posttoday

วงเสวนา "ประเทศไทยในอีกทศวรรษ" บ้านเมืองเดินหน้าต้องแก้ไขรธน.

18 กันยายน 2563

คณะนิติฯ มธ.ตั้งวงเสวนา "ประเทศไทยในอีกทศวรรษ" ธนาธรเสนอหยุดระบอบประยุทธ์ อภิสิทธิ์เตือนผู้อำนาจรับฟังป้องกันแตกหัก จาตุรนต์หนุนตั้งส.ส.ร.ยกร่างใหม่

เมื่อวันที่ 18ก.ย.63 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดเสวนาวิชาการ เนื่องในโอกาสครบรอบ 60 ปี ศ.ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ ในหัวข้อ “ประเทศไทยในทศวรรษหน้า” โดยมีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรองนายกรัฐมนตรี และนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ร่วมวงเสวนา

นายธนาธร กล่าววว่า พรุ่งนี้ (19ก.ย.) จะเป็นวันครบรอบ 14 ปี การทำรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 นี่คือโอกาสที่เราทุกคนจะหันกลับไปมองว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง และเห็นว่าทุกฝ่ายมีส่วนทำให้สังคมเดินมาถึงทางตันตรงนี้ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นกองทัพ องค์กรตุลาการ องค์กรอิสระ พรรคการเมือง สื่อมวลชน นักวิชาการ ฯลฯ แต่ยังไม่สายเกินไปที่จะมาตั้งต้นกันใหม่ ยอมรับความผิดพลาดในอดีต แล้วหาทางไปข้างหน้า ให้ในอีก 10 ปีข้างหน้าไม่เป็นเหมือน 14 ปีที่ผ่านมา และโอกาสที่เราจะแก้ไขสิ่งที่เกิดขึ้นมาในอดีตกำลังจะหมดแล้ว ขั้นแรกที่สุด เราต้องหยุด "ระบอบประยุทธ์" ให้ได้ ในการสร้างอนาคตที่ดีกว่านี้ หาข้อตกลงใหม่ หยุดระบอบประยุทธ์ในรูปรัฐธรรมนูญ 2560 ซึ่งต้องเริ่มต้นด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2560 ส่วนประเด็นที่มีความห่วงใยกันว่าจะมีความรุนแรงเกิดขึ้นจากการชุมนุม เห็นว่าที่ผ่านมาไม่ได้เกิดจากการประชาชนเอาปืนไปยิงเจ้าหน้าที่รัฐก่อน แต่ล้วนเกิดจากเจ้าหน้าที่รัฐก่อนทั้งสิ้น

ทั้งนี้ยังเห็นว่าการแก้รัฐธรรมนูญเป็นเรื่องของสภา ดังนั้น ถ้า พล.อ.ประยุทธ์บอกคำเดียวว่าเสียงข้างมากในสภา อย่างน้อยที่สุดที่อยู่ในสังกัดให้มาร่วมแก้รัฐธรรมนูญกัน ก็สามารถทำได้ทันที ไทม์ไลน์ที่ว่าถ้ามีเจตจำนงจริงๆ ปีครึ่งก็ทำได้และจำเป็นที่ต้องแก้ มาตรา 272 เรื่อง ส.ว.มีอำนาจร่วมเลือกนายกรัฐมนตรีด้วย ระหว่างที่กระบวนการแก้รัฐธรรมนูญกำลังเดินไปทำไปพร้อมกันได้ เพราะเกิดมีการยุบสภาขึ้นมาเมื่อไหร่ กระบวนการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญจะหายไป นี่คือเหตุผลว่าทำไมเราต้องผลักดันมาตรา 272 เพื่อไม่ให้รัฐบาลยุบสภาหนี ซึ่งยุบสภานั้นจะเป็นการแก้ปัญหาของรัฐบาล แต่ไม่ใช่การแก้ปัญหาของประเทศ

นายอภิสิทธิ์ กล่าวตอนหนึ่งว่า 10 ปีข้างหน้าจะมีการปะทะกันทางความคิดอย่างรุนแรง เพราะมีคนจำนวนมากเห็นว่าประเทศไทยต้องเปลี่ยน โดยการปะทะทางความคิดครั้งนี้ไปได้ 3 ทาง 1.นำไปสู่การแตกหัก นำไปสู่ความรุนแรง ส่วนจะเปลี่ยนแปลงไปรูปแบบไหนไม่มีใครตอบได้ 2.เรามั่วๆกันไปแล้วก็ผ่านไปได้ แต่ก็จะเป็นการมั่วๆต่อไปเป็นวัฏจักร ร่างรัฐธรรมนูญ เลือกตั้งใหม่ รัฐประหาร วนอยู่อย่างนี้ 3.ทุกคนในสังคมมาหาจุดร่วมใหม่ เพื่อเดินหน้าไปด้วยกัน

อย่างไรก็ตามเชื่อว่าเราจะเดินไปในทางที่ 1 หากผู้มีอำนาจไม่ยอมเปลี่ยนแปลง และสังคมยังมีการแบ่งขั้วอย่างที่เป็นอยู่ ส่วนทางที่ 2 หากผู้มีอำนาจยอมเท่าที่ยอมได้ แล้วก็มั่วกันไปต่อ และทางที่ 3 ทุกฝ่ายต้องช่วยกัน แต่ผู้มีอำนาจจะต้องเอื้อมมือเข้ามา ต้องรับฟัง ถ้าประชาชนมีพลังมากแต่ไม่ได้รับการตอบสนองจากผู้มีอำนาจ สุดท้ายก็ต้องปะทะกัน ดังนั้นต้องหาทางให้ผู้มีอำนาจพร้อมที่จะมาพูดคุยเรื่องเหล่านี้ แต่วันนี้ตนยังไม่เห็นเจตนาของส่วนฝ่ายบริหารและเสียงส่วนใหญ่ในสภา

นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า เรื่องการแก้รัฐธรรมนูญมาตรา 256 อย่างไรก็ต้องแก้ เพื่อให้เกิดการแก้รัฐธรรมนูญได้ ซึ่งต้องยอมรับว่าโครงสร้างรัฐธรรมนูญ 2560 ไม่เป็นประชาธิปไตย และหากเราอยากเป็นประชาธิปไตยก็ต้องร่างกันใหม่ เราต้องมี ส.ส.ร. แต่มีหลายกระบวนการจนอาจจะได้รัฐธรรมนูญใหม่ในปี 2565 และยังต้องมีกฎหมายลูกอีก ทำไปทำมารัฐบาลจะครบวาระ แต่ระหว่างนั้นคนที่เรียกร้องการเปลี่ยนแปลงไม่ยอมรับ โดยเฉพาะอำนาจของ ส.ว.จะต้องปรับ ดังนั้นจะต้องแก้บทเฉพาะกาลที่ไม่เป็นประชาธิปไตย จะต้องปลดเงื่อนไขนี้ให้ได้ อย่างไรก็ตามอยากฝากถึงทุกคนที่แสดงพลังว่า ข้อเรียกร้องทั้งหลายมีเหตุมีผล หลายข้อมีความอ่อนไหว ดังนั้นควรพยายามแสวงหาแนวร่วมแทนที่จะผลักแนวร่วมออกไป การจะหยิบเรื่องละเอียดอ่อน การพูดเรื่องสถาบันต้องระมัดระวัง และควรหลีกเลี่ยงเรื่องที่อาจจะถูกตีความว่าเป็นการดูหมิ่นหรืออาฆาตมาดร้าย

นายจาตุรนต์ กล่าวตอนหนึ่งว่า การเมืองเป็นอุปสรรคมาโดยตลอดในการปรับตัวของประเทศ ทำให้นักเรียนนักศึกษาเห็นว่าประเทศต้องเปลี่ยนแปลง ดังนั้นเราจึงอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อว่าจะเปลี่ยนแปลง หรือจะกดเอาไว้แล้วไม่ยอมเปลี่ยนแปลงอะไรเลย และหากรัฐประหารก็จะยิ่งทำให้ประเทศล้าหลัง ส่วนเรื่องรัฐธรรมนูญตนมองว่าต้องมี ส.ส.ร.ขึ้นมายกร่างใหม่ทั้งหมด แต่ปัญหาคือใช้เวลาอย่างน้อย 15 เดือน ซึ่งไม่มีใครรู้ว่ารัฐบาลนี้จะอยู่ถึง 15 เดือนหรือไม่ แต่การยุบสภา เป็นการแก้ปัญหาของรัฐบาล ไม่ใช่การแก้ปัญหาประเทศ หากยุบสภาเลยโดยไม่แก้รัฐธรรมนูญว่าด้วย อำนาจ ส.ว. ก็จะไม่แก้ปัญหาเลย ทั้งนี้กระบวนการ ส.ส.ร.หากให้ประชาชนมีส่วนร่วม การทำประชามติที่เปิดกว้างและเป็นธรรม หากทำได้จะแก้ปัญหาวิกฤติจากความคิดเห็นที่แตกต่างได้

เมื่อถามว่าข้อเรียกร้องเรื่องสถาบันนำไปสู่ความไม่พอใจและจะเป็นข้ออ้างการทำรัฐประหารหรือไม่ จาตุรนต์ กล่าวว่า การก้าวล่วงที่ดูหมิ่นไม่ควรทำ และจะผิดกฎหมาย แต่หากเป็นข้อเสนอในการแก้กฎหมาย ซึ่งอาจจะเป็นไปตามนั้นหรือไม่เป็นไปตามนั้นก็ได้ ส่วนคนที่ไม่พอใจตนไม่เห็นคนที่ออกมาโต้แย้งด้วยเหตุด้วยผลเลย แต่ถ้าเรื่องนี้จะนำไปสู่การรัฐประหาร ก็เป็นเรื่องที่น่าคิดและแปลกใหม่มาก เพราะเป็นข้อเรียกร้องให้เกิดปฏิรูป ไม่ใช่การดูหมิ่นหรือสร้างความเกลี่ยดชัง หากทำรัฐประหารจะเป็นความเสียหายต่อคณะผู้รัฐประหารเอง และเป็นความเสียหายต่อประเทศ ดังนั้นจึงเชื่อว่าเรื่องนี้ไม่เป็นเหตุเป็นผลพอที่จะทำรัฐประหาร แต่หากเกิดรัฐประหารขึ้นครั้งนี้นึกไม่ออกว่าจะเป็นอย่างไร แต่เชื่อว่าจะไม่เหมือน 2 ครั้งที่แล้ว จะไม่ใช่การรัฐประหารที่ราบรื่น เพราะการรัฐประหารแล้วยื้อเวลามา 5 ปีทำให้ประเทศเสียหาย