posttoday

หัวหน้าประชาธิปัตย์ลั่นพร้อมจับมือทุกฝ่ายแก้รธน.

05 สิงหาคม 2563

"จุรินทร์" ระบุพร้อมจับมือทุกฝ่ายแก้ไขรัฐธรรมนูญ ระบุอย่างน้อยที่สุดควรแก้มาตรา 256 ซึ่งเป็นจุดยืนที่ชัดเจนของพรรค

เมื่อวันที่ 5 ส.ค. 63 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ พร้อมด้วย นายชินวรณ์ บุญยเกียรติ วิปพรรคฯ นายอิสสระ สมชัย นายอัศวิน วิภูศิริ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และนายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคฯ แถลงถึงแนวทางของพรรคฯ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นลำพังพรรคเดียวไม่สามารถทำได้ เพราะต้องใช้ 100 เสียงขึ้นไป แต่ประชาธิปัตย์มีเพียง 52 เสียง ทางที่ดีที่สุดในฐานะพรรคร่วมรัฐบาลก็คือ ควรจะต้องร่วมมือกับพรรคร่วมรัฐบาลในการเสนอร่างร่วมกัน โดยมอบหมายให้วิปได้ไปหารือกันในระหว่างพรรคร่วมรัฐบาล

ทั้งนี้นายจุรินทร์ กล่าวอีกด้วยว่า การกำหนดประเด็นเพิ่มเติมนอกจากการแก้ไขมาตรา 256 ที่เป็นจุดยืนของพรรคฯ ตั้งแต่ต้น พรรคฯ จึงตั้งคณะทำงานขึ้นเพื่อเป็นผู้กำหนดประเด็นและรายละเอียดทั้งหมด เพื่อที่จะนำไปสู่การหารือร่วมกันในวิปพรรคร่วมรัฐบาล โดยคณะทำงานดังกล่าวประกอบด้วย นายบัญญัติ บรรทัดฐาน นายเทอดพงษ์ ชัยนันทน์ นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ ประธาน ส.ส. นายชินวรณ์ บุญยเกียรติ และมีฝ่ายกฎหมายเป็นเลขานุการ

ผู้สื่อข่าวถามว่า รูปแบบการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นอย่างไรนั้น นายจุรินทร์ ตอบว่ารายละเอียดจะขึ้นอยู่กับประเด็นที่จะได้ไปหารือกันในวิปพรรคร่วมรัฐบาล อย่างน้อยที่สุดควรแก้มาตรา 256 ซึ่งเป็นจุดยืนที่ชัดเจนของประชาธิปัตย์มาตั้งแต่ต้น

ต่อคำถามสื่อมวลชนที่ว่าพรรคฯ ได้มีการหารือว่าจะไปพูดคุยกับพรรคร่วมอื่นๆ หรือไม่ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์กล่าวว่า วิปจะเป็นผู้ทำหน้าที่ดังกล่าว เพราะมีวิปรัฐบาลอยู่แล้ว ซึ่งจะประสานงานโดยนายชินวรณ์ และนำประเด็นทั้งหมดจากคณะทำงานที่กำหนดประเด็นนี้ไปหารือ ซึ่งพรรคฯ ได้กำหนดประเด็นไว้ในเบื้องต้นแล้ว เพียงแต่ไปหารือกันเพื่อหาข้อสรุปเพิ่มเติมเท่านั้น เพราะประชาธิปัตย์นั้นมีความชัดเจนเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตั้งแต่ต้นแล้ว ทั้งเรื่องมาตรา และประเด็นที่ควรจะต้องแก้ไขเพื่อให้นำไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยยิ่งขึ้น ส่วนจะเริ่มคุยกันเมื่อไหร่นั้น ก็เป็นเรื่องที่วิปจะได้ไปหารือกัน

สำหรับคำถามถึงท่าทีประธาน ส.ว. ที่ออกมาคัดค้านการตั้ง สสร. นั้น นายจุรินทร์ กล่าวว่า ขอไม่ให้ความเห็นในเรื่องนี้ ประชาธิปัตย์ไม่ประสงค์จะขัดแย้งกับฝ่ายใด

“เพราะผลสัมฤทธิ์ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ประสบความสำเร็จนั้น ไม่ว่าจะแก้ไขในมาตราใดก็ตามต้องอาศัยความร่วมมือทั้งในส่วนของพรรคร่วมรัฐบาล พรรคฝ่ายค้าน วุฒิสมาชิก และประชาชนคนไทยทั้งประเทศ เพราะมีการกำหนดไว้ในเงื่อนไขว่าทุกฝ่ายดังกล่าวจะต้องเห็นพ้องต้องกัน ซึ่งในส่วนของวุฒิสภานั้น ในขณะนี้ก็ยังไม่มีรายละเอียดชัดเจนว่าจะแก้ไขในประเด็นไหนอย่างไรบ้าง แต่หวังว่าอยากเห็นความร่วมมือและอยากเห็นการสนับสนุนจากวุฒิสมาชิกด้วย เพราะการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะสำเร็จได้นั้นวุฒิสภาก็ต้องสนับสนุน มิฉะนั้นก็ยากที่จะประสบความสำเร็จ “ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์กล่าว