว่าเมื่อก่อนเป็นอย่างไร

เมื่อถามต่ออีกว่า ขณะนี้ยังมีคลื่นใต้น้ำที่อยากให้นำพาราควอต กลับมาใช้อยู่ใช่หรือไม่ น.ส.มนัญญา กล่าวว่า คิดว่าคณะกรรมการชุดนี้ คงจะไม่นำเรื่องดังกล่าวกลับมาทบทวนอีกแล้ว ไม่ว่าคลื่นใต้น้ำจะมีอย่างไรก็แล้วแต่ มันอยู่ที่เราจะเกิดความมั่นคง และจริงใจกับผู้บริโภค เกษตรกร มากน้อยขนาดไหน ตรงนี้สำคัญกว่า

เมื่อถามย้ำว่าประชาชนจะมั่นใจได้แล้วใช่หรือไม่ น.ส.มนัญญา กล่าวว่า ก็น่าจะไว้วางใจได้แล้ว ส่วนที่มีเกษตรกรบางส่วนกังวลว่าขณะนี้ยังไม่มีสารเคมีมาใช้ทดแทน รวมทั้งบางพื้นที่ยังมีการลักลอบขาย เรื่องนี้ตนก็ไม่ทราบว่าคนที่ออกมาเรียกร้องเป็นกลุ่มอาชีพอะไร กำลังตรวจสอบอยู่ แต่กลุ่มที่เป็นเกษตรกรจริงๆ ได้ลงไปดูแทบทุกแปลงแล้ว นำเครื่องจักรไปช่วยเหลือ และสารทดแทนยังมีอยู่ แต่หากยังเป็นพิษเราก็จะห้ามเหมือนเดิม ซึ่งมั่นใจว่าสารที่จะมาทดแทนมีพิษน้อยกว่าสารเคมีเดิม ทั้งนี้ยอมรับว่าเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงคนก็ยังยอมรับไม่ได้ แต่เชื่อว่าถ้ามีการแบนอย่างจริงจังก็จะเกิดระบบการปรับเปลี่ยนอย่างยั่งยืน

น.ส.มนัญญา กล่าวต่อว่า หลังจากนี้ต้องไปดูการนำเข้าผลิตภัณฑ์นม และนมผงที่นำเข้าจากต่างประเทศ เราต้องร้วมมือกับกระทรวงสาธารณสุข เพื่อดูว่ายังมีสารพาราควอต ปนเปื้อนอยู่หรือไม่ เนื่องจากในประเทศของเราตอนนี้ระบบนมสดเป็นออแกนิคและการบริโภคนมของเด็ก เยาวชนเป็นเรื่องสำคัญ หากมีสารปนเปื้อนที่เป็นข้อห้ามในประเทศไทย แต่ยังมีการนำเข้าจากต่างประเทศทั้งที่ยังเป็นพิษภัย ให้เด็กทารกและเด็กที่กำลังเจริญเติบโตอยู่บริโภค ซึ่งเราจะเข้มงวดเรื่องนี้ต่อไป รวมทั้งจำกัดการใช้ไกลโฟเซตอีกด้วย