posttoday

"วิษณุ" แจงยิบ “ร่างพ.ร.บ.ตำรวจ”ใหม่"

18 กันยายน 2563

วิษณุ เผยร่าง พ.ร.บ.ตำรวจใหม่ไม่ยุบกองบัญชาการ เปิดช่องร้องเรียนการทำงานตำรวจ โอนย้าย ตร. เฉพาะกลับหน่วยงานตัวเอง แย้มมีร่างพ.ร.บ. สอบสวนตามไปอีกชุด

เมื่อวันที่ 18 ก.ย. นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงร่าง พ.ร.บ.ตำรวจที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ว่ามีการยุบกองบัญชาการว่า กองบัญชาการทุกอย่างมีครบไม่ได้ยุบอะไร เพียงแต่ไปเพิ่มความสำคัญในส่วนของสถานีตำรวจจากที่ พ.ร.บ.เดิม ไม่เคยมีการระบุถึงสถานีตำรวจ แต่ร่าง พ.ร.บ.ฉบับใหม่กำหนดให้มีบทบาทหน้าที่และงบประมาณ รวมถึงบุคลากรอย่างเพียงพอ เพราะใกล้ชิดประชาชน อีกทั้งยังมีโอกาสให้เจริญเติบโต

ส่วนกรณีที่มีการเสนอให้แยกการสอบสวนออกจากตำรวจนั้น นายวิษณุ กล่าวว่า จากการศึกษาของกรรมการชุดต่างๆ เห็นว่าวิธีเช่นนั้นไม่มีประโยชน์ เพราะต่อให้แยกไปสุดท้ายตำรวจก็ต้องตั้งหน่วยงานขึ้นมาสอบสวนอยู่ดี ดังนั้นเราจึงใช้วิธีคล้ายๆกับข้อเสนอดังกล่าว คือให้การสอบสวนอยู่ในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตช.) ให้เป็น 1 แท่งในจำนวน 5 แท่ง ประกอบด้วย แท่งป้องกันและปราบปราม แท่งอำนวยการ แท่งบริหาร และแท่งวิชาชีพเฉพาะ โดยไม่ห้ามข้ามกันไปมาระหว่างแท่ง แต่มีเงื่อนไข เช่น ไปแล้วต้องต่อแถวอาวุโส

นายวิษณุ กล่าวว่า การปฏิรูปครั้งนี้ ยังให้มีกรรมการพิทักษ์คุณธรรมตำรวจ (กพค.) เพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบกรณีการแต่งตั้งโยกย้ายตำรวจ ใครที่รู้สึกไม่ได้รับความเป็นธรรมให้ส่งเรื่องมาที่กพค. ตรวจสอบ และถ้าพบว่าไม่เป็นธรรมจริง ก็สามารถส่งเรื่องต่อไปยังศาลปกครองได้ แทนวิธีการเดิมที่ให้ส่งเรื่องไปยังศาลปกครองทางเดียว ซึ่งไม่ควรเป็นเช่นนั้น รวมถึงอยากให้มีคณะกรรมการระดับชาติ คือ คณะกรรมการรับเรื่องร้องเรียน เกี่ยวกับตำรวจ(กร.ตร.) ที่จะรับเรื่องจากประชาชนที่รู้สึกว่าการทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่เป็นธรรม เช่น ล้มคดีขาดอายุความ สั่งฟ้องหรือไม่ฟ้อง ซึ่งสรรหาผู้ทรงคุณวุฒิมาทำหน้าที่ อาทิ ประธานศาลฎีกา ประธานศาลปกครอง เป็นต้น โดยมีจเรตำรวจเป็นฝ่ายเลขาฯ

รองนายกฯ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ยังมีการปรับปรุงกรณีคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (กตร.) กับคณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ (ก.ต.ช.) ที่มีหน้าที่ใกล้เคียงกันแล้วมีการเมืองเข้ามาแทรก จึงปรับปรุงให้เหลือเพียง กตร.แล้วเอาการเมืองออกให้หมดเหลือเพียงนายกฯ คนเดียว รวมถึงปฏิรูปการแต่งตั้งโยกย้ายจากเดิมที่หลักเกณฑ์การแต่งตั้งโยกย้ายอยู่นอกกฎหมายทำให้เปลี่ยนได้ทุกปี ซึ่งครั้งนี้เรานำมาไว้ในร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว เช่น ระดับผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติขึ้นไป ให้ยึดอาวุโส 100 % ระดับผู้บัญชาการลงมาถึงผู้บังคับการอาวุโส 50 เปอร์เซ็นต์ ต่ำกว่านั้นลงมาอาวุโส 33 %

นายวิษณุ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ยังมีประเด็นเกี่ยวกับเรื่องที่ตำรวจไม่ควรต้องเสียกำลังไปดำเนินการ โดยจะให้โอนกลับหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรง เช่น ตำรวจรถไฟ ตำรวจป่าไม้ ตำรวจสิ่งแวดล้อม และตำรวจจราจร โดยจะให้ตำรวจจราจรโอนกลับไปอยู่ในท้องถิ่นที่เป็นเทศบาลนครภายใน 5 ปี ตำรวจป่าไม้ให้ไปภายใน 1 ปี และตำรวจสิ่งแวดล้อมให้โอนภายใน 2 ปี รวมถึงสนับสนุนให้มีตำรวจไม่มียศมากขึ้นและต้องเสร็จภายใน 1 ปี เช่น ตำรวจที่เป็นหมอ โดยจะให้ค่าตอบแทน แทนการให้ยศ เพราะเมื่อมียศจะผูกกับตำแหน่ง เช่น หมอที่เป็นพ.ต.ท. จะเป็น พ.ต.อ.ไม่ได้ถ้าตำแหน่งไม่ว่าง ถ้าไม่มียศจะเติบโตได้โดยไม่ติดอะไร ซึ่งทั้งหมดนี้เมื่อเข้าสภาก็สามารถปรับปรุงได้

นายวิษณุ กล่าวอีกว่า ร่าง พ.ร.บ.ตำรวจเป็นเรื่องขององค์กร แต่ยังมีเรื่องใหญ่ คือ การสอบสวน ซึ่งจะมีร่าง พ.ร.บ.ขึ้นมาอีกฉบับหนึ่ง แต่ยังรอไว้ให้ตกผลึกก่อน ยิ่งมีคดีนายวรยุทธ อยู่วิทยา หรือบอส ขึ้นมาก็ให้ชุดของนายวิชา มหาคุณ ประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย กรณีคำสั่งไม่ฟ้องคดีอาญาที่อยู่ในความสนใจของประชาชน ทบทวนอีกครั้ง และเหตุผลหนึ่งที่ร่างพ.ร.บ. ฉบับดังกล่าวไปไม่ได้ เพราะยังมีความเห็นแย้งจากตำรวจ อัยการ และศาล ซึ่งมีเหตุผล เช่น เจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจสอบสวนคดีอาญาในประเทศไทยมีทั้งตำรวจ ฝ่ายปกครอง กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ทำไม พ.ร.บ.สอบสวนจึงกำหนดไว้เพียงตำรวจ แต่หน่วยงานอื่นไม่ต้องทำตามร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวด้วย รวมถึงยังมีวิธีการสอบสวนต่างๆที่ปัจจุบันถือว่าดี แต่ตำรวจขอให้ช่วยพูดถึงเรื่องงบประมาณด้วย และอีกเหตุผลหนึ่งเมื่อโครงสร้างยังไม่ยุติ พ.ร.บ.ตำรวจที่ถือเป็นฝาแฝดก็ต้องรอให้เรื่องโครงสร้างยุติก่อน