posttoday

สกัดม็อบเยาวชนจุดติด! สภาหนุนเปิดเวทีรับฟังความเห็น

22 กรกฎาคม 2563

สภาผู้แทนฯถกญัตติกลุ่มนักศึกษารวมประท้วง หนุนเปิดเวทีสาธารณะรับฟังความเห็นปมแก้ไขรธน. ป้องกันผู้ไม่หวังดีบิดเบือนพลังบริสุทธ์

เมื่อวันที่ 22 ก.ค.ที่รัฐสภา มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายสุชาติ ตันเจริญ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร ทำหน้าที่ประธานการประชุม

นายจักรพันธ์ พรนิมิตร ส.ส. กทม. พรรคพลังประชารัฐ เสนอญัตติให้สภาผู้แทนราษฎรให้พิจารณาถึงกรณีม็อบนักศึกษา ซึ่งจากเหตุการณ์ในสังคมไทยที่ผ่านมาทั้ง 14 ตุลาคม, พฤษภาทมิฬ, และ 6 ตุลาคม นำมาสู่การเปลี่ยนแปลงในสังคม และโดยเฉพาะเหตุการณ์ม็อบมือถือในปี 2535 เป็นเหตุการณ์ที่เปลี่ยนผ่านการเคลื่อนไหวทางการเมืองจากในรั้วมหาวิทยาลัยมาเป็นวัยทำงานและชนชั้นกลาง เช่นเดียวกันกับในปัจจุบันซึ่งเยาวชนเริ่มมีการตื่นตัวในทางการเมือง แต่ขณะเดียวกันตนก็มีความกังวลว่าการเคลื่อนไหวที่เป็นไปโดยพลังบริสุทธิ์ถูกคนที่ไม่ประสงค์ดีอยู่เบื้องหลังบิดเบือนเจตนาที่ดีจึงอยากให้สภาผู้แทนราษฎรซึ่งมีทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาล จะเป็นสะพานเชื่อมตรงกลางให้เยาวชนเข้ามาแสดงความคิดเห็น ซึ่งจากการเรียกร้องในปัจจุบัน มีข้อเรียกร้อง ให้ยุบสภา ควบคุมการใช้อำนาจของรัฐบาล และการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แม้ว่าสองข้อแรกจะเกี่ยวข้องกับฝ่ายบริหาร แต่ข้อสุดท้ายเกี่ยวข้องกับฝ่ายนิติบัญญัติ ซึ่งมีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว ก็จะสามารถเปิดเวทีเพื่อแลกเปลี่ยนและรับฟังความคิดเห็นของนักศึกษาและเยาวชนได้ ซึ่งตนย้ำว่าเป็นพลังบริสุทธิ์ที่มีความคิดที่ดีในการเปลี่ยนแปลงบ้านเมือง แต่จะเป็นในรูปแบบวิธีการใด ตนต้องการให้สมาชิกแสดงความคิดเห็น

นายประเสริฐ จันทรรวงทอง ส.ส. นครราชสีมา พรรคเพื่อไทย เสนอญัตติด่วนขอให้สภาผู้แทนราษฎรมีมติให้รัฐบาลรับฟังความเห็นของนิสิต นักศึกษา และเยาวชน เนื่องจากตั้งแต่ต้นปี คนกลุ่มนี้ได้รวมตัวชุมนุมกันเพื่อแสดงความคิดเห็นทางการเมืองตลอดมา เว้นช่วงสถานการณ์การระบาดของโควิด ซึ่งตอนนี้เริ่มกลับมาชุมนุมอีกครั้ง และอนาคตก็จะมีการชุมนุมลักษณะนี้อีก ตนเห็นว่าการจำกัดเสรีภาพในการแสดงออกทั้งการพูดการพิมพ์และการเขียนทำไม่ได้ วันนี้มีการสื่อความหมายหลายแบบในโลกโซเชียล หลายเรื่องที่กลุ่มนักศึกษาเรียกร้องก็ยังไม่ได้รับการตอบสนอง โดยเฉพาะการแก้รัฐธรรมนูญ พวกเขาเคยมาแสดงความคิดเห็นใน กมธ.วิสามัญศึกษาแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญ เช่น เรื่องการเลือกตั้งและการให้อำนาจ ส.ว. โหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ซึ่งมองว่ากฎหมายตอนนี้ยังไม่เป็นธรรม นอกจากนี้ยังกล่าวถึงยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีว่าเป็นเหมือนการยื้อการสืบทอดอำนาจ แต่ยังไม่มีการปฏิรูปอย่างเป็นรูปธรรม และพายเรือในอ่าง เช่นการปฏิรูปตำรวจ หรือการปฏิรูปท้องถิ่น เป็นต้น แต่กลุ่มนิสิตนักศึกษายังขาดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น หลายคนถูกดำเนินคดี ถูกติดตาม เช่น คดีจ่านิว และไม่ได้รับการตอบสนองจากรัฐบาล นายกรัฐมนตรีเดินทางไปรับฟังความคิดเห็นจากสื่อมวลชน แต่ตนอยากให้นายกรัฐมนตรีเดินทางไปรับฟังความคิดเห็นจากนักศึกษาด้วย ตนเองคิดว่านักศึกษาไม่ได้อยากลงถนน ถ้ามีการรับฟังความเห็น และตนคิดว่าบรรยากาศจะดีขึ้น ถ้านายกรัฐมนตรีไม่รีบทำทุกอย่างอาจจะสายเกินแก้ และขอให้อย่าบ่ายเบี่ยง ไม่โดยเรื่องไปที่กรรมาธิการ แต่ควรรับฟังเองโดยตรง เพราะนิสิตนักศึกษาคือพลังบริสุทธิ์ และเป็นความหวังของประเทศชาติ

