posttoday

"ราเมศ"ชี้ 3 ยุทธวิธีตรวจสอบดุลพินิจของพนักงานอัยการ

27 กรกฎาคม 2563

โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ชี้ 3 ยุทธวิธีตรวจสอบดุลพินิจของพนักงานอัยการ ยื่นคำร้องต่ออัยการสูงสุด-ยื่นตรวจสอบต่อป.ป.ช.-ผู้เสียหายยื่นฟ้องต่อศาลยุติธรรม

นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กแสดงความเห็นถึงการตรวจสอบ ดุลพินิจของพนักงานอัยการในการพิจารณาสั่งคดี โดยมีเนื้อหาน่าสนใจดังนี้

ดุลพินิจ ของพนักงานอัยการ ตรวจสอบได้หรือไม่

องค์กรอัยการ เป็นองค์กรที่สำคัญที่ระบุอำนาจหน้าที่ไว้ชัดในรัฐธรรมนูญ ในหมวด ๑๓ ว่าด้วย “องค์กรอัยการ” ในมาตรา ๒๔๘ ระบุไว้ใน วรรคสอง ว่า “พนักงานอัยการมีอิสระในการพิจารณาสั่งคดีและการปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปโดยรวดเร็ว เที่ยงธรรมและปราศจากอคติทั้งปวง และไม่ถือเป็นคำสั่งทางทางปกครอง..”

พนักงานอัยการ หรือที่เรียกว่า “ทนายแผ่นดิน” เป็นหนึ่งในองค์กรของกระบวนการยุติธรรม มีบทบาทที่สำคัญในการอำนวยความยุติธรรม รักษาผลประโยชน์ของรัฐ การคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือกฎหมายแก่ประชาชน ด้วยความรวดเร็ว เสมอภาค โปร่งใส ตรวจสอบได้ และปราศจากการเลือกปฏิบัติ เพื่อให้ประชาชนเชื่อมั่นและศรัทธา ที่กล่าวมาเป็นวิสัยทัศน์ข้อแรกที่อยู่ในฐานข้อมูลของสำนักงานอัยการสูงสุด

คำว่า “มีอิสระในการพิจารณาสั่งคดี”ความหมายคือ ความมีอิสระในการพิจารณาสั่งคดีด้วยเหตุด้วยผล ตามพยานหลักฐาน ตามความเหมาะสม ตามหลักกฎหมาย ภายใต้ความเป็นธรรม จะมีใครมาแทรกแซงสั่งการไม่ได้

คำว่า “การปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปโดยรวดเร็ว เที่ยงธรรมและปราศจากอคติทั้งปวง” หมายความคือ การทำหน้าที่จำต้องทำด้วยความรวดเร็ว เพื่อมุ่งประสงค์ในการอำนวยความยุติธรรมไม่ชักช้า มีความเป็นกลางวินิจฉัยคดีด้วยความเป็นธรรม ปราศจากอคติทั้งปวง คือ ไม่มีความลำเอียง ทั้ง ๔ ประการ คือ ๑ ไม่มีฉันทาคติ คือไม่มีความลำเอียงเพราะรักหรือชอบพอกัน ๒.ไม่มีโทสาคติ คือไม่ลำเอียงเพราะความชัง ๓.ไม่มีโมหาคติ คือไม่มีความลำเอียงเพราะเขลาหรือหลงผิด ๔.ไม่มีภยาคติ คือไม่มีความลำเอียงเพราะความกลัว

คำว่า “ไม่ถือเป็นคำสั่งทางปกครอง” ความหมายคือ คำสั่งในทางคดีของพนักงานอัยการ ไม่สามารถยื่นฟ้องต่อศาลปกครองได้ ยกตัวอย่างให้เห็นได้ชัดคือ หากประชาชนได้รับคำสั่งทางปกครองจากเจ้าหน้าที่รัฐ เช่นฝ่ายปกครอง หรือเจ้าหน้าที่อื่น หากเห็นว่าเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบก็มีสิทธิยื่นฟ้องต่อศาลปกครองเพื่อให้ศาลเพิกถอนคำสั่งทางปกครองนั้นได้

เมื่อรัฐธรรมนูญกำหนดให้คำสั่งในการพิจารณาคดีของพนักงานอัยการไม่ถือว่าเป็นคำสั่งทางปกครองจึงไม่สามารถตรวจสอบผ่านศาลปกครองได้

