posttoday

"เพื่อไทย"เร่ง"บิ๊กตู่"จัดเลือกตั้งท้องถิ่นกระตุ้นศก.คืนอำนาจให้บประชาชน

19 กรกฎาคม 2563

พรรคเพื่อไทยจี้รัฐบาลคืนอำนาจให้ประชาชนจัดเลือกตั้งท้องถิ่นเพื่อแก้สารพัดปัญหาที่หมักหมมมานาน 7-9 ปี อีกทั้งยังเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ

เมื่อวันที่ 19 ก.ค.ร.ต.อ.วัฒนรักษ์ อำนรรฆสรเดช กรรมการกิจการพิเศษพรรคเพื่อไทย เปิดเผยว่า ตั้งแต่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก้าวขึ้นมาเป็นหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ยึดอำนาจและบริหารราชการแผ่นดินในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมากว่า 6 ปี องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ได้แก่ องค์กรบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) เมืองพัทยา และกทม. รวม 7,852 แห่ง ไม่ได้จัดการเลือกตั้งมาแล้วนานถึง 7-9 ปี ตัวแทนของประชาชนยังไม่ได้เข้าไปทำหน้าที่ สาเหตุมาจากคำสั่งหัวหน้าคสช. ที่ 1/2557 ลงวันที่ 5 ธ.ค. 2557 เรื่อง การได้มาซึ่งสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นเป็นการชั่วคราว ได้ออกคำสั่งให้ผู้บริหาร อปท. บางแห่งอยู่ต่อและบางแห่งก็แต่งตั้งผู้บริหารเข้ามาทำงานแทนคนเดิม เช่น ในส่วน กทม. คำสั่งดังกล่าวได้อ้างเหตุผลที่ไม่จัดการเลือกตั้งว่า “เพราะสถานการณ์ยังไม่อาจจัดให้มีการเลือกตั้ง อปท.หรือผู้บริหารท้องถิ่นได้โดยเรียบร้อย” แต่ปัจจุบันนี้ เวลาก็ได้ผ่านมานานมากแล้ว สถานการณ์ก็ไม่ได้เป็นอย่างที่ได้อ้าง ส่วนคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เองก็พร้อมที่จะกำกับดูแลการเลือกตั้งท้องถิ่น แล้วอะไรกันที่เป็นเหตุให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดนี้ถึงยังไม่มีมติกำหนดวันเลือกตั้ง หากยังยืดเยื้อโดยการอ้างด้วยเหตุผลเดิมก็คงเป็นเพียงการแก้ตัวน้ำขุ่น ๆ ไปเท่านั้นเอง

ร.ต.อ.วัฒนรักษ์ กล่าวว่า นอกจากการเลือกตั้งท้องถิ่นจะเป็นการคืนอำนาจการตัดสินใจให้กับประชาชนแล้ว ยังเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจอีกด้วย เพราะการเลือกตั้งทุกครั้ง ทุกจังหวัดจะมีเงินสดหมุนเวียนสะพัดในระบบเศรษฐกิจ การเลือกตั้งในแต่ละครั้ง กกต.ใช้งบประมาณ 800 ล้านบาท กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 5,000 ล้านบาท กทม. 240 ล้านบาท ในส่วนผู้สมัครรับเลือกตั้งทั้งประเทศใช้เงินเพื่อเป็นค่าจัดสัมมนา สื่อโฆษณา อาหาร บุคลากร รถยนต์หาเสียง น้ำมันสำหรับพาหนะ และอีกมากมาย 130,000 ล้านบาท เงินที่จะถูกอัดฉีดเข้าระบบเศรษฐกิจจากการเลือกตั้งเป็นจำนวนรวมจากทุกภาคส่วนกว่า 136,040 ล้านบาทนี้ จะถูกส่งตรงถึงกระเป๋าของประชาชนตัวเล็กตัวน้อย โดยการจ้างงานต่าง ๆ จะส่งผลให้เงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นอีก 5 เท่า ดังนั้นการเลือกตั้งท้องถิ่นจึงช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไทยได้อย่างแน่นอน