ด้านนางอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวว่า เสนอญัตติด่วนให้มีการรับฟังความเห็นของนิสิตนักศึกษานอกรั้วสถาบันการศึกษา โดยยกตัวอย่าง กรณีจังหวัดระยองที่เจ้าหน้าที่ตำรวจจับคนที่มายกป้ายประท้วงนายกรัฐมนตรีและพาขึ้นรถที่ไม่ใช่รถตำรวจ หรือกรณีของม็อบ 'เยาวชนปลดแอก' ที่เจ้าหน้าที่นำเอาต้นไม้ไปวางไว้ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย จนม็อบต้องถอยร่นไปที่อีกฝั่งถนน ทั้งนี้ จากการที่ตนไปพูดคุยกับคนที่มาร่วมชุมนุม เรื่องรัฐบาลเข้ามาโดยไม่ชอบธรรม ไม่มีเสถียรภาพในการบริหารงาน และการ์ดตกกับการบริหารงาน แต่ไม่เคยการ์ดตกกับการริดรอนเสรีภาพของประชาชน ตั้งแต่ คสช. จนถึงปัจจุบัน หลายคนถูกติดตามตัวและถูกคุกคาม นิสิตนักศึกษาเหล่านี้ให้คุณค่ากับความเท่าเทียมของมนุษย์ และที่สำคัญคือต้องการเข้ามาเพื่อเปลี่ยนแปลงแก้ไขความผิดปกติของประเทศที่ผู้ใหญ่รุ่นเราสร้างเอาไว้ ถ้ารัฐบาลต้องการต่ออายุตัวเองต้องปรับทัศนคติอย่างเข้มข้น ได้แก่ เรื่องนักศึกษาไม่ได้ออกมาชุมนุมเอง แต่มีเบื้องหลัง ทั้งที่คนที่มีเบื้องหลังคือรัฐบาลที่สืบทอดอำนาจ, การมองการชุมนุมว่าเป็นความไม่สงบ ซึ่งประเทศประชาธิปไตยเขาทำกันรายวันเพื่อบอกเล่าปัญหาให้รัฐบาลแก้ให้ตรงจุด, และทัศนคติที่ติดลบต่อการมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นของประชาชน

ตอนนี้โลกไร้พรมแดน ไม่มีรั้วอีกต่อไป เมื่อก่อนประเทศไทยเคยได้รับการยกย่องว่ามีเสรีภาพสื่อและการแสดงความคิดเห็น แต่ตอนนี้กลับย่ำแย่ ตอนนี้ไม่ใช่แค่เรื่องเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น แต่ตอนนี้คือนักศึกษาต้องการการคุ้มครองในการแสดงความเห็นด้วย ไม่ใช่การจับกุมหรือยัดคดีให้กับพวกเขา ยกตัวอย่างอำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา มีการปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นที่จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นในการสร้างนิคมอุตสาหกรรม ใช้กำลังเจ้าหน้าที่ความมั่นคงจำนวนมาก คนที่เห็นต่างไม่สามารถเข้าไปแสดงความคิดเห็นได้ และตัวอย่างที่ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีไปมอบนโยบายให้ศูนย์เฟคนิวส์ยกระดับเป็นกองบัญชาการและกำชับให้ดำเนินคดีอย่างจริงจัง เพื่อกีดกั้นการแสดงความคิดเห็นของคนหนุ่มสาวบนโลกออนไลน์ การต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉินที่ให้อำนาจเบ็ดเสร็จต่อนายกรัฐมนตรี และมีเนื้อหานิรโทษกรรมที่ให้ข้าราชการที่ทำตามคำสั่งของนายกรัฐมนตรีไม่มีความผิด เหมือนเป็นการรัฐประหารซ้ำ “นางอมรัตน์ กล่าว