หากได้ตรวจตราหลักการของรัฐธรรมนูญ และกฎหมายอื่นประกอบดูเสมือนว่า ไม่มีทางใดที่จะตรวจสอบอำนาจในการสั่งคดีของพนักงานอัยการได้เลย แต่หลักที่เกิดขึ้นจากหลักธรรมชาติที่ผ่านโดยสามัญสำนึก คำสั่งของเจ้าหน้าที่รัฐผู้มีอำนาจย่อมอยู่บนหลักการพื้นฐานที่สามารถตรวจสอบได้ การจะอ้างว่าเป็นอำนาจดุลพินิจไม่สามารถตรวจสอบได้จึงขัดกับหลักเหตุและผล

แล้วจะหายุทธวิธีใดในการตรวจสอบอำนาจดุลพินิจ เท่าที่คิดได้ขณะนี้

๑.บุคคลใดบุคคลหนึ่งอาจจะเป็นผู้เสียหายหรือหากเป็นคดีที่เกี่ยวข้องกับสาธารณะ สามารถยื่นคำร้องขอต่ออัยการสูงสุดเพื่อตรวจรายละเอียดของคำสั่งในการพิจารณาคดีของพนักงานอัยการได้โดยอาศัย พระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ.๒๕๔๐ เพื่อจะได้นำมาเป็นหลักตั้งต้นที่ปราศจากข้อถกเถียงกันว่ามีข้อเท็จจริงในสำนวนอย่างไร

หากได้รับการปฏิเสธ ก็จำต้องใช้ช่องทางเพื่อทำการอุทธรณ์ต่อ คณะกรรมการข้อมูลข่าวสาร เพื่อให้วินิจฉัยมีคำสั่งให้อัยการสูงสุดเปิดข้อมูลนั้น หากคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารไม่ให้เปิดเผย ก็สามารถยื่นฟ้องต่อศาลปกครองเพื่อให้มีคำพิพากษาว่าจะให้เปิดเผยหรือไม่

กรณีดังกล่าวผมได้ใช้สิทธินี้แล้วเมื่อ ปลายปี ๒๕๕๕ ในการยื่นขอดูความเห็นในการพิจารณาสั่งคดีของอัยการสูงสุดในคดีไม่ฎีกา ภรรยาอดีตนายกรัฐมนตรีท่านหนึ่ง ต้องต่อสู้กันจนถึงชั้นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการข้อมูลข่าวสาร ท้ายที่สุดอัยการสูงสุดยอมเปิดข้อมูลข่าวสารดังกล่าว

๒.ยื่นตรวจสอบต่อ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เพื่อให้มีการตรวจสอบว่าพนักงานอัยการซึ่งถือได้ว่าเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำผิดต่อหน้าที่ หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม หรือไม่ ตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๓๔ (๒)

๓.ผู้เสียหายยื่นฟ้องต่อศาลยุติธรรม เพื่อตรวจสอบดุลพินิจในการสั่งคดีได้ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๑๕๗ ในความผิดฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และมาตรา ๒๐๐ ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม

กรณีนี้เคยมีตัวอย่างคดีที่น่าสนใจให้พานพบสบเหตุได้นำมาศึกษา

“กรณีการใช้ดุลพินิจ ความมีอิสระของพนักงานอัยการที่จะวินิจฉัยสั่งคดีนี้มิใช่จะไร้ขอบเขตเสียทีเดียว จะต้องอยู่ภายใต้ขอบเขตของความชอบด้วยกฎหมาย ถ้าการใช้ดุลพินิจของพนักงานอัยการคนใดเกินล้ำออกนอกขอบเขตดังกล่าว การใช้ดุลพินิจนั้นย่อมเป็นการไม่ชอบ แต่ถ้าการใช้ดุลพินิจดังกล่าวอยู่ภายในขอบเขตของความชอบด้วยกฎหมายแล้ว ภายในขอบเขตนี้

พนักงานอัยการจะวินิจฉัยสั่งคดีไปในทางใดก็ได้ ซึ่งความหมายของการใช้ดุลพินิจที่ชอบด้วยกฎหมายในที่นี้คือการใช้ดุลพินิจที่อยู่บนรากฐานของความสมเหตุสมผลที่วิญญูชนโดยทั่วไปยอมรับได้ว่ามิใช่เป็นการใช้ดุลพินิจตามอำเภอใจหรือมีการบิดผันอำนาจนั่นเอง

