posttoday

ครป.มองกองทัพจัดรำลึกกบฎบวรเดชไม่เหมาะสม

26 มิถุนายน 2563

เลขาธิการครป.ชี้เอกสารกองทัพบกสร้างความขัดแย้งเข้าใจผิดในสังคมแนะตรวจสอบให้ดีและก่อนต้องสอบสวนภายในใครจงใจบิดเบือน"กบฎบวรเดช"

นายเมธา มาสขาว เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า การที่กองทัพบกจัดงานพิธีรำลึกกบฎบวรเดชนั้นไม่เหมาะสมในฐานะบทบาทของกองทัพ หากอยากจัดงานรำลึกควรเป็นเรื่องปัจเจกบุคคลมากกว่า ไม่ใช่ในฐานะกองทัพบก

กองทัพบกในประเทศประชาธิปไตยอยู่ภายใต้รัฐบาลพลเรือน ต้องพึงระวังการแสดงออกทางการเมืองที่ไม่เหมาะสม และขัดกับบทบาทหน้าที่ การจัดงานรำลึกกบฎบวรเดชในวันรำลึกการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎรในวันที่ 24 มิถุนายน นั้น ยิ่งเป็นการเมืองอย่างยิ่ง เอกสารของสำนักงานเลขานุการกองทัพบก ซึ่งถือเป็นแถลงการณ์ระบุว่า การเปลี่ยนแปลงการปกครองของคณะราษฎรถือเป็นการรัฐประหารเพื่อล้มราชบัลลังก์ นับเป็นคำประกาศที่น่าละอายและสร้างความแตกแยกของกองทัพในศตวรรษที่ 21 และจะสร้างความขัดแย้งให้เกิดขึ้นในสังคมไทย

เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475 ของคณะราษฎร เป็นการปฏิวัติสยามซึ่งเป็นการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอำนาจการปกครองจากระบอบกษัตริย์แบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เป็นระบอบประชาธิปไตยอันเป็นมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือ Constitutional Monarchy ทำให้เกิดระบบรัฐสภา และรักษาสถาบันกษัตริย์ไว้เช่นเดียวกับ อังกฤษ เดนมาร์ก สวีเดน นอรเวย์ ฟินแลนด์ และญี่ปุ่น และวิกฤตเศรษฐกิจโลกในขณะนั้นเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดการปฏิวัติ ไม่ใช่การรัฐประหารรัฐบาลประชาธิปไตยเหมือนในช่วงหลัง 88 ปีประชาธิปไตยไทยที่ผ่านมา

กลับกันกบฎบวรเดชคือการพยายามทำรัฐประหาร แต่ทำไม่สำเร็จจึงกลายเป็นกบฎ คณะผู้ก่อการนำทหารจำนวนมากจากหัวเมืองเข้ามายึดพื้นที่ดอนเมือง จับกุมคนฝ่ายรัฐเป็นตัวประกันเพื่อบีบบังคับให้รัฐบาลพระยาพหลพลพยุหเสนาลาออกหรือปฏิบัติตามข้อเรียกร้องของคณะกู้บ้านเมืองโดยมีข้ออ้างให้รักษาสถาบันกษัตริย์ไว้ ดังนั้น ประชาสัมพันธ์ของกองทัพบกจึงตั้งใจสร้างความเข้าใจผิดให้เกิดขึ้นในสังคม กองทัพบกจึงควรตรวจเอกสารให้ดีก่อนออกมาและสอบสวนภายในว่ามีใครตั้งใจบิดเบือนหรือไม่

ทั้งนี้ คณะราษฎรส่วนใหญ่ล้วนเป็นนายทหารประชาธิปไตย และตั้งใจรักษาชาติบ้านเมืองไว้ในสถานการณ์วิกฤตหลายยุค คุณูประการของคณะราษฎรมีมากมาย ทั้งการรักษาสถาบัน ทำให้เกิดรัฐธรรมนูญ จัดตั้งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โรงพยาบาลของรัฐทั่วประเทศ จัดตั้งกระทรวงสาธารณสุข รวมถึงธนาคารแห่งประเทศไทย สร้างรัฐไทยที่ทันสมัยมาจนถึงวันนี้ ผลงานของเสรีไทยส่วนหนึ่ง ร่วมปกป้องชาติบ้านเมืองทำให้ประเทศไทยไม่เป็นผู้แพ้สงคราม