นางอมรัตน์ กล่าวต่อว่า ขณะเดียวกันนิสิตนักศึกษาต้องการให้มีตัวแทนของพวกตนอยู่ในสภามหาวิทยาลัยด้วย ต้องการแก้ พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยต่างๆ และต้องการมีส่วนร่วมในคณะกรรมาธิการที่เกี่ยวข้องกับพวกเขา หมดยุคของสังคมห้ามคิด ชีวิตห้ามสงสัย ถึงเวลาที่สนับสนุนให้คนหนุ่มสาวตั้งข้อสงสัย และหยุดสองมาตรฐานกับประชาชนทั้งที่ผู้มีอำนาจทำได้ ทำไมคนที่ผูกโบว์เรียกร้องการอุ้มหายถึงถูกจับ ทำไมหมวดอาร์มที่ออกมาเปิดเผยการทุจริตในกองทัพ ถึงถูกปลดออกจากกองทัพ ทั้งหมดนี้เป็นการสร้างความกลัวให้กับประชาชน ตนจึงขอให้รัฐบาลคุ้มครองคนที่ออกมาแสดงความคิดเห็นแทนยัดเยียดคดีความ และเรียกร้องให้ยกเลิกมาตรา 279 เพื่อเอาคนรัฐประหารเข้าคุก และมาตรา 272 เอา ส.ว. ออกจากการเมืองไทย และให้คณะกรรมาธิการการเมืองฯ ศึกษาเรื่องนี้

นายอิสระ เสรีวัฒนวุฒิ ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า เสนอญัตติให้สภาผู้แทนราษฎรเปิดพื้นที่ให้นิสิตนักศึกษาเข้ามามรีส่วนร่วมในการหาแนวทางการแก้ปัญหาบ้านเมือง เนื่องจากรัฐบาลมีส่วนสำคัญในการรักษาแผลที่เกิดขึ้นในสังคมตอนนี้ ความรู้สึกของนิสิตนักศึกษาเขาอึดอัดคับข้องใจที่ปัญหาของเขาไม่มีคนฟัง หรือฟังแล้วแต่ทำเป็นไม่ได้ยิน จำนวนประชากรของเยาวชนคือ 1 ใน 3 ของประชากรในประเทศ แต่พวกเขากลับเป็นสัดส่วนที่น้อยมากในการแสดงความเห็นหรือกำหนดแนวทางของบ้านเมือง มาตรา 95 กำหนดสิทธิในการเลือกตั้งในคนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป แต่มาตรา 97 กำหนดให้คนที่มีอายุ 25 ปีขึ้นไปถึงจะลงสมัครรับเลือกตั้งได้ แสดงให้เห็นถึงความลักลั่นของกฎหมาย นอกจากนี้ยังยกตัวอย่างเรื่องทรงผมนักเรียนที่ร้องเรียนว่าถูกตัดผมสั้นประจารกว่า 300 โรงเรียน ทั้งที่ระเบียบกระทรวงระบุว่านักเรียนไว้ผมยาวหรือสั้นก็ได้ นักเรียนที่ไม่ทำผิด ก็ไม่ควรถูกลงโทษ หรือถ้าทำผิดแล้วต้งอมีการลงโทษก็ต้องลงโทษตามระเบียบกระทรวงที่ต้องการทำให้นักเรียนที่ทำผิดเปลี่ยนพฤติกรรม ไม่ใช่ประจานเพื่อให้อับอาย นอกจากนี้ยังมีปัญหาที่ส่งผลกระทบโดยตรงกับเยาวชนอีกมากทั้งปัญหาเชิงระบบ ไปจนถึงนโยบายของรัฐ ดังนั้นจึงจำเป็นที่ต้องเปิดโอกาสให้กับเด็กมาแสดงความคิดเห็น เหตุการณ์ม็อบปลดแอกเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมาเป็นข้อสะท้อนที่สภาจำเป็นต้องเปิดเวทีรับฟังความเห็นด้วยหลักการ 4 ย คือ ยืดหยันไม่ให้เข้าข้างใด ยืนยันว่าตอนนี้ถือหมวกสองใบคือเยาวชนและนักศึกษา ยืดหยุ่นเปิดพื้นที่ทางใจและลดอุณหภูมิทางความคิด และยั่งยืนโดยใช้ระบบการบริหารการประชุมที่ลดความเสี่ยงในการแพร่เชื้อโควิด