การวินิจฉัยสั่งไม่ฟ้องบุคคลดังกล่าวโดยอ้างเหตุว่าผู้ต้องหาไม่มีเจตนาเป็นการวินิจฉัยมูลความผิดแบบด่วนวินิจฉัยคดีเสียเองดุจเป็นการพิจารณาพิพากษาคดีของศาล กล่าวคือ มิได้ใช้เกณฑ์วินิจฉัยมูลความผิดอย่างพนักงานอัยการพึงใช้ การใช้ดุลพินิจของจำเลยกรณีนี้นับเป็นเรื่องผิดปกติวิสัยของพนักงานอัยการผู้สุจริตโดยทั่วไป จึงเป็นการใช้ดุลพินิจที่วิญญูชนโดยทั่วไปไม่สามารถยอมรับได้ว่ามิใช่เป็นการใช้ดุลพินิจตามอำเภอใจ แม้การวินิจฉัยสั่งคดีของเป็นไปตามขั้นตอนที่กำหนด แต่เมื่อเป็นการใช้ดุลพินิจตามอำเภอใจเช่นนี้แล้วก็ถือไม่ได้ว่าสุจริตใจ”

มีคำพิพากษาศาลฎีกา ๓๕๐๙/๒๕๔๙

รายละเอียดพอสรุปได้ดังนี้

โจทก์เป็นข้าราชการตุลาการ ดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค ๑ จำเลยเป็นข้าราชการอัยการพิเศษประจำกรม สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญาธนบุรี ๔ สรุปย่อคำพิพากษาฉบับนี้มีสาระสำคัญว่า

“จำเลยซึ่งเป็นพนักงานอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องบริษัท ส. และ ป. ที่ถูกกล่าวหาว่าหมิ่นประมาทโจทก์ ทั้งที่หนังสือพิมพ์ ด. ซึ่งบริษัท ส. เป็นเจ้าของและ ป. เป็นบรรณาธิการ ลงข้อความในหนังสือพิมพ์เป็นความเท็จ และก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ เป็นการใช้ดุลพินิจที่มิได้อยู่บนรากฐานของความสมเหตุสมผล แต่เป็นการใช้ดุลพินิจตามอำเภอใจ จึงเกินล้ำออกนอกของเขตของความชอบด้วยกฎหมายและในฐานะที่จำเลยเป็นข้าราชการอัยการชั้นสูง จำเลยย่อมทราบดีถึงเกณฑ์วินิจฉัยมูลความผิดของพนักงานอัยการ การใช้ดุลพินิจผิดกฎหมายในกรณีนี้ จำเลยเห็นได้อยู่ในตัวแล้วว่าเป็นการมิชอบและมีเจตนาเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ซึ่งเป็นผู้เสียหาย อีกทั้งเพื่อจะช่วยบริษัท ส. และ ป. มิให้ต้องโทษจากการกระทำความผิดของตนอีกด้วย จำเลยจึงมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 157 และมาตรา 200 วรรคหนึ่ง”

มีรายละเอียดในคำพิพากษาศาลฎีกา(ย่อยาว)ที่น่าสนใจยิ่ง ที่ได้วินิจฉัยถึงดุลยพินิจในการพิจารณาสั่งคดีของจำเลย

จำเลยต่อสู้ว่า การวินิจฉัยสั่งคดีของจำเลยเป็นไปตามขั้นตอนที่กำหนด จำเลยมีคำสั่งไม่ฟ้องบริษัทสี่พระยาการพิมพ์ จำกัด และนายประชา เหตระกูล เพราะพิจารณาถึงเจตนาของผู้ต้องหาทั้งสองแล้วว่าไม่มีเจตนาหมิ่นประมาทโจทก์ การใช้ดุลพินิจของจำเลยเป็นไปด้วยความสุจริตใจ ซึ่งการใช้ดุลพินิจวินิจฉัยสั่งคดีนี้เป็นอิสระของจำเลยและอาจแตกต่างจากศาลอุทธรณ์ได้ การที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าจำเลยมีความผิดโดยอาศัยเหตุที่ศาลอุทธรณ์ไม่เห็นด้วยกับดุลพินิจของจำเลยเป็นการมิชอบและนำมาซึ่งความสับสนในการปฏิบัติหน้าที่ของทุกฝ่ายศาลฎีกาเห็นว่า “

