posttoday

ส.ว.ยืนกรานไม่รับร่างรธน.อ้างสถานการณ์ปัจจุบันยังไม่เอื้ออำนวย

24 กันยายน 2563

ส.ว.ส่วนใหญ่ยังคงอภิปรายไม่เห็นด้วยแก้รัฐธรรมนูญตั้งสสร."ถวิล เปลี่ยนสี"ลั่นไม่รับทั้ง6ฉบับ"สมเจตน์"อ้างกลัวกลับไปเป็นสภาทาส

เมื่อวันที่ 24 ก.ย.ที่รัฐสภา มีการประชุมร่วมของรัฐสภา เพื่อพิจารณาญัตติด่วน 6 ญัตติเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นวันที่ 2 โดย ส.ว.ยังคงอภิปรายไม่เห็นด้วยกับการแก้รัฐธรรมนูญ อาทิ นายถวิล เปลี่ยนศรี กล่าวว่า ยังไม่สามารถเห็นด้วยกับร่างแก้ไขเพิ่มเติมทั้ง 6 ฉบับ โดยเฉพาะ มาตรา 256 ในหลักการพอรับได้ แต่รายละเอียดยังทำใจรับไม่ได้

ทั้งนี้เพราะรัฐธรรมนูญแม้เป็นกฏหมายสูงสุด แต่ไม่ใช่ชีวิตของประชาชน รัฐธรรมนูญแก้ไขปัญหาอดอยาก เหลื่อมล้ำ แก้เจ็บป่วย หรือแม้แต่ยับยั้งโควิดก็ไม่ได้ ฉะนั้น อย่าคาดหวังว่ารัฐธรรมนูญจะแก้ไขปัญหาทุกอย่างให้ได้ รัฐธรรมนูญปี 40 ได้รับการยกย่องว่าดีที่สุด แต่แล้วก็ไปไม่ได้ อะไรที่ไม่ได้ห้ามไว้ก็ถูกผู้ใช้รัฐธรรมนูญบิดเบือน

นายถวิล กล่าวอีกว่า รัฐธรรมนูญดีต้องมาพร้อมกับผู้ใช้ที่ดี บางทีอาจไม่ต้องแก้รัฐธรรมนูญ แต่ต้องแก้นิสัยผู้ใช้รัฐธรรมนูญต่างหาก ส่วนที่มีการวิจารณ์ว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญแก้ยากแทบเป็นไปไม่ได้ แต่หากมีเหตุผลเพียงพอจะเอาเสียงส.ว.ทั้งหมด 250 เสียงก็ได้ แต่ต้องเป็นประโยชน์ของประเทศ หรือที่ภาษาวัยรุ่นเรียกว่าได้ทั้งหมดถ้าสดชื่น ดังนั้นการจะแก้ไขเพิ่มเติมให้มีสสร. เพื่อยกร่างใหม่ทั้งฉบับ เกรงว่าจะไม่ใช่เจตนารมของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ และอาจขัดกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ปี 55 ดังนั้น ถ้าจะรื้อต้องกลับไปถามประชาชนอีกครั้ง

“ถ้าทำประชามติ เราจะต้องทำถึง 3 ครั้ง ครั้งแรก ถามประชาชนว่าจะให้แก้รัฐธรรมนูญหรือไม่ ครั้งที่สอง เมื่อแก้แล้วก็ต้องทำอีกครั้ง สุดท้ายเมื่อได้ประชามติแล้วจัดทำร่างเสร็จต้องนำกลับไปทำประชามติว่าจะรับหรือไม่ ใช้เงิน 1.6 หมื่นล้านบาท ไม่ได้เกิดประโยชน์กับพี่น้องประชาชน ส่วนจะเกิดประโยชน์กับใคร ไม่ทราบ ประชาชนไม่ได้เดือดร้อนรำคาญ”นายถวิล กล่าว

พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม ส.ว. อภิปรายว่า การยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับเก่าไปร่างฉบับใหม่เป็นประวัติศาสตร์ที่วนเวียนซ้ำซากไม่รู้จบสิ้น เหตุการณ์ครั้งนี้เคยเกิดในสมัยปี 2555 สมัย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2550 เป็นเรื่องทำนองเดียวกับปัจจุบัน ที่พรรคฝ่ายค้านและพรรคร่วมรัฐบาลเสนอ โดยการแก้ไขครั้งนี้ผู้เสนอญัตติให้เหตุผลว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้มีผลต่อโครงสร้างสถาบันในสังคมและส่งผลให้เกิดความขัดแย้ง จึงต้องแก้ไขเพื่อระงับความขัดแย้ง