นายภราดร ปริศนานันทกุล ส.ส. อ่างทอง พรรคภูมิใจไทย กล่าวว่า เสนอญัตติให้มีการรับฟังความคิดเห็นของนิสิตนักศึกษา เยาวชน และประชาชน เนื่องจากที่ผ่านมามีการจัดการชุมนุมทั้งในพื้นที่สาธารณะและออนไลน์ซึ่งเป็นการแสดงความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ต่อการบริหารประเทศ ตนขอแสดงความชื่นชมและให้กำลังใจกับการชุมนุมที่ผ่านมา นี่เป็นวิถีทางประชาธิปไตย ตราบใดที่ไม่กระทบกระเทือนต่อสิทธิของผู้อื่นและไม่ขัดต่อกฎหมายย่อมีสิทธิที่จะทำได้ ตนเรียกร้องไปยังผู้ถืออำนาจรัฐ ว่าสิทธิที่ประชาชนแสดงออกเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน ควรเปิดโอกาสให้คนที่มีความคิดเห็นในทุกรูปแบบแสดงความเห็นของตัวเองอย่างอิสระ นอกจากนี้ยงัต้องสร้างบรรยากาศให้ผู้ที่ออกมาเรียกร้องมีความปลอดภัยภายใต้กฎหมายเดียวกัน และรัฐบาลต้องรับฟังขอ้เรียกร้องอย่างเป็นเหตุผล ไม่มีอคติ ไม่ควรผลักไสให้คนที่มีความคิดเห็นตรงข้ามรัฐบาลไปอยู่อยู่คนละมุม เพราะจะเป็นจุดเริ่มต้นของความขัดแย้งรุนแรงของสังคม ต้องเอาเหตุการณ์ความขัดแย้งและรุนแรงทางการเมืองในอดีตมาเป็นบทเรียน และเมื่อรัฐบาลชุดไหนเริ่มตัดสินใจใช้ความรุนแรงกับผู้ชุมนุม วินาทีนั้นเป็นวินาทีสุดท้ายและเป็นจุดจบของทุกรัฐบาล ผู้นำรัฐบาลจะแปลงร่างจากวีรบุรุษเป็นทรราช การแลกมาด้วยคราบน้ำตาและรอยเลือดจะเรียกได้หรือว่าตนคือผู้เสียสละ คนที่อยู่บนเวทีและเป็นแกนนำไม่เคยเป็นผู้เสียสละ เพราะคนที่สูญเสียคือคนที่ชุมนุม ตนวิงวอนไปยังรัฐบาลและกลุ่มผู้ชุมนุม ว่าทางแก้ปัญหาคือสันติวิธี เราอยากเชิญชวนทุกฝ่ายรับฟังทุกฝ่าย และใช้เวทีสภาในการแก้ปัญหา เราพร้อมที่จะเดินหน้าร่วมกันในประเด็นที่จะเดินหน้าต่อไปได้

“พรรคภูมิใจไทยพร้อมที่จะยืนอยู่ข้างคนที่ถูกใช้ความรุนแรง พวกเราเรียกร้องไม่ให้ใช้ความรุนแรงกับประชาชน การยุบสภาเป็นเรื่องปกติที่นายกรัฐมนตรีที่สามารถจะทำได้ พรรคไม่กลัวการยุบสภา เราพร้อม แต่ถ้ายุบสภาวันนี้ สิ่งที่ได้คืออะไร จะได้การเปลี่ยนแปลงประเทศหรือไม่ ตนคิดว่าไม่ใช่ เพราะรัฐธรรมนูญและองค์ประกอบอื่นๆ ตอนนี้ไม่ใช่ จึงมาที่ข้อเรียกร้องที่สาม คือการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตอนนี้สภามีคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่สิ่งที่ กมธ. ทำอยู่ตอนนี้ตนไม่เห็นช่องทางในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พรรคพร้อมที่จะเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญเช่นเดียวกัน เพราะเชื่อว่าประชาธิปไตยที่ทุกคนปรารถนา เป็นประชาธิปไตยของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชน แต่กติตาต้องเป็นของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชนก่อน คือการให้คนทุกคนเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขกติกาของประเทศ รัฐธรรมนูญปี 2540 เท่านั้นที่เป็นแบบนั้น แต่รัฐธรรมนูญฉบับอื่นถูกร่างมาโดยกลุ่มคน ดังนั้นนอกจากรับฟังความเห็นของน้องๆ นักศึกษาแล้ว ยังต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยเฉพาะมาตรา 256 ตนจึงอยากให้ตั้งเป็นคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อรับฟังความคิดเห็นเช่นเดียวกับนายอิสระ และควรจะให้มีกรรมาธิการคนนอกเข้ามารับฟังความเห็นด้วย” นายภราดร กล่าว