ในข้อนี้ศาลฎีกาเห็นในเบื้องต้นว่า ในฐานะพนักงานอัยการที่มีอำนาจวินิจฉัยสั่งคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา จำเลยย่อมมีอิสระที่จะใช้อำนาจวินิจฉัยสั่งการตามความเห็นของตนได้โดยไม่มีการอ้างได้ว่าการใช้ดุลพินิจไปในทางใดเป็นการชอบหรือมิชอบ เพราะการใช้ดุลพินิจในกรณีเดียวกัน พนักงานอัยการอาจวินิจฉัยคดีไปคนละทางได้ ความถูกต้องเหมาะสมของดุลพินิจเป็นเรื่องของกลไกการตรวจสอบและถ่วงดุลดังที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาบัญญัติไว้ในมาตรา 145 กำหนดว่าในกรณีที่มีคำสั่งไม่ฟ้องและคำสั่งนั้นไม่ใช่ของอธิบดีกรมอัยการ ถ้าในนครหลวงกรุงเทพธนบุรี ให้พนักงานอัยการส่งสำนวนการสอบสวนพร้อมกับคำสั่งไม่ฟ้องไปเสนออธิบดีกรมตำรวจ รองอธิบดีกรมตำรวจหรือผู้ช่วยอธิบดีกรมตำรวจเพื่อพิจารณาเป็นต้น ในกรณีนี้แม้การวินิจฉัยของพนักงานอัยการและการวินิจฉัยของอธิบดีกรมตำรวจ รองอธิบดีกรมตำรวจหรือผู้ช่วยอธิบดีกรมตำรวจจะแตกต่างกัน ก็เป็นเรื่องของความมีอิสระของแต่ละฝ่ายที่ไม่อาจถือได้ว่าการวินิจฉัยของฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดเป็นการมิชอบ อย่างไรก็ดี

ความมีอิสระของพนักงานอัยการที่จะวินิจฉัยสั่งคดีนี้มิใช่จะไร้ขอบเขตเสียทีเดียว ในฐานะเจ้าหน้าที่ของรัฐ การใช้ดุลพินิจวินิจฉัยสั่งคดีของพนักงานอัยการทุกคนจะต้องอยู่ภายใต้ขอบเขตของความชอบด้วยกฎหมาย หมายความว่า ถ้าการใช้ดุลพินิจของพนักงานอัยการคนใดเกินล้ำออกนอกขอบเขตดังกล่าว การใช้ดุลพินิจนั้นย่อมเป็นการไม่ชอบ แต่ถ้าการใช้ดุลพินิจดังกล่าวอยู่ภายในขอบเขตของความชอบด้วยกฎหมายแล้ว ภายในขอบเขตนี้ พนักงานอัยการจะวินิจฉัยสั่งคดีไปในทางใดก็ได้ ซึ่งความหมายของการใช้ดุลพินิจที่ชอบด้วยกฎหมายในที่นี้คือการใช้ดุลพินิจที่อยู่บนรากฐานของความสมเหตุสมผลที่วิญญูชนโดยทั่วไปยอมรับได้ว่ามิใช่เป็นการใช้ดุลพินิจตามอำเภอใจหรือมีการบิดผันอำนาจนั่นเอง”

ปัญหาว่าการวินิจฉัยสั่งคดีของจำเลยที่มีคำสั่งไม่ฟ้องบริษัทสี่พระยาการพิมพ์ จำกัด และนายประชาซึ่งเป็นผู้ต้องหาในคดีที่โจทก์ในฐานะผู้เสียหายได้กล่าวหาว่าร่วมกันหมิ่นประมาทโจทก์โดยการโฆษณาด้วยเอกสารเป็นการใช้ดุลพินิจที่อยู่บนรากฐานของความสมเหตุสมผลที่วิญญูชนโดยทั่วไปยอมรับได้ว่ามิใช่เป็นการใช้ดุลพินิจตามอำเภอใจหรือมีการบิดผันอำนาจหรือไม่ ข้อที่ต้องวินิจฉัยคือ จากพยานหลักฐานในสำนวนการสอบสวนประกอบกับความเห็นของพนักงานสอบสวน การที่พนักงานอัยการคนหนึ่งคนใดจะวินิจฉัยสั่งไม่ฟ้องในกรณีนี้