ทั้งนี้ จากสถานการณ์เศรษฐกิจที่ตกต่ำตลอด 6 ปีที่ผ่านมา จึงจำเป็นที่จะต้องจัดการเลือกตั้งท้องถิ่นซึ่งจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะกทม. ควรเป็นพื้นที่นำร่องจัดการเลือกตั้ง เพราะเป็นพื้นที่ที่มากปัญหาค่อนข้างมากที่รอการแก้ไขหลังการเลือกตั้ง เช่น 1. ปัญหาเศรษฐกิจ GDP ของเมืองหลวงไทยตกต่ำถึงขีดสุดในรอบ 20 ปี 2. ปัญหาสิ่งแวดล้อม เช่น ฝุ่นพิษ PM 2.5 ที่ไม่มีท่าทีว่าจะลดลง เมื่อฝนตกน้ำก็ยังท่วมขังทุกครั้ง แม่น้ำลำคลองเน่าเสีย ไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้เต็มที่ ชาวกรุงต้องจำอยู่กับสภาพแวดล้อมแบบนี้ 3.การจราจรติดขัดที่คนกรุงต้องพบเจอเป็นประจำ และยังคงแก้ปัญหาไม่ตรงจุด ระบบขนส่งมวลชนที่ยังไร้ประสิทธิภาพ ทำให้คนกรุงเลือกที่จะใช้รถส่วนบุคคล 1 คน ต่อรถยนต์ 1 คัน ผลที่ตามมา คือ ปัญหาการจราจรติดขัดที่เรื้อรังยากจะแก้ไข

4.ความเหลี่อมล้ำทางสังคมเพิ่มขึ้นทุกวัน โอกาสทางการศึกษาไม่ได้เข้าถึงเด็กทุกคน คนรวยได้เข้าถึงการศึกษาที่ดี ส่วนคนจนก็ไม่มีทางที่จะได้รับโอกาสนั้น และการจัดการศึกษาที่เป็นอยู่ก็ยังไร้ประสิทธิภาพ หากดูจากผลการประเมินสมรรถนะนักเรียนตามมาตรฐานสากล (Programme for International Student Assessment : PISA) ซึ่งการสอบนี้จะจัดสอบขึ้นทุก 3 ปี ในการสอบประจำปี 2018 เด็กไทยสอบตกทุกวิชา เพราะ ความฉลาดรู้ (Literacy) มีไม่มากเท่าที่ควร ขาดทักษะ การสอบนี้สะท้อนให้เห็นว่าการศึกษาไทยที่ยังรั้งท้ายอันดับ 13 ของโลก ไทยอยู่ที่อันดับ 66 จาก 79 ประเทศทั่วโลก และ 5. ปัญหายาเสพติดที่เพิ่มขึ้นจนน่าเป็นห่วง ทุกวันนี้ยาเสพติดหาซื้อได้ง่าย แถมยังราคาถูก 4 เม็ด 100 บาท ปัญหาต่าง ๆ อย่างการขโมย การทะเลาะวิวาท ก็ต่อแถวตามมาจากการเสพยาเสพติด

ร.ต.อ.วัฒนรักษ์  กล่าวว่า นอกจากปัญหาที่ได้กล่าวมาแล้ว ความต้องการของประชาชนยังมีอีกมาก จึงต้องการตัวแทนที่ประชาชนเป็นคนเลือกมาแก้ไขปัญหาต่าง ๆ หาก พล.อ.ประยุทธ์ มีความมั่นใจว่าตัวเองแน่พอและไม่ต้องการสืบทอดอำนาจ แต่ต้องการคืนอำนาจกลับคืนสู่ประชาชนตามระบอบประชาธิปไตย ก็ไม่จำเป็นต้องกลัวการเลือกตั้งท้องถิ่น และถ้าหากยังผัดวันประกันพรุ่ง ตัว พล.อ.ประยุทธ์ เองก็จะมีแต่เสียคะแนน เสียความน่าเชื่อถือ เพราะประชาชนคิดว่าที่อยู่ ก็เพียงอยากสืบทอดอำนาจของตัวเองไปวัน ๆ หรือไม่ และไม่มีเหตุผลใดที่จะยืดเวลาการเลือกตั้งอีกต่อไป ถึงเวลาที่ต้องคืนอำนาจการตัดสินใจให้ประชาชนอีกครั้ง ให้คนที่ประชาชนไว้ใจขึ้นมาเป็นตัวแทนของพวกเขา เพราะตามหลักที่นักรัฐศาสตร์ทั่วโลกเชื่อว่า “ประชาธิปไตยอาจไม่ใช่รูปแบบการปกครองที่ดีที่สุด แต่เป็นรูปแบบการปกครองที่เลวน้อยที่สุด”