posttoday

"อดิศร" โวย "ไพบูลย์" ไม่เป็นกลาง เสนอ เปลี่ยนตัว ประธาน กมธ.งบโควิด

26 มิถุนายน 2563

"อดิศร" เสนอ เปลี่ยนตัว ประธาน กมธ.งบโควิด ชี้ ทำหน้าที่ไม่เป็นกลาง ไม่ให้เกียรติ กมธ.หวั่นตรวจสอบการใช้งบ ขาดประสิทธิภาพ ด้าน"ไพบูลย์" ซัด "กมธ.บางคน สำคัญตัวผิด

เมื่อวันที่ 26 มิ.ย. นายอดิศร เพียงเกษ ในฐานะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาติดตาม ตรวจสอบการใช้เงินตามพระราชกำหนด 3 ฉบับ เพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ระบุว่า การทำหน้าที่ของ นายไพบูลย์ นิติตะวัน ประธานกรรมาธิการ ทำหน้าที่ไม่เป็นกลาง พยายามพูดตัดบทหลายครั้งเมื่อ กรรมาธิการแสดงความคิดเห็นที่แตกต่างจากตนเอง เช่นเมื่อตนเสนอต่อที่ประชุมว่าควรเชิญนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้รับผิดชอบเงินกู้สูงสุด มาให้ความเห็นหรือชี้แจงประเด็นข้อสงสัย กลับถูกนายไพบูลย์ พูดตัดบททันที ทั้งที่เป็นเรื่องที่สามารถกระทำได้ พฤติกรรมของประธานจึงเป็นเรื่องไม่เหมาะสม เพราะการทำหน้าที่ประธานต้องวางตัวเป็นกลาง และให้เกียรติกรรมาธิการ โดยเห็นว่านายไพบูลย์ ขาดคุณสมบัติ ในเรื่องดังกล่าว พฤติกรรมเช่นนี้เชื่อว่าจะไม่สามารถทำงานร่วมกันได้

นายอดิศร กล่าวด้วยว่า คนที่จะมาทำหน้าที่ตรวจสอบการใช้งบประมาณมหาศาล ควรเป็นบุคคลที่มีคุณภาพ เป็นที่ยอมรับของประชาชนมากกว่านี้ ซึ่งพรรคพลังประชารัฐต้องนำกลับไปพิจารณา  เพราะเมื่อ กรรมาธิการขาดความเชื่อมั่นและไว้วางใจต่อประธานแล้ว อาจทำให้การตรวจสอบทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะท่าทีของนายไพบูลย์ ที่จะไม่รับฟังข้อเสนอที่แตกต่าง

ด้าน นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.)วิสามัญพิจารณาติดตามตรวจสอบ การใช้เงินตาม พ.ร.ก. 3 ฉบับ เพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กล่าวว่า ในการประชุม กมธ.สัปดาห์หน้า วันที่ 29 มิ.ย.นี้ จะเชิญเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) มาสอบถามถึงการพิจารณากลั่นกรองพิจารณาอนุมัติโครงการใช้งบประมาณตาม พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท จากนั้นในวันที่ 30 มิ.ย.จะพิจารณาเงินบริหารจัดการตาม พ.ร.ก.ซอฟต์โลน และ พ.ร.ก.อุ้มตราสารหนี้ ซึ่งในการปฏิบัติหน้าที่ตรวจสอบหาข้อเท็จจริงการใช้งบให้เกิดประสิทธิภาพ เกิดความโปร่งใส พร้อมกับการเยียวยาฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม กรณีผู้ได้รับผลกระทบโดยเฉพาะผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ประชาชน ที่เข้าไม่ถึงกลไกการช่วยเหลือ

นายไพบูลย์ กล่าวต่อว่า ถึงแม้ในการประชุมจะมีลักษณะที่เหมือนขัดแย้งกันบ้างก็เป็นปกติในการประชุมกรรมาธิการ แต่กรรมาธิการบางคนเข้าใจผิด ใช้การกดดันส่วนตัววอล์กเอาท์ และประกาศลาออกจากตำแหน่ง เพราะคิดว่าถ้าตนเองออกแล้วที่ประชุมหรือกรรมาธิการจะเป็นปัญหา แต่สำคัญตัวผิด อีกทั้งไม่ทำตามอย่างที่พูด ประกาศจะลาออกแต่ยังมาประชุมอยู่ นอกจากนี้ยังเข้าใจตัวเองผิดจะเชิญนายกรัฐมนตรีมาชี้แจง ทั้งที่ไม่ได้มีอำนาจขนาดนั้น หลายคนอภิปรายอยากจะมีอำนาจตัด หรืออนุมัติงบประมาณด้วย โดยให้ สภาพัฒน์ฯเอาตามที่ตัวเองต้องการหรือให้นำงบประมาณมาให้ตนตรวจก่อนเสนอ ครม. อันนี้มันเกินไป ไม่ใช่กรรมาธิการงบประมาณ แต่มีหน้าที่แค่ศึกษาตรวจสอบหาข้อเท็จจริง ทำได้เพียงแค่สภาพัฒน์ฯมาชี้แจงแล้วก็ให้ข้อเสนอแนะกลับไป พร้อมติดตามโครงการว่าโปร่งใสไหม ถ้ามีใครมาร้องเรียนก็ตรวจสอบไปเท่านั้น

นายไพบูลย์ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้กรรมาธิการมีมติเห็นชอบกรอบการทำงานโดยประชุมทุกวันจันทร์และอังคารของสัปดาห์ พร้อมฝากไปยังประชาชน และผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ยังไม่ได้รับความช่วยเหลือ สามารถโทรติดต่อกรรมาธิการ 084-979-8879 เพื่อแจ้งเจ้าหน้าที่และกรรมาธิการจะหาแนวทางช่วยเหลือต่อไป