ข้อวินิจฉัยของพนักงานอัยการดังกล่าววิญญูชนโดยทั่วไปยอมรับได้หรือไม่ว่ามิใช่เป็นการใช้ดุลพินิจตามอำเภอใจหรือมีการบิดผันอำนาจ อนึ่ง เนื่องจากการวินิจฉัยสั่งคดีของพนักงานอัยการในชั้นนี้มิใช่เป็นการวินิจฉัยว่าจำเลยมีความผิดหรือเป็นผู้บริสุทธิ์ดังเช่นกระบวนการพิจารณาพิพากษาคดีของศาล แต่เป็นเพียงการวินิจฉัยมูลความผิดตามที่กล่าวหาเท่านั้น ซึ่งเกณฑ์วินิจฉัยมูลความผิดของพนักงานอัยการที่วินิจฉัยสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้องผู้ต้องหาคือมีเหตุผลอันสมควรเพียงพอหรือไม่ที่จะนำผู้ต้องหาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมทางอาญาเพื่อให้ศาลวินิจฉัยชั้นสุดท้ายว่าผู้ถูกกล่าวหากระทำความผิดตามที่ถูกกล่าวหาหรือไม่

สำหรับกรณีการวินิจฉัยสั่งไม่ฟ้องบริษัทสี่พระยาการพิมพ์ จำกัด และนายประชาผู้ต้องหาทั้งสองของจำเลยกรณีนี้ได้ความว่า ข่าวในหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ตามเอกสารหมาย จ. 6 มีข้อความอันเป็นเท็จอยู่สองประการ คือ

ประการแรก มีข้อความว่า ทั้งโจทก์และนายบุญชัยต่างแจ้งความหาว่าอีกฝ่ายหนึ่งแจ้งความเท็จ

และประการที่สองมีข้อความว่าพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลบางยี่ขันได้ดำเนินคดีแก่โจทก์ด้วย โดยโจทก์ต้องใช้ตำแหน่งราชการประกันตัวไป

ซึ่งข้อความสองประการดังกล่าวนี้ไม่ตรงความจริง เพราะในวันเกิดเหตุทั้งโจทก์และนายบุญชัยยังไม่ได้แจ้งความหาว่าอีกฝ่ายหนึ่งแจ้งความเท็จ และโจทก์ยังไม่ถูกพนักงานสอบสวนดำเนินคดีจนต้องใช้ตำแหน่งราชการประกันตัว การลงข่าวในหนังสือพิมพ์อันเป็นเท็จดังกล่าวเห็นได้ชัดว่าแจ้ง ไม่ต้องด้วยหลักจริยธรรมทางวิชาชีพหนังสือพิมพ์ เนื่องจากมีการบิดเบือนข่าว อีกทั้งเป็นการล่วงละเมิดสิทธิส่วนบุคคลโดยปราศจากข้ออ้างเรื่องผลประโยชน์สาธารณะใด ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโจทก์เป็นข้าราชการตุลาการชั้นผู้ใหญ่ดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 การลงข่าวเท็จในหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ตามเอกสารหมาย จ. 6 ย่อมทำให้ผู้อ่านเข้าใจได้ว่าโจทก์มิได้ครองตัวให้สมกับสถานะอันเป็นที่เคารพยำเกรงของตำแหน่งผู้พิพากษาที่โจทก์ดำรงอยู่โดยปล่อยตัวเองถึงขนาดไปทะเลาะกับพ่อค้ากลางถนนจนถูกดำเนินคดีอาญา จากพยานหลักฐานในสำนวนการสอบสวนโดยเฉพาะข่าวในหนังสือพิมพ์เดลินิวส์เอกสารหมาย จ. 6 วิญญูชน

โดยทั่วไปย่อมเห็นว่ามีเหตุอันสมควรเพียงพอที่จะนำบริษัทสี่พระยาการพิมพ์ จำกัด และนายประชาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมทางอาญาเพื่อศาลจะได้วินิจฉัยชั้นสุดท้ายว่าบริษัทสี่พระยาการพิมพ์ จำกัด และนายประชามีความจริงตามที่ถูกกล่าวหาหรือว่าผู้ถูกกล่าวหาทั้งสองไม่มีความผิดเนื่องจากขาดเจตนาหรือมีข้ออ้างอย่างอื่น

