posttoday

เครือข่ายประชาชนฟ้องศาลแพ่งนายกฯถอนคำสั่งขยายเวลาพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ

09 กรกฎาคม 2563

"นิมิตร์ เทียนอุดม" นำทีมเครือข่ายประชาชนฯ ฟ้องแพ่งนายกฯ ขอศาลสั่งถอนคำสั่งขยายเวลาสถานการณ์ฉุกเฉินฯ

เมื่อวันที่ 9ก.ค.63 ที่ศาลแพ่ง ถนนรัชดาภิเษก นายนิมิตร์ เทียนอุดม ในฐานะเครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ กับพวกรวม 5 คน เดินทางมายื่นฟ้อง นายกรัฐมนตรี (พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ) ในความผิดเรื่อง ขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนการประกาศ เรื่องการขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร (คราวที่ 1) และข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 1)

ระบุคำฟ้องทำนองว่า เมื่อวันที่ 25 มี.ค.63 จำเลยใช้อำนาจออกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน และมีการออกข้อกำหนดต่างๆ ตามมาในช่วงเวลาต่างๆ และระหว่างออกประกาศ โจทก์กับพวกไปยื่นหนังสือขอให้รัฐบาลกัมพูชาช่วยติดตามตัวนายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ณ สถานฑูตกัมพูชา แต่พวกโจทก์กลับถูกพนักงานสอบสวนดำเนินคดีอ้างว่ามีประกาศห้ามชุมนุมช่วงโควิด จึงทำให้พวกโจทก์ไม่อาจใช่สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นเห็น ตามรัฐธรรมนูญฯ ได้

นอกจากนี้ วันที่ 1ก.ค.63 พวกโจทก์ยังไปยื่นติดตามเรื่องร่าง พ.ร.บ.บำนาญแห่งชาติ อันเป็นการใช้เสรีภาพในการชุมนุมก็ถูกห้ามชุมนุม อ้างว่าเป็นช่วงควบคุมโรคโควิดอีก

โจทก์ จึงเห็นว่า จำเลยไม่มีอำนาจขยายเวลาประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินอีกเพราะส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจและสิทธิเสรีภาพของประชาชน จึงขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วทุกเขตทั่วราชอาณาจักร

ทั้งนี้ คำฟ้องได้อยู่ในสารบบคดีดำที่ พ.3454/2563 ซึ่งศาลจะมีคำสั่งต่อไป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การเดินทางมายื่นฟ้องวันนี้ นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข นักเคลื่อนไหวกลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย , นายเลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ หัวหน้าพรรคสามัญชน พร้อมมวลชนจำนวนหนึ่งร่วมเดินมาจากสุานีรถไฟฟ้า MRT ลาดพร้าว มายังศาลแพ่ง ที่อยู่ห่างกันประมาณ 200-300 เมตร

ภายหลังยื่นคำฟ้องต่อศาลแล้ว นายนิมิตร์ ให้สัมภาษณ์ว่า เรายื่นคำฟ้องขอให้ศาลแพ่ง เพิกถอน เกี่ยวการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ศาลอยู่ระหว่างพิจารณาว่าจะรับคำฟ้องไว้หรือไม่ เราฟ้องประเด็นที่นายกฯ ยืด พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ออกไปจนถึงสิ้นเดือนนี้ นายกฯ มีสิทธิที่จะออก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จริง แต่การออก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จำเป็นที่จะต้องมีเหตุและผลที่สมควร ซึ่งเป็นอำนาจของฝ่ายบริหาร แต่ฝ่ายบริหารจะต้องใช้อำนาจอย่างจำกัดเพื่อไม่ให้ละเมิดสิทธิและเสรีภาพ เราขอให้ศาลพิจารณาแล้วกำกับตรวจสอบการใช้อำนาจของฝ่ายบริหารที่ต้องใช้อย่างระมัดระวัง ไม่ไปละเมิดสิทธิและเสรีภาพในการชุมนุมของประชาชน

นายนิมิตร์ กล่าวต่อไปว่า คำฟ้องดังกล่าวยังมีรายละเอียดเพิ่มเติมด้วยว่า วันที่ 13 ก.ค. นี้ เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการจะไปชุมนุมกันที่หน้าอาคารองค์การสหประชาชาติ ราชดำเนิน กทม.เพื่อไปทวงถามลายเซ็นนายกฯ เพราะลายมือชื่อประชาชนกว่า 10,000 คน เข้าชื่อผ่านระบบของสภา แล้วต้องให้นายกฯ เซ็นรับรอง เพราะว่าเป็น พ.ร.บ.ที่เกี่ยวกับการเงิน ซึ่งถูกดองไว้เกือบ 5 เดือน เราจึงไปทวงถามว่าเมื่อไหร่นายกฯ จะเซ็นลายมือชื่อ เพื่อให้เข้าสู่การพิจารณาของสภา เราร้องว่าการยืด พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ออกไป ทำให้จำกัดเสรีภาพการชุมนุมทวงถามเรื่องบำนาญถ้วนหน้า บำนาญประชาชน ที่จะให้กับผู้อายุกว่า 60 ปี จะได้บำนาญ 3,000 บาท