ทั้งนี้เห็นว่า ในสมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ เป็นยุคที่รัฐบาลกุมเสียงข้างมากได้ และแก้ไขที่มาของ ส.ว. และให้ ส.ว. เสนอแก้ไขปัญหาการยุบพรรคให้ ส.ส. เหมือนผลัดกันเกาหลัง เนื่องจากรัฐบาลกุมเสียงข้างมาก มีการรีบเร่งแก้ไขที่มาของ ส.ว. จนเกิดเหตุการวุ่นวาย ถูกประณามว่าเป็นเผด็จการรัฐสภา และเมื่อมีเหตการณ์ที่ต้องร่างรัฐธรรมนูญปี 2560 ภาพเหตการณ์นั้นก็ยังติดตา "ตอนนี้การแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องเห็นร่วมกันของทุกฝ่าย และการไปตัดเงื่อนไขสำคัญที่ต้องได้รับความเห็นชอบกับ ส.ว. 1 ใน 3 และ ส.ส.ฝ่ายค้าน 20 % มันก็จะทำให้สภากลับไปเป็นสภาทาส ที่มีเผด็จการรัฐสภาเหมือนเดิม เสียงข้างมากไม่ฟังเสียงข้างน้อย หลายคนไปตำหนินายมีชัย ฤชุพันธ์ แต่ตนเห็นว่าต้องขอบคุณที่จะสร้างภาพพจน์ที่ดีของรัฐสภา ว่าแม้เสียงข้างน้อย 20 % ก็สามารถยับยั้งการแก้ไขรัฐธรรมนูญไว้ได้"พล.อ.สมเจตน์ กล่าว

พล.อ.สมเจตน์ กล่าวอีกว่า นักการเมืองหลายคนอ้างว่าการแก้ไขโดยการเพิ่มหมวดจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เหมือนปี 2540 ที่รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน แต่เห็นว่าแนวทางที่เคยทำมาแล้วในอดีต หากจะเอามาเป็นต้นแบบปฏิบัติจะต้องอยู่ในสภาวะแวดล้อมที่เหมือนกัน ปี 2539 สังคมมีความสามัคคี แม้จะเห็นต่างแต่ไม่แตกแยก และไม่มีคนกลุ่มใดที่มีพฤติกรรมเลวร้ายทำลายความคงอยู่ของสถาบัน

อย่างไรก็ตาม ตอนนี้ประชาชนต้องการประชาธิปไตย จึงได้รัฐธรรมนูญที่มาจากประชาชน และมีระบบถ่วงดุลที่เข้มแข็ง แต่เมื่อได้รัฐธรรมนูญที่ดี แต่รัฐบาลที่ไม่ดีชุดหนึ่งสร้าง 4 ปัญหา "แตกแยก แทรกแซง โกงกิน หมิ่นเจ้า" หลายคนประดิษฐ์วาทกรรมว่า ส.ว. สืบทอดอำนาจ พูดเหมือนตนเองเป็นเจ้าของประเทศเพียงผู้เดียว และสิ่งที่ตนเห็นมาคือรัฐบาลที่เชื่อมโยงกับประชาชนสร้างความเสียหายให้กับประเทศชาติมาอย่างยาวนาน ผลพวงรัฐธรรมนูญ 2540 จากการบริหารของรัฐบาลชุดหนึ่ง และเหตการณ์ตั้งแต่ 2547 จนถึงปัจจุบัน บ้านเมืองแตกแยก เผาบ้านเผาเมือง และทหารตำรวจเสียชีวิต มีกองกำลังติดอาวุธ ชายชุดดำ และถ้าเอาสถานการณ์ปี 2539 เอามาเทียบกับปี 2547 ถึงปัจจุบัน แตกต่างกันสิ้นเชิง ดังนั้นการจะเอาแนวทางการร่างรัฐธรรมนูญปี 2540 มาเป็นแนวทางของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้อย่างไร

พล.อ.สมเจตน์ กล่าวว่า การเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 ในสมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ตน ส.ว. และส.ส. บางส่วนยื่นหนังสือไปที่ศาลรัฐธรรมนูญว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญ ศาลก็รับคำร้องและมีคำวินิจฉัยว่า การร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับต้องลงประชามติก่อนว่าสมควรมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ สุดท้ายรัฐสภาไม่มีการลงมติในวาระ 3 เทียบอดีตกับปัจจุบันก็เหมือนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 ดังนั้นรัฐสภาเป็นองค์กรสำคัญของรัฐธรรมนูญจะมีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญใหม่หรือไม่ และการยกร่างใหม่ทั้งฉบับจะสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของมาตรา 256 หรือไม่เพราะกำหนดให้เป็นการแก้ ไม่ใช่ยกร่างฉบับใหม่ และหากจะยกร่างฉบับใหม่ต้องทำประชามติก่อนหรือไม่ หลังเห็นชอบวาระ 3 ไปแล้ว

"ผมขอสรุปว่า การแก้รัฐธรรมนูญจะทำให้กลับไปเป็นสภาทาส การยกเลิกรัฐธรรมนูญ 2560 อาจขัดต่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ สถานการณ์ความแตกแยกในปัจจุบัน หลายคนมีทัศคนติเลวร้ายบั่นทอนสถาบัน ไม่เอื้อต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพราะจะเพิ่มความแตกแยก แก้ไขเพื่อประโยชน์ของใคร ประชาชนอยู่ดีกินดีขึ้นหรือไม่ ประชาชนจะอยู่ดีกินดีไม่ได้อยู่ที่รัฐธรรมนูญ แต่อยู่ที่นักการเมืองจะปฏิบัติตามนิติธรรม นิติรัฐ และผมมีความเข้าใจเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างดี จึงไม่เห็นชอบญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญให้มีผลยกเลิกฉบับ 2560 และทุกมาตราเนื่องจากสถานการณ์ปัจจุบันยังไม่เอื้ออำนวย"พล.อ.สมเจตน์ กล่าว

ด้าน นายกล้านรงค์ จันทิก ส.ว.อภิปรายว่า รัฐธรรมนูญเมื่อผ่านการลงประชามติของประชาชนมาแล้ว และเมื่อตราเป็นรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแล้ว ฉะนั้น รัฐธรรมนูญฉบับนั้นมาจากประชาชน เหมือนกับประชาชนสร้างบ้านให้เรา 750 คนอยู่ คน 750 คนอยู่ในบ้านหลังนั้น เจ้าของบ้าน คือ ประชาชนเขาก็ต้องกำหนดกฎเกณฑ์ให้ 750 คน มีภารกิจ มีหน้าที่อะไรบ้างในบ้านหลังนั้น แต่วันดีคืนดี 2 ปีขึ้นมาเขาสร้างบ้านมาแล้วมาบอกว่า ไม่เอาบ้านหลังนี้ เราจะรื้อทิ้ง แล้วเราจะสร้างบ้านใหม่ ผมถามว่า รื้อทิ้งแล้วสร้างบ้านใหม่ต้องไปถามประชาชนเขาก่อนไหม เพราะเขาเป็นเจ้าของบ้าน

ขณะนี้มีคนอยู่ 2 กลุ่ม กลุ่มหนึ่ง คือ เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ อีกกลุ่มหนึ่งไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จึงขอตั้งประเด็นไว้ว่า ก่อนที่เราจะรื้อบ้านหลังนี้ ไม่ใช้รื้อแล้วค่อยไปถามประชาชน ก่อนจะรื้อบ้านหลังนี้ถามเขาก่อนดีไหม ตรงนี้คือการคืนอำนาจสถาปนาให้กับประชาชน ถ้าเขาเอา 750 คนเป็นเอกฉันท์ แต่ถ้าเจ้าของบ้านเขาไม่เอาเราก็ทำไม่ได้

“ผมมีข้อสักถามประกอบการลงมติ ญัตติทั้งหมดมี 6 ญัตติ ขอถามไปยังเจ้าของญัตติ (นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย) ผู้นำฝ่ายค้าน ถ้าสมมุติเราเห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญในญัตติที่ 1 และญัตติที่ 2 คือ แก้ไขมาตรา 256 ใหม่ แต่เราไม่เห็นด้วยกับญัตติที่ 3 ถึง ญัตติที่ 6 ส.ส.ร.ที่เราจะตั้งนั้นสามารถจะหยิบยกจุดที่รัฐสภานี้ไม่เห็นด้วยกลับมาดำเนินการใหม่ได้ไหม” นายกล้าณรงค์ กล่าว