การที่จำเลยวินิจฉัยสั่งไม่ฟ้องบุคคลดังกล่าวโดยอ้างเหตุว่าผู้ต้องหาทั้งสองไม่มีเจตนาหมิ่นประมาทโจทก์เป็นการวินิจฉัยมูลความผิดแบบด่วนวินิจฉัยคดีเสียเองดุจเป็นการพิจารณาพิพากษาคดีของศาล กล่าวคือ มิได้ใช้เกณฑ์วินิจฉัยมูลความผิดอย่างพนักงานอัยการพึงใช้ การใช้ดุลพินิจของจำเลยกรณีนี้นับเป็นเรื่องผิดปกติวิสัยของพนักงานอัยการผู้สุจริตโดยทั่วไป จึงเป็นการใช้ดุลพินิจที่วิญญูชนโดยทั่วไปไม่สามารถยอมรับได้ว่ามิใช่เป็นการใช้ดุลพินิจตามอำเภอใจ

แม้การวินิจฉัยสั่งคดีของจำเลยเป็นไปตามขั้นตอนที่กำหนด แต่เมื่อเป็นการใช้ดุลพินิจตามอำเภอใจเช่นนี้แล้วก็ถือไม่ได้ว่าจำเลยสุจริตใจดังที่จำเลยอ้าง โดยสรุปศาลฎีกาเห็นว่า การใช้ดุลพินิจวินิจฉัยสั่งคดีของจำเลยที่มีคำสั่งไม่ฟ้องบริษัทสี่พระยาการพิมพ์ จำกัด และนายประชา ทั้งที่หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ซึ่งบริษัทสี่พระยาการพิมพ์ จำกัด เป็นเจ้าของและนายประชาเป็นบรรณาธิการ ลงข้อความตามเอกสารหมาย จ. 6 เป็นความเท็จ และก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์

ในกรณีนี้ เป็นการใช้ดุลพินิจที่มิได้อยู่บนรากฐานของความสมเหตุสมผล แต่เป็นการใช้ดุลพินิจตามอำเภอใจ จึงเกินล้ำออกนอกขอบเขตของความชอบด้วยกฎหมาย และในฐานะที่จำเลยเป็นข้าราชการอัยการชั้นสูง จำเลยย่อมทราบดีถึงเกณฑ์วินิจฉัยมูลความผิดของพนักงานอัยการ การใช้ดุลพินิจผิดกฎหมายในกรณีนี้ จำเลยเห็นได้อยู่ในตัวแล้วว่าเป็นการมิชอบและยังเห็นได้อีกว่าจำเลยมีเจตนาเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ซึ่งเป็นผู้เสียหาย อีกทั้งเพื่อจะช่วยบริษัทสี่พระยาการพิมพ์ จำกัด และนายประชามิให้ต้องโทษจากการกระทำความผิดของตนอีกด้วย จำเลยจึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และมาตรา 200 วรรคหนึ่ง ดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมา ฎีกาจำเลยข้อ 2.1 ข้อ 2.2 ข้อ 2.3 ข้อ 2.4 ข้อ 2.5 และข้อ 2.6 ฟังไม่ขึ้น”

ทั้งหมดนี้ที่ผมยกตัวอย่างมาคือหลักการในการตรวจสอบดุลยพินิจการพิจารณาสั่งคดีของพนักงานอัยการ ในการตรวจสอบถ่วงดุลเพื่อให้กระบวนการยุติธรรมมีความสมบูรณ์เพื่อให้เห็นว่าเมื่อมีข้อพิรุธ ข้อสงสัย เมื่อมีกระบวนการตรวจสอบที่สามารถทำได้ย่อมเป็นเกราะปกป้ององค์กรไม่มากก็น้อย แต่หากปล่อยเพียงแค่ให้ผ่านพ้นไป คนที่ไม่ตระหนักในหน้าที่ของตนเองก็จะย่ามใจได้ว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้อง จึงนำมาให้ทุกคนได้นำมาต่อยอดความคิดต่อไป