นายทหารที่ดีอย่ามีแต่ความอิจฉาริษยาและรู้แต่รักษาตัวรอดอย่างเดียว แต่ต้องเข้าใจบทบาทหน้าที่ในยุคใหม่ หากกองทัพต้องการรักษาและดำรงไว้ซึ่งระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ต้องรับฟังคำสั่งรัฐบาลพลเรือนอย่างเคร่งครัด ร่วมจำกัดทุจริตคอร์รัปชันภายในทุกรูปแบบ หยุดการสนับสนุนทหารไปเล่นการเมืองและหาผลประโยชน์ในรัฐวิสาหกิจและธุรกิจความมั่นคงนอกระบบ

ความเป็นชาติไทยสมัยใหม่ กองทัพไม่อาจเอาตนเองเป็นศูนย์กลางความมั่นคงอีกต่อไป กองทัพควรเสนอแผนปฏิรูปตนเองทุก 5 ปี เสนอรัฐสภา เพื่อก้าวทันปัญหาความมั่นคงในยุคโลกาภิวัตน์ อย่าไปติดกับดักอำนาจในยุคสงครามเย็นที่กองทัพถูกใช้เป็นเครื่องมือในอุดมการณ์การเมืองระหว่างประเทศ ภัยคอมมิวนิสต์หมดไปแล้วเมื่อสหรัฐฯ ผู้นำโลกเสรีจับมือกับจีนยุคใหม่ที่กลายเป็นทุนนิยมโดยรัฐ แต่สถาบันกองทัพไทยกลับไม่พัฒนาไปข้างหน้าเลย

เสียดายที่เค้าโครงเศรษฐกิจของนายปรีดีหรือสมุดปกเหลืองไม่ถูกนำมาใช้ ไม่เช่นนั้นประเทศไทยคงไม่เกิดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจมากเช่นทุกวันนี้ นายพลขุนศึกทั้งหลายกลายมาเป็นลูกน้องนายทุนผูกขาด สังคมกลับตาลปัตรไปหมดเพราะผลประโยชน์มากกว่าจิตสำนึกเพื่อชาติบ้านเมือง

หากกองทัพบกยังจำได้ ในวันที่ 14 ตุลาคม 2479 ได้มีพิธีเปิดอนุสาวรีย์ปราบกบฏหรืออนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญขึ้นที่บริเวณหลักสี่ บางเขน ซึ่งเป็นหนึ่งในพื้นที่สู้รบเพื่อเป็นอนุสรณ์ระลึกถึงเหตุการณ์ปราบกบฏบวรเดชเพื่อพิทักษ์รัฐธรรมนูญ หลังจากนั้นนักโทษทางการเมืองส่วนหนึ่งถูกส่งไปเกาะตารุเตา และต่อมามีการนิรโทษกรรมทางการเมืองทั้งหมด แต่วันนี้อนุสาวรีย์หายไปไหน

หนึ่งในผู้นำกบฎบวรเดช คือพันเอกพระยาศรีสิทธิสงคราม เป็นบิดาของนางอัมโภชน์ ท่าราบ ซึ่งเป็นมารดาของพล.อ. สุรยุทธ์ จุลานท์ ประธานองคมนตรี บิดาของท่านก็เป็นถึงคณะกรรมการกลางแกนนำคนสำคัญของพรรคคอมมิวนิสต์ไทยในอดีต ซึ่งเกิดสงครามกลางเมืองมาอย่างยาวนาน จนกระทั่งไทยเปิดความสัมพันธ์กับจีนในปี 2518 และแก้ปัญหาความขัดแย้งภายในด้วยการเมืองโดยใช้นโยบาย 66/2523 บ้านเมืองจึงสงบลง

ดังนั้น กองทัพบกอย่าสร้างเงื่อนไขความขัดแย้งภายในขึ้นมาใหม่เลย มองไปข้างหน้า ร่วมพัฒนาประเทศไทยร่วมกันใหม่ในฐานะและบทบาทที่ถูกต้อง แก้ไขความขัดแย้งในสังคมไทยในอดีต ซึ่งในอนาคตอันใกล้คงต้องมีการนิรโทษกรรมนักโทษทางการเมืองและนักโทษทางความคิดทั้งหมดเพื่อการปรองดองแห่งชาติและแก้ไขความขัดแย้งเรื้อรังที่ผ่านมา 10 กว่าปี เหมือนเช่นที่เกิดนโยบายการเมืองนำการทหารในช่วง 40 ปีก่อนหน้านี้ และร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่อย่างมีส่วนร่วมทุกฝ่าย เพื่อประกันการใช้อำนาจรัฐและเป็นกลไกในการอยู่ร่วมกันอย่างสันติของประเทศไทยต่อไป

